คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3649/2565
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 23 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 74 จัตวา
ตาม ป.อ. มาตรา 23 ศาลจะพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกได้ก็ต่อเมื่อคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน เมื่อคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยเกินกว่าสามเดือน จึงไม่อาจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนได้
ศาลจะพิพากษาจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ก็ต่อเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยด้วย เพราะจำนวนเงินค่าปรับจะต้องนำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณว่าจะต้องจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเป็นจำนวนเท่าใด เมื่อคดีนี้ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยโดยไม่มีการลงโทษปรับด้วย จะให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 จัตวา ไม่ได้ และการที่จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เป็นการวางเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าไม่มีกรณีต้องพิพากษาตามคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายของโจทก์แล้วพิพากษายกคำขอในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 47, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 2, 3, 4, 9, 19 (2), 40, 42, 54, 55, 56, 58 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 มาตรา 3, 4, 13, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 9,352 บาท ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จำเลยให้การรับสารภาพในคดีส่วนอาญาและรับว่าการกระทำความผิดของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้องในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 มาตรา 17 (ที่ถูก มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, มาตรา 73 วรรคสอง (1) พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (2), 40, 42 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันทำไม้ หรือทำอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่โทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยาง จำคุก 2 ปี และฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 9,352 บาท ให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยาง จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน เมื่อลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 24 เดือน ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในทำนองว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด เนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะจำเลยเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงไม่ได้เรียนหนังสือ จึงไม่ทราบว่าการตัดไม้หวงห้ามที่ถูกพายุพัดโค่นเพื่อนำไม้ไปต่อเติมบ้านจะเป็นความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจะโต้เถียงว่ามิได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้เป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่วินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว แม้จำเลยจะมีภาระครอบครัวที่ต้องดูแลย่าและมารดาซึ่งอยู่ในวัยชรา ภริยาที่ป่วย และบุตรผู้เยาว์ซึ่งเป็นนักเรียน แต่ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ศาลจะพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกได้ ก็ต่อเมื่อคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน เมื่อคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยเกินกว่าสามเดือน จึงไม่อาจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนได้ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 จัตวา นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลจะพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ ก็ต่อเมื่อมีการลงโทษปรับจำเลยด้วย เพราะจำนวนเงินค่าปรับจะต้องนำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณว่าจะต้องจ่ายเงินสินบนนำจับเป็นจำนวนเท่าใด ฉะนั้น เมื่อคดีนี้ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยโดยไม่มีการลงโทษปรับด้วยจะให้จำเลยจ่ายเงินสินบนนำจับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 74 จัตวา ไม่ได้และการที่จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เป็นการวางเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าไม่มีกรณีต้องพิพากษาตามคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหายของโจทก์ แล้วพิพากษายกคำขอในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ กับให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในส่วนที่ให้ยกคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(อ)83/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดฮอด จำเลย - นาย พ.
ชื่อองค์คณะ รังสรรค์ โรจน์ชีวิน ชัยเจริญ ดุษฎีพร เกรียงศักดิ์ โฆมานะสิน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดฮอด - นางมะลิวรรณ วิภาดาพรพงษ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นางมาลิน ภู่พงศ์ จุลมนต์