สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2564

พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 112 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ม. 22

จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับแต่ละฉบับเกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ.." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "…โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม…" เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 22 ดังกล่าว

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากร เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามฟ้อง รวม 139,127,286.59 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้าที่ชำระขาดตามใบขนสินค้าขาเข้า 10 ฉบับ จำนวน 1,220,661 บาท 1,220,661 บาท 1,219,568 บาท 1,104,763 บาท 1,388,818 บาท 1,388,818 บาท 1,388,818 บาท 1,280,078 บาท 1,265,109 บาท และ 1,280,078 บาท ตามลำดับ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากร เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวมจำนวน 125,022,250 บาท ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่ต้องเสียเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของอากรที่ต้องเสียเพิ่มโดยไม่คิดทบต้น จำนวน 1,220,661 บาท นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2551 เป็นต้นไป จำนวน 1,220,661 บาท นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2551 เป็นต้นไป จำนวน 1,219,568 บาท นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2551 เป็นต้นไป จำนวน 1,104,763 บาท นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไป จำนวน 1,388,818 บาท นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป จำนวน 1,388,818 บาท นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป จำนวน 1,388,818 บาท นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป จำนวน 1,280,078 บาท นับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป จำนวน 1,265,109 บาท นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป จำนวน 1,280,078 บาท นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป จนถึงวันที่จำเลยนำเงินมาชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียเพิ่มแต่ละจำนวนดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 จำเลยนำเข้ารถยนต์นั่งใหม่โดยทางเรือ และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวม 10 ฉบับ ภายหลังจากตรวจปล่อยแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่า จำเลยสำแดงราคารถยนต์ดังกล่าวต่ำกว่าราคาที่บริษัท อ. เคยนำเข้ารถยนต์คันดังกล่าวและส่งกลับออกไปต่างประเทศ เป็นเหตุให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรขาดไป คิดเป็นเงินค่าอากรขาเข้า 12,757,372 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,465,081 บาท ค่าภาษีสรรพสามิต 31,893,431 บาท และค่าภาษีเพื่อมหาดไทย 3,189,342 บาท รวมเป็นเงิน 52,305,226 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แจ้งการประเมินภาษีอากรแก่จำเลยตามแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) จำเลยได้รับแจ้งการประเมินโดยชอบแล้ว แต่มิได้อุทธรณ์การประเมินและไม่ได้ชำระเงินตามการประเมินดังกล่าว

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสามว่า การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้านับแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์ถึงวันที่จำเลยนำเงินมาชำระโดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียเพิ่มนั้นชอบหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับ แต่ละฉบับเกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ.." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "…โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม…" เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในส่วนที่เกินอากรขาเข้าที่คำนวณจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าที่คำนวณนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เว้นแต่ เมื่อคำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 แล้ว เงินเพิ่มอากรขาเข้า ยังไม่เท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินก็ให้คำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าต่อไป จนกว่าจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ภษ.32/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - กรมศุลกากร กับพวก จำเลย - บริษัท ว.

ชื่อองค์คณะ สุนทร ทรงฤกษ์ วรงค์พร จิระภาค ประทีป ดุลพินิจธรรมา

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลภาษีอากรกลาง - นายชูชัย สุทธิสว่างวงศ์

  • นายสรายุทธ์ วุฒยาภรณ์
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE