คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3763/2542
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 155, 453
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยอมตกลงทำสัญญาขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำไปให้ ส. เช่าซื้ออีกต่อหนึ่งนั้น เป็นวิธีการทำธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งจำเลยที่ 1 และโจทก์เคยปฏิบัติต่อกันมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้น แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาทขณะทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ต้องผูกพันตามสัญญาที่ได้แสดงเจตนาออกมานั้นจะอ้างว่าเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับโจทก์เพื่อลวงหรือหลอกให้ผู้อื่นหลงผิดไม่ได้ เพราะผู้ขายไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะทำสัญญาซื้อขาย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ตกลงซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ในราคา 320,000 บาท โดยจ่าสิบเอกสมานชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 105,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 215,000 บาท โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ไปครบถ้วน จากนั้นจ่าสิบเอกสมานได้เช่าซื้อรถยนต์ข้างต้นจากโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยทั้งสามออกเอกสารชุดจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้นำไปจดทะเบียนและชำระภาษีรถยนต์ แต่จำเลยทั้งสามไม่จัดการให้ ภายหลังโจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสามซื้อรถยนต์กระบะคันนี้มาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองพลอีซูซุเซลล์อีกทอดหนึ่ง แล้วจำเลยทั้งสามไม่ชำระเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองพลอีซูซุเซลล์ เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองพลอีซูซุเซลล์ไม่ยอมออกเอกสารชุดจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม โจทก์จึงนำเงินจำนวน 203,737 บาท ไปชำระแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองพลอีซูซุเซลล์และรับเอกสารชุดจดทะเบียนรถยนต์มาดำเนินการจดทะเบียนและชำระภาษีรถยนต์ การที่จำเลยทั้งสามไม่สามารถมอบเอกสารชุดจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์เป็นการผิดสัญญาซื้อขายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 203,737 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,074.24 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า จ่าสิบเอกสมานต้องการซื้อรถยนต์กระบะตามฟ้องจากผู้มีชื่อ แต่จ่าสิบเอกสมานและผู้มีชื่อขอให้จำเลยทั้งสามแสดงตนเป็นผู้ขายรถยนต์กระบะดังกล่าวให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้นำไปให้จ่าสิบเอกสมานเช่าซื้ออีกต่อหนึ่ง จำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับเงินจำนวน 105,000 บาท จากจ่าสิบเอกสมานและไม่เคยได้รับเงินจำนวน 215,000 บาท จากโจทก์ จำเลยทั้งสามมิได้ขายรถยนต์กระบะให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 203,737 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 203,737 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 16,074.24 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาขายรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขเครื่อง บี 32496 ซึ่งเป็นรถใหม่ให้แก่โจทก์ตามสัญญาขายเอกสารหมาย จ.8 และในวันเดียวกันนั้นโจทก์ให้จ่าสิบเอกสมาน สารพันธ์ เช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวไปจ่าสิบเอกสมานได้ชำระเงินค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาจำนวน 105,000 บาท และโจทก์ชำระเงินค่ารถยนต์ที่เหลือจำนวน 215,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 1 ส่งสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงนำเงินจำนวน 203,737 บาท ไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองพลอีซูซุเซลล์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทและรับเอกสารชุดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์มาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองพลอีซูซุเซลล์ หลังจากนั้นโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 203,737 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าจำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายนิพล วัฒนะปราน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2534 จ่าสิบเอกสมาน สารพันธ์ มาติดต่อขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์กระบะพิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาให้จ่าสิบเอกสมานเช่าซื้ออีกต่อหนึ่ง โจทก์ตกลงจึงทำสัญญาซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.8 และให้จ่าสิบเอกสมานเช่าซื้อรถยนต์ไปตามเอกสารหมาย จ.7 นายสุภักดิ์ ฉัตรไชยเดช จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ยอมรับว่า หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราในหนังสือสัญญาขายเอกสารหมาย จ.8 จริง และก่อนลงชื่อในหนังสือสัญญาฉบับนี้จำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าหากไม่สามารถส่งมอบเอกสารชุดโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดี นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังยอมรับด้วยว่าขณะทำสัญญาขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์มีคนรถยนต์พิพาทมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองพลอีซูซุเซลล์ (บริษัทโค้วยู่ฮะเมืองพล จำกัด) มาจอดไว้ที่ห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จ่าสิบเอกสมานไปเรียบร้อยแล้วนอกจากนี้หนังสือสัญญาขายรถยนต์พิพาทเอกสารหมาย จ.8 มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจ่าสิบเอกสมานเป็นผู้ชำระเงินค่าซื้อรถยนต์พิพาทจำนวน 105,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรง ส่วนราคารถยนต์ที่เหลืออีก 215,000 บาท นั้น โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วตามเช็คเอกสารหมาย จ.15 ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์และเจตนาผูกพันกันตามสัญญาขายเอกสารหมาย จ.8 จริง ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์ทราบอยู่แล้วในขณะทำสัญญาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ สัญญาขายรถยนต์พิพาทเป็นนิติกรรมอำพราง จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว และไม่ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์นั้นข้อเท็จจริงได้ความจากจำเลยที่ 3 และนางสาวชลดา ทวีศิลป์ พนักงานฝ่ายสินเชื่อของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เคยนำรถยนต์มาขายให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำไปให้บุคคลอื่นเช่าซื้อมาหลายครั้งแล้วโดยจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบเอกสารชุดโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้และจำเลยทั้งสามยังยอมรับในคำให้การว่าผู้มีชื่อและจ่าสิบเอกสมานเป็นคนขอร้องให้จำเลยทั้งสามติดต่อกับโจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสามอ้างตนเป็นคนขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์เพื่ออำพรางผู้มีชื่อซึ่งต้องการขายรถยนตคันนี้ให้แก่จ่าสิบเอกสมาน ทั้งยอมรับด้วยว่าผู้มีชื่อฝากรถยนต์พิพาทให้จำเลยจัดการขายแทน พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยอมตกลงทำสัญญาขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทไปให้จ่าสิบเอกสมานเช่าซื้ออีกต่อหนึ่งนั้นเป็นวิธีการทำธุรกิจอย่างหนึ่งซึ่งจำเลยที่ 1 และโจทก์เคยปฏิบัติต่อกันมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้น แม้โจทก์จะทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์พิพาทขณะทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ก็ต้องผูกพันตามสัญญาที่ได้แสดงเจตนาออกมานั้น จะอ้างว่าเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับโจทก์เพื่อลวงหรือหลอกให้ผู้อื่นหลงผิดไม่ได้เพราะผู้ขายไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินในขณะทำสัญญาซื้อขายเสมอไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ ศรีมิตร จำกัด ( มหาชน จำเลย - ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม ที ออโต้ กับพวก
ชื่อองค์คณะ ชาญชัย ลิขิตจิตถะ กนก พรรณรักษา ชวเลิศ โสภณวัต
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan