คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3670/2540
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ม. 33 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 70 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 1 (11), 55 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 ม. 12, 19, 66 (2) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ม. 44, 49, 89 (6) พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ม. 21, 36 วรรคสอง พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และตำบลยานนาวา ตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร พ.ศ.2511 พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ แขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงวัดดอน แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2516 ม. 14 วรรคหนึ่ง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนและมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 เนื่องด้วย พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามมาตรา 66(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518และมาตรา 12 ประกอบมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่ 1 ต่อมามีการยกเลิก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 แต่ก็ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1ความสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไว้ในมาตรา 89(6)มาตรา 44 วรรคหนึ่ง และมาตรา 49 ดังนั้น การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ถือเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 แต่ภายหลังจาก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้ว การดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่งและเนื่องจาก พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ที่ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงอนุมาตรา (1) ถึง (5) ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง(1) ถึง (5) นั้น ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม สำหรับคดีนี้ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511 แล้วแต่กลับปรากฏว่าฝ่าจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบการที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้น การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบ สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับ พระราชกฤษฎีกากับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังกล่าวอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 และฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบ การดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี 2531 ดังนั้นการใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี 2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ตรงกับหลักการสำคัญของการกำหนดเงินทดแทนอสังหาริมทรัพย์แล้ว เมื่อราคาที่ดินโจทก์สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การที่คณะกรรมการฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถือตามราคาประเมินที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าว ย่อมมิใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามความเป็นจริง ทั้งที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ไม่มากจนถึงกับว่าเมื่อมีการซื้อขายกันจะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เฉลี่ยตามตารางวา โดยถือเกณฑ์ราคาประเมินที่ดินรวมกับราคาเฉลี่ยของราคาที่ดินที่สูงขึ้นต่อปีใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 จึงนับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว แม้โจทก์จะได้ขายที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปก่อนที่คณะกรรมการจะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปี แล้วก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดมีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาในขณะเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับเป็นสำคัญนั่นก็หมายถึงว่าพิจารณาถึงวันบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือขณะบังคับใช้ พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ที่จะเวนคืนแล้วแต่กรณี พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับต่างบัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง และมาตรา 21 วรรคสองตามลำดับ ให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้ ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าที่ดินของโจทก์มีที่ดินเหลือจากการดำเนินการเวนคืนหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดตามโฉนดที่ดินของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2511 แม้ภายหลังโจทก์ได้โอนขายที่ดินโฉนดที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ดินแปลงเดิมที่ถูกเวนคืนอันเป็นที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนให้แก่ผู้อื่นไปแล้วตั้งแต่ปี 2523 ก่อนที่คณะกรรมการฯจะกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปีก็ตาม ที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนซึ่งโจทก์ได้ขายไปแล้วนั้นก็ยังต้องถือว่าเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืน เมื่อที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์อยู่ในทำเลที่ดีกว่าเดิมเช่นนี้ ราคาที่ดินแปลงดังกล่าวก็ย่อมจะสูงกว่าเดิมอันเนื่องมาจากการตัดถนนของทางราชการอย่างแน่นอน การที่ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมดังกล่าวจะต้องนำราคาที่ดินที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสองมิฉะนั้นแล้วจะเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ซึ่งเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม และบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง และวรรคสาม ที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทนและให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติ ที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้น เพราะการเวนคืน จึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2530 เนื้อที่ 92 ตารางวา จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ต่อมามีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวาแขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 