สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2564

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 163 วรรคสอง, 185 วรรคหนึ่ง, 215, 227 วรรคสอง

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าทำความตกลงกับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องคดีนี้ได้ และจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ขอแก้ไขคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อกล่าวหา ซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง แต่การยื่นคำร้องและคำให้การใหม่ดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 จะแถลงขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ดังนั้น โจทก์ย่อมสามารถฎีกาได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 297, 335 และ 371 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 50,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วยการชกต่อย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ ให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายอมรเทพ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ และค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมานหรือค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 146,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องเรียกร้องนั้นสูงเกินส่วน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 2 รับข้อเท็จจริงบางส่วนในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ 1,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 31,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 11 สิงหาคม 2562 (ที่ถูก 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ส่วนข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า ทำความตกลงกับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องคดีนี้ได้ และจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การใหม่ขอแก้ไขคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อกล่าวหา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองอีก 50,000 บาท ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งหรือทางอาญาใด ๆ เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้อีก และขอถอนคำร้องที่เรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 แถลงรับข้อเท็จจริงในชั้นอุทธรณ์เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 5,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 3 เดือนต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 371, 83 ด้วย ให้ยกคำร้องของผู้ร้องลงวันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ขอถอนคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และยกคำร้องขอของผู้ร้องในคดีส่วนแพ่งลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า ผู้เสียหาย นายธนาศักดิ์ และนายธนาวุฒิ ไปที่โต๊ะสนุกเกอร์ที่อยู่ภายในอู่ซ่อมรถยนต์ไม่มีชื่อ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ ได้พบกับจำเลยทั้งสอง นายพรสวัสดิ์ และนายเอกวิทย์ จำเลยที่ 2 เข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหายเกี่ยวกับการเล่นพนันไฮโลกันในครั้งก่อน แล้วจำเลยที่ 2 ต่อว่าผู้เสียหายในทำนองว่าผู้เสียหายโกง จึงเกิดการโต้เถียงกัน จำเลยที่ 2 ไม่พอใจและต่อยผู้เสียหายที่บริเวณใบหน้าและตามร่างกายผู้เสียหายอีกหลายครั้ง ผู้เสียหายเดินหนีออกไปที่บริเวณหน้าอู่ซ่อมรถ จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน ตามผู้เสียหายออกไป พวกของจำเลยทั้งสองใช้ขวดสุราตีและใช้อาวุธมีดฟันแทงผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ สร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำและนาฬิกาข้อมือที่ผู้เสียหายสวมใส่อยู่สูญหายไป หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ ร้อยตำรวจโทบดินทร์ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับเพียงว่าชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่ามีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส และร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีประจักษ์พยานถึง 2 ปาก คือ ผู้เสียหายและนายธนาวุฒิ ที่เบิกความยืนยันตรงกันว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกชกต่อยทำร้ายผู้เสียหาย แม้ขณะเกิดเหตุจะเป็นเวลากลางคืน แต่ได้ความจากพยานโจทก์ทั้ง 3 ปาก ตรงกันว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากโต๊ะสนุกเกอร์และแสงไฟจากบ้านเรือนผู้พักอาศัยในบริเวณนั้นส่องสว่างสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน การที่ผู้เสียหายกับนายธนาวุฒิ เบิกความถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองและพวกแต่ละคนได้ถูกต้องตรงกัน ทั้งยังสอดคล้องกับคำเบิกความของนายธนาศักดิ์ ด้วย ก็เป็นข้อสนับสนุนให้คำเบิกความเรื่องแสงสว่างในที่เกิดเหตุมีน้ำหนักให้รับฟัง และยังได้ความจากจำเลยที่ 2 กับนายกังวาน พยานจำเลยทั้งสองตรงกันอีกด้วยว่า บริเวณโต๊ะสนุกเกอร์และด้านข้างโต๊ะสนุกเกอร์มีไฟนีออนส่องสว่างสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ส่วนบริเวณลานจอดรถไม่มีไฟ แต่มีแสงไฟจากบ้านเรือนที่อยู่ด้านข้างซึ่งห่างประมาณ 30 เมตร ส่องสว่าง จึงเชื่อว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างอย่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้เสียหายและนายธนาวุฒิ กับนายธนาศักดิ์ สามารถมองเห็นเหตุการณ์และเห็นหน้าบุคคลที่ทำร้ายผู้เสียหายได้อย่างชัดเจน