คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2564
พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4
เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อสินค้าทั้งห้ารายการจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อของตนและประทับตราของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาท 5 ฉบับ ให้แก่โจทก์โดยมอบให้แก่พนักงานขายของโจทก์ แล้วพนักงานขายของโจทก์ออกใบรับเงินค่าสินค้าทั้งห้ารายการมอบให้แก่จำเลยทั้งสองย่อมก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมีผลบังคับโดยสมบูรณ์นับแต่เวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์คือการชำระราคาค่าสินค้าที่ซื้อ และโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 คือการส่งมอบสินค้าที่ซื้อขาย ส่วนจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะตกลงให้ส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายหรือจะชำระราคากันเมื่อใดนั้น ไม่เกี่ยวกับความสมบูรณ์และบังคับได้ของสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายตั้งแต่เวลาที่จำเลยทั้งสองกับโจทก์ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันดังกล่าว เมื่อความปรากฏว่า โจทก์มอบสินค้าที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 4 รายการ ในวันที่ 12 เมษายน 2561 อันเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 1 อีก 1 รายการ ในวันที่ 25 เมษายน 2561 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาซื้อขายสินค้าทั้งห้ารายการให้แก่โจทก์ภายในวันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับ เมื่อเช็คพิพาททั้งห้าฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเพราะจำเลยทั้งสองเปลี่ยนลายมือชื่อผู้มีสิทธิสั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะถึงวันที่ลงในเช็คฉบับที่ 1 เพียง 1 วัน และจำเลยทั้งสองมีคำสั่งห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และออกเช็คโดยห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริตตามฟ้องโจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และนับโทษจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2288/2562 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสองในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (5) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 60,000 บาท รวม 5 กระทง เป็นปรับ 300,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 20 เดือน คำให้การและทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสี่สำหรับจำเลยที่ 1 คงปรับ 225,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุก 15 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 2288/2562 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1 ศาลพิพากษาลงโทษปรับ คำขอให้นับโทษต่อสำหรับจำเลยที่ 1 จึงให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ตกลงซื้อสินค้าประเภทกล่องรับสัญญาณดาวเทียมมินิสกายและเอชดีไวร์จากโจทก์ 5 รายการ แล้วจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์สำหรับสินค้าแต่ละรายการรวม 5 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 เป็นเงิน 585,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2561 เป็นเงิน 546,000 บาท ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เป็นเงิน 585,000 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 เป็นเงิน 546,000 บาท และฉบับที่ 5 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 เป็นเงิน 585,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,847,000 บาท ตามต้นฉบับเช็คและใบรับเงิน ขณะที่สั่งจ่ายเช็ค จำเลยที่ 2 ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เป็นผู้อำนาจสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 จำเลยทั้งสองยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 จากชื่อจำเลยที่ 2 เป็นนางสาว ช. ต่อมาเมื่อถึงกำหนดวันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับ โจทก์นำเช็คไปยื่นแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินแต่ธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คทุกฉบับ โดยเช็คฉบับที่ 1 ธนาคารให้เหตุผลว่ามีเงินในบัญชีพอจ่าย แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะมีคำสั่งระงับการจ่าย เช็คฉบับที่ 2 และที่ 3 ธนาคารให้เหตุผลว่ามีเงินในบัญชีพอจ่าย แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ถูกต้องตามที่เงื่อนไขที่ให้ไว้กับธนาคาร เช็คฉบับที่สี่และที่ห้า ธนาคารให้เหตุผลว่าเพราะลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ถูกต้องตามที่เงื่อนไขที่ให้ไว้กับธนาคาร ประกอบกับไม่มีเงินในบัญชีพอจ่าย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองต้องด้วยองค์ประกอบความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าขณะที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อของตนและประทับตราของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งห้าฉบับแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองกับโจทก์เพียงแต่ตกลงซื้อขายสินค้าแล้วเสร็จเท่านั้น แต่โจทก์ยังมิได้ส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องชำระราคาซื้อขายแก่โจทก์ เมื่อหนี้ของจำเลยทั้งสองยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่จำเลยทั้งสองออกเช็คหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่หนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อสินค้าทั้งห้ารายการจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อของตนและประทับตราของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาท 5 ฉบับ ให้แก่โจทก์โดยมอบให้แก่พนักงานขายของโจทก์แล้วพนักงานขายของโจทก์ออกใบรับเงินค่าสินค้าทั้งห้ารายการลงวันที่ 12 เมษายน 2561 มอบให้แก่จำเลยทั้งสอง ย่อมก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ตั้งแต่เวลาดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์คือการชำระราคาค่าสินค้าที่ซื้อ และโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 คือการส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายในขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ซื้อมีสิทธิเรียกให้โจทก์ส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายเมื่อถึงกำหนดเวลาส่งมอบ ส่วนโจทก์ในฐานะผู้ขายมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระราคาตามเวลาที่กำหนด ส่วนจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะตกลงให้ส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายหรือจะชำระราคากันเมื่อใดนั้น เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกับความสมบูรณ์และบังคับได้ของสัญญาซื้อขายแต่อย่างใดสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายตั้งแต่เวลาที่จำเลยทั้งสองกับโจทก์ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันดังกล่าวแล้ว เมื่อความปรากฏว่าโจทก์ส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 4 รายการ ในวันที่ 12 เมษายน 2561 อันเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 1 อีก 1 รายการ ในวันที่ 25 เมษายน 2561 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาซื้อขายสินค้าทั้งห้ารายการให้แก่โจทก์ภายในวันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับ เมื่อเช็คพิพาททั้งห้าฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเพราะจำเลยทั้งสองเปลี่ยนลายมือชื่อผู้มีสิทธิสั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2561 อันเป็นวันก่อนที่จะถึงวันที่ลงในเช็คฉบับที่ 1 เพียง 1 วัน และจำเลยทั้งสองมีคำสั่งห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และออกเช็คโดยห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริตตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1415/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ซ. จำเลย - บริษัท อ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สาคร ตั้งวรรณวิบูลย์ สันต์ชัย ล้อมณีนพรัตน์ จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาตลิ่งชัน - นายอุทัย พิศวง ศาลอุทธรณ์ - นายสนอง เล่าศรีวรกต