เพื่อสร้างทางและปรับระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เดิมที่โฉนดเลขที่ 2530มีเนื้อที่ 3 งาน 75 ตารางวา เมื่อประมาณปี 2523 โจทก์ได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินที่ถูกเวนคืนออก ปรากฏว่าที่ดินถูกเวนคืนจำนวน92 ตารางวา ส่วนที่ดินที่เหลืออีก 2 งาน 83 ตารางวาเจ้าหน้าที่ได้ออกโฉนดให้ใหม่เป็นโฉนดเลขที่ 30312 และโจทก์ได้ขายไปให้บุคคลภายนอกแล้วในปีเดียวกันในราคาตารางวาละ28,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าปกติเนื่องจากที่ดินส่วนที่เหลือมีเนื้อที่น้อยเกินกว่าที่จะประกอบธุรกิจได้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2534 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งว่าที่ดินของโจทก์ เนื้อที่ตามโฉนด 3 งาน 77 ตารางวา ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 บางส่วนประมาณ 91 ตารางวา กำหนดค่าทดแทนตารางวาละ 80,000 บาท และ 35,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น5,030,000 บาท แต่ที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้น อันมีผลมาจากการตัดถนน เมื่อนำราคาที่สูงขึ้นหักออกจากเงินค่าทดแทนแล้วเกลื่อนกลืนกันจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนของจำเลยทั้งสองและการนำค่าทดแทนการเวนคืนส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับไปหักกลบกับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเป็นการไม่ชอบและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ และการที่จำเลยทั้งสองได้แจ้งขอหักกลบค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนกับราคาที่ดินส่วนที่เหลือจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ส่วนราคาค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์ได้กำหนดไว้ 2 ราคา คือตารางวาละ80,000 บาท และ 35,000 บาท เป็นราคาที่ไม่ถูกต้องและต่ำเกินไปและเป็นอัตราเดียวกันตลอดทั้งแปลง การที่จำเลยทั้งสองกำหนดราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ในอัตราไม่เท่ากันจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการคำนวณราคาค่าทดแทนของจำเลยทั้งสองได้มาจากการพิจารณาถึงราคาที่ดินตามราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ กับราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าราคาใดจะสูงกว่าและให้ถือเอาราคานั้นเป็นราคาค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 โดยมิได้พิจารณาถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด นอกจากนั้นยังมีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยให้ยกเลิกความในวรรคสี่ ของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ดังนั้นการกำหนดค่าทดแทนจึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายดังกล่าวอีกต่อไป แต่จำเลยทั้งสองมิได้นำประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44มาพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ ในเนื้อที่92 ตารางวา ราคาตารางวาละ 500,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น46,000,000 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 มิถุนายน2534 ถึงวันฟ้องจำนวน 7,289,424 บาท รวมเป็นเงิน53,289,442 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าทดแทนจำนวน 53,289,424 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงิน 46,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์อย่างใดเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 ได้กำหนดให้เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ดังกล่าวแก่กระทรวงมหาดไทย มิได้ให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เป็นผู้กำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน แต่ผู้กำหนดคือคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในการกำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์คณะกรรมการ ได้วางหลักเกณฑ์ว่า ที่ดินแปลงใดถูกเวนคืนบางส่วนและส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืน มีเนื้อที่ตั้งแต่100 ตารางวา ขึ้นไป ให้ถือว่าที่ดินดังกล่าวได้รับประโยชน์จากการเวนคืนโดยสภาพเพราะทำให้ที่ดินที่เหลือมีราคาสูงขึ้นให้นำบทบัญญัติมาตรา 21 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาบังคับใช้ โดยคิดคำนวณที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นหักออกจากค่าทดแทนแต่ไม่ให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีขึ้นนั้นสูงไปกว่าจำนวนเงินค่าทดแทน เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายกลับต้องใช้เงินให้อีก การคำนวณหักค่าของที่ดินที่เหลือจากที่ถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นใช้วิธีคำนวณ โดยนำที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนนั้นมาเปรียบเทียบกับที่ดินที่ตั้งอยู่ในโครงการคล้ายคลึงกันหรือใกล้เคียงกันที่สำเร็จแล้วมาคำนวณค่าทดแทน โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2530 เนื้อที่ตามโฉนด 375 ตารางวา ถูกเวนคืนบางส่วน จำนวน 91 ตารางวาคงเหลือที่ดิน 286 ตารางวา เข้าหลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวและตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยให้นำราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนซึ่งที่ดินของโจทก์กำหนดไว้เป็น 2 ราคา จึงกำหนดราคาให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,030,000 บาท แต่ปรากฏว่าที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์บางส่วนเนื้อที่ 130.5 ตารางวา ได้รับประโยชน์จากการเวนคืนคือเดิมอยู่ติดถนนในซอยอนุมานราชธนเมื่อการเวนคืนได้ตัดถนนผ่านที่ดินของโจทก์ทำให้ที่ดินของโจทก์ติดถนนสองสายที่ดินจึงมีราคาสูงขึ้น คือสูงขึ้นจากราคาประเมินในปีปัจจุบันตารางวาละ 35,000 บาท เป็นตารางวาละ 80,000 บาทโดยเปรียบเทียบจากราคาประเมินในปัจจุบันของถนนสาธรราคาที่ดินที่สูงขึ้นเป็นเงิน 5,874,500 บาท เมื่อหักกลบลบกันกับเงินค่าทดแทนของที่ดินที่ถูกเวนคืนแล้วเกลื่อนกลืนกัน จึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ การกำหนดราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงเป็นธรรมแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน12,420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2530 กรุงเทพมหานคร เนื้อที่92 ตารางวา ที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าวถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์เนื้อที่ 