ประกอบกับผู้เสียหาย นายธนาวุฒิ และนายธนาศักดิ์ เห็นจำเลยที่ 1 กับพวกครั้งแรกที่โต๊ะสนุกเกอร์ซึ่งมีแสงสว่างมากมองเห็นได้ชัดเจน และเห็นเป็นเวลานานหลายนาทีก่อนที่ผู้เสียหายจะชกต่อยกับจำเลยที่ 2 แล้วหนีออกไปที่หน้าอู่ซ่อมรถ นอกจากนั้นผู้เสียหายและนายธนาวุฒิ ก็รู้จักกับจำเลยที่ 2 และนายโจ้ มาก่อน ส่วนนายธนาศักดิ์รู้จักและทราบชื่อของจำเลยที่ 1 กับพวกทุกคน เพราะจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นรุ่นพี่นายธนาศักดิ์และเคยพักอาศัยอยู่ในซอยเดียวกันมาก่อน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พยานโจทก์ทั้งสามสามารถจดจำได้ว่าใครทำอะไรผู้เสียหายบ้าง ซึ่งผู้เสียหายและนายธนาวุฒิเบิกความยืนยันตรงกันว่า จำเลยที่ 1 เข้าชกต่อยผู้เสียหายด้วย แม้ผู้เสียหายและนายธนาวุฒิจะไม่ได้เบิกความในรายละเอียดว่า จำเลยที่ 1 ชกต่อยที่ส่วนใดของร่างกายผู้เสียหาย และชกต่อยกี่ครั้ง ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย เนื่องจากฝ่ายจำเลยมีพวกถึง 4 คน และทุกคนต่างเข้าทำร้ายผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า พวกของจำเลยแต่ละคนทำอะไรต่อผู้เสียหายบ้าง ก็เป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผลโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธแต่ประการใด ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่นายธนาศักดิ์ และนายธนาวุฒิเบิกความไว้ และยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่นายธนาวุฒิให้การไว้ในชั้นสอบสวนที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้มือชกบริเวณใบหน้าผู้เสียหาย จึงเป็นข้อสนับสนุนที่ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายและนายธนาวุฒิเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหายมีน้ำหนักให้รับฟัง แม้นายธนาศักดิ์ เบิกความว่า ไม่เห็นจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหาย ก็ไม่ได้เป็นข้อที่จะนำมาใช้ยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำร้ายผู้เสียหาย เพราะในขณะที่จำเลยที่ 1 เข้าชกต่อยผู้เสียหายนั้น นายธนาศักดิ์อาจหันไปดูทางอื่นหรือกำลังสนใจกับสิ่งอื่น หรือสนใจอยู่กับการกระทำของพวกของจำเลยที่ 1 คนอื่นอยู่ก็เป็นได้ ประกอบกับหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ก็ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายจนผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความใด ๆ ต่อไป ทั้งจำเลยที่ 1 ยังยื่นคำแถลงในทำนองยอมรับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดด้วย จึงยิ่งสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายและนายธนาวุฒิ เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ให้มีน้ำหนักรับฟังได้มากยิ่งขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปช่วยห้ามไม่ให้พวกของจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้เสียหายนั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงเป็นตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างจริงแล้ว เชื่อว่าผู้เสียหายและนายนายธนาวุฒิ คงไม่ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ชกต่อยผู้เสียหาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายธนาศักดิ์ ซึ่งรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนเพราะจำเลยที่ 1 เป็นรุ่นพี่ที่เคยอาศัยอยู่ในซอยเดียวกันและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ย่อมจะต้องเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่เข้าห้ามพวกของจำเลยที่ 1 ไม่ให้ทำร้ายผู้เสียหายโดยการดึงตัวพวกของจำเลยที่ 1 ออกจากผู้เสียหายถึง 3 คน คนละคราวกัน แต่นายธนาศักดิ์ก็ไม่ได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมา ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่นำสืบ และข้อกล่าวอ้างในคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุผลและไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกชกต่อยทำร้ายผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือไม่และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า สมควรวางโทษจำเลยที่ 1 เพียงใด เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสนั้น จำเลยที่ 1 เพียงแต่ใช้กำลังชกต่อยผู้เสียหายโดยไม่ได้ใช้อาวุธใด ๆ และในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 50,000 บาท นับว่าจำเลยที่ 1 รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ประกอบกับผู้เสียหายแถลงไม่ติดใจเอาโทษจำเลยที่ 1 ต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุกไว้ แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติไว้ด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงในชั้นอุทธรณ์เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 4 เดือน และปรับ 5,000 บาท ฐานร่วมกันพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 500 บาท รวมเป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 5,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง ให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 3 เดือนต่อครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2801/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง - นาย อ. จำเลย - นาย ว. กับพวก

ชื่อองค์คณะ นันทวัน เจริญชาศรี กาญจนา ชัยคงดี อารีย์ เตชะหรูวิจิตร

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาธนบุรี - นายสุรวุฒิ อนุกูลกิจ ศาลชั้นต้น - นายสุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th