คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1474 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5), 246, 252 พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 6, 182/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 19
เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนห้องชุดกึ่งหนึ่ง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้ว ห้องชุดดังกล่าวกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนนี้มาจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง
ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดจากการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มิใช่เป็นความบกพร่องของโจทก์ที่มิได้บรรยายฟ้องถึงฐานะแห่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย และเมื่อพิจารณาจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ที่ขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบห้องชุดตามฟ้องคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น ฟังว่าโจทก์มีคำขอบังคับตามลำดับโดยชัดแจ้งแล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โดยชอบแล้ว มิได้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ประกอบกับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 มิได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเสียทีเดียว ฉะนั้น คนต่างด้าวจึงอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งจึงไม่ชอบ เพราะนอกจากโจทก์จะชนะคดีไม่เต็มตามฟ้องแล้ว โจทก์ยังไม่สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ห้องชุดเลขที่ 456/198 และ 499/27 อาคารชุด ด. ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบห้องชุดดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ห้องชุดเลขที่ 456/198 และ 499/27 อาคารชุด ด. ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่า คดีนี้จะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำวินิจฉัยที่ วชย.81/2562 ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลจังหวัดภูเก็ตจึงให้โอนสำนวนคดีนี้ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 11
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่จำต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 456/198 และ 499/27 อาคารชุด ด. ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกันที่ราชอาณาจักรสวีเดน ระหว่างสมรส จำเลยที่ 1 ซื้อห้องชุดพิพาทเลขที่ 456/198 และ 499/27 อาคารชุด ด. จากบริษัท ร. วันที่ 27 กันยายน 2560 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันที่ราชอาณาจักรสวีเดน
ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินห้องชุดกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนห้องชุดกึ่งหนึ่ง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้ว ห้องชุดดังกล่าวกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนนี้มาจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนแบ่งห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า ห้องชุดเลขที่ 456/198 และ 499/27 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เพียงผู้เดียว โดยให้จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทน จำเลยที่ 1 โอนห้องชุดทั้งสองห้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนการให้ห้องชุดระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบห้องชุดตามฟ้องคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าห้องชุดพิพาททั้งสองห้องไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์เพียงผู้เดียว แต่เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการให้ห้องชุดพิพาทส่วนของโจทก์กึ่งหนึ่ง โจทก์มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ ปัญหานี้จึงยุติไป แต่ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องนั้นเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182 (ที่ถูก มาตรา 6) ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โดยพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่จำต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 456/198 และ 499/27 อาคารชุด ด. ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งนั้น เห็นว่า ประเด็นที่ว่าห้องชุดพิพาททั้งสองห้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดจากการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มิใช่เป็นความบกพร่องของโจทก์ที่มิได้บรรยายฟ้องถึงฐานะแห่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย และเมื่อพิจารณาจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ข้อ 2 ที่ขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบห้องชุดตามฟ้องคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น ฟังว่าโจทก์มีคำขอบังคับตามลำดับโดยชัดแจ้งแล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โดยชอบแล้ว มิได้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ประกอบกับตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 มิได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเสียทีเดียว ฉะนั้น คนต่างด้าวจึงอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะนอกจากโจทก์จะชนะคดีไม่เต็มตามฟ้องแล้ว โจทก์ยังไม่สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนห้องชุดพิพาททั้งสองห้องซึ่งเป็นสินสมรสกึ่งหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่า สามารถดำเนินการพิพากษาให้จดทะเบียนห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ในชั้นฎีกา จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 200 บาท แต่โจทก์เสียมา 76,835 บาท ซึ่งเกินมา 76,635 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเลขที่ 456/198 และ 499/27 อาคารชุด ด. ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกินจำนวน 76,635 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ยช.(พ)20/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ว. จำเลย - นาง ร. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ สมชัย ฑีฆาอุตมากร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดภูเก็ต - นายสรายุทธ วราโห
- นายประวิทย์ อิทธิชัยวัฒนา