283 ตารางวา (จำเลยทั้งสองว่า 286 ตารางวา)โจทก์ได้ขายให้แก่บุคคลภายนอกไปทั้งแปลงในราคาตารางวาละ28,000 บาท แล้ว ตั้งแต่ปี 2523 ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะได้พิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ คณะกรรมการฯ ได้ถือเกณฑ์ราคาประเมินตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534 ของกรมที่ดินเป็นฐานในการพิจารณา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืน และมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 เนื่องด้วยพระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการทำให้มีและการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำตามมาตรา 66(2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 และมาตรา 12 ประกอบมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการทั้งปวงของจำเลยที่ 1 ต่อมามีการยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แต่ก็ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ความสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 กับที่ 2และอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไว้ในมาตรา 89(6)มาตรา 44 วรรคหนึ่ง และมาตรา 49 ดังนั้น การดำเนินการของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ. 2516 ถือเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 นั่นเองฉะนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
ปัญหาประการต่อมามีว่า จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ในปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 135,000 บาท ทั้งแปลงโดยไม่ถือเกณฑ์ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531-2534ของกรมที่ดินตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้แก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มจากจำนวนที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้เดิมอีก 7,390,000 บาท โดยไม่ได้เอาราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือซึ่งมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากการตัดถนนผ่านมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะพึงได้รับย่อมไม่ถูกต้อง เห็นว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้วการดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น การดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ข้อ 5 วรรคหนึ่ง และเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติ มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้นถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้ว ให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ (3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ (5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติตามมาตรา 21 นี้ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5)ก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนในกรณีปกติแล้วการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) นั้นย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมสำหรับคดีนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2511แล้ว แต่กลับปรากฏว่าฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่3 มิถุนายน 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.10 การที่ฝ่ายจำเลยไม่ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนภายในเวลาอันควรแก่โจทก์ ปล่อยระยะเวลามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และทำให้โจทก์ขาดโอกาสที่จะนำเอาเงินค่าทดแทนที่ดินไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ที่มีราคาใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไม่มากนักได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้น การที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยคำนึงถึงมาตรา 21(1) ถึง (5) คือ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาที่มี การตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ในปีที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา กับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังกล่าวอย่างกรณีปกติย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ยอมรับจึงได้กำหนดให้ใช้ราคาค่าทดแทนตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531-2534 ของกรมที่ดิน คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นชุดที่ทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนนั้นได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2531 หลังจากนั้นคณะกรรมการชุดนี้จึงได้ประชุมกันเพื่อกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516และฝ่ายจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 3 มิถุนายน 2534 แจ้งราคาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทราบ การดำเนินการเพื่อจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีนี้เพิ่งเริ่มต้นใหม่ในปี 2531 ดังนั้น การใช้หลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) เว้นแต่วันที่เป็นฐานที่ตั้งสำหรับราคาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนจากวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นปี2531 อันเป็นปีที่มีการเริ่มดำเนินการเพื่อจ่ายค่าทดแทนใหม่ ย่อมเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ตรงกับหลักการสำคัญของการกำหนดเงินทดแทนอสังหาริมทรัพย์ จึงมีปัญหาว่าเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเมื่อกำหนดโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดประกอบราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประกอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแล้วควรเป็นเงินจำนวนเท่าใด ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าราคาที่ดินโจทก์สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในอัตราเฉลี่ยตารางวาละประมาณ 55,000 บาท ต่อปีการที่คณะกรรมการฯ กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยถือตามสำเนาบัญชีราคาประเมินที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าวย่อมมิใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามความเป็นจริงในปี 2531 ทั้งที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ไม่มากจนถึงกับว่าเมื่อมีการซื้อขายกันจะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เฉลี่ยตารางวาละ135,000 บาท โดยถือเกณฑ์ราคาประเมินที่ดินติดซอยอนุมานราชธนตามสำเนาบัญชีราคาประเมินที่ดินเอกสารหมาย ล.9 แผ่นที่ 3 ตารางวาละ 80,000 บาท รวมกับราคาเฉลี่ยของราคาที่ดินที่สูงขึ้นตารางวาละ 55,000 บาทต่อปี น่าจะใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในปี 2531 นับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธินำเอาราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืนที่มีราคาสูงขึ้นมาหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์จะพึงได้รับได้หรือไม่เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ขายที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปก่อนที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปีแล้วก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดมีที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาในขณะเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่ที่จะถูกเวนคืนมีผลใช้บังคับเป็นสำคัญ นั่นก็หมายถึงว่าพิจารณาถึงวันบังคับใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหรือขณะบังคับใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ที่จะเวนคืนแล้วแต่กรณี เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นบทกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 ใช้บังคับ ต่างบัญญัติไว้ในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง และมาตรา 21 วรรคสอง ตามลำดับให้นำเอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ที่เหลือจากการเวนคืนอันเนื่องมาจากการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนไปหักออกจากเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนได้ ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2530 ของโจทก์มีที่ดินเหลือจากการดำเนินการเวนคืนหรือไม่ต้องพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2530 ของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ พ.ศ. 2511 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2511 แม้ภายหลังโจทก์ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 30312 เนื้อที่ 283 ตารางวา ซึ่งแบ่งแยกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 2530 อันเป็นที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนให้แก่ผู้อื่นไปแล้วตั้งแต่ปี 2523 ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ประมาณ 10 ปีก็ตามที่ดินส่วนที่มิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนซึ่งโจทก์ได้ขายไปแล้วนั้นก็ยังต้องถือว่าเป็นที่ดินส่วนที่เหลือจากการดำเนินการเวนคืนและข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบโดยที่โจทก์มิได้นำสืบหักล้างว่า เมื่อทางราชการตัดถนนผ่านที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้วที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือซึ่งมิได้อยู่ในแนวเขตเวนคืนอยู่ตรงมุมถนนที่ตัดใหม่กับซอยอนุมานราชธนทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งอยู่ในทำเลที่ดีกว่าเดิมเพราะอยู่ติดถนนสองสายและสองด้าน เมื่อที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนของโจทก์อยู่ในทำเลที่ดินกว่าเดิมเช่นนี้ราคาที่ดินแปลงดังกล่าวก็ย่อมจะสูงกว่าเดิมอันเนื่องมาจากการตัดถนนของทางราชการอย่างแน่นอน การที่ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมดังกล่าว จะต้องนำราคาที่ดินที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง มิฉะนั้นแล้วจะเป็นช่องทางให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนหลีกเลี่ยงบทบังคับของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ซึ่งเป็นการแปลความที่ไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึกและความเป็นธรรม ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า ในขณะที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้นยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 21 วรรคสี่ ใช้บังคับการที่จำเลยกำหนดวิธีการคำนวณราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนเสียเองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามที่ให้เอาราคาที่สูงขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนหักออกจากเงินค่าทดแทน และให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนอันราคาลดลงนั้น เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ก็ไม่ใช่กรณีที่จะถือเป็นเหตุที่จะทำให้หลักการสำคัญตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้บังคับไม่ได้ เมื่อปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนจึงต้องนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่โจทก์ได้รับกรณีมีปัญหาต่อมาว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง ทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือมีราคาสูงขึ้นเท่าใด ในข้อนี้จำเลยทั้งสองนำสืบและฎีกาขึ้นมาว่า ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือ283 ตารางวา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ในระยะ 20 เมตรจากซอยอนุมานราชธน จำนวน 155.5 ตารางวา ไม่มีค่าของความเจริญหรือราคาไม่สูงขึ้นแต่ส่วนที่ 2 ที่เลยระยะ 20 เมตรจากซอยอนุมานราชธน เนื้อที่ 130.5 ตารางวาเติมราคาประเมินตารางวาละ 35,000 บาท หลังจากทางราชการตัดถนนแล้วมีราคาตารางวาละ 80,000 บาท ซึ่งหมายถึงว่ามีค่าความจริงหรือมีราคาสูงขึ้นตารางวาละ 45,000 บาท ที่ดินของโจทก์ส่วนนี้จึงมีค่าความเจริญหรือราคาสูงขึ้นรวม 5,872,500 บาทค่าความเจริญหรือราคาที่สูงขึ้นของที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ที่จำเลยทั้งสองนำสืบและฎีกาขึ้นมานี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงให้เอาราคาที่สูงขึ้นจำนวน 5,872,500 บาท ไปหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนที่โจทก์จะพึงได้รับทั้งหมดจำนวน 12,420,000 บาท
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราคงที่นั้น ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน6,547,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ตามคำขอของโจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง มธุรา บุนนาค จำเลย - กรุงเทพมหานคร กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุรินทร์ นาควิเชียร ถวิล อินทรักษา กนก พรรณรักษา
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan