สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2565

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1490 (4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87 (2)

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา ในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสมาแสดงและมิได้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานโดยยื่นบัญชีระบุพยานมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาคำขอทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สมรสกับจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสมรสกัน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไว้ ทั้งโจทก์ยื่นฎีกาโดยอ้างส่งสำเนาใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวซึ่งมีข้อความยืนยันความเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแนบท้ายฎีกามาด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาทั้งมิได้โต้แย้งสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) การที่จำเลยที่ 3 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 รับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ภริยาของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าซื้อ และหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือมีความรับผิดตามสัญญาเช่าซึ่งจำเลยที่ 3 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่ภริยาของตนก่อขึ้น หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 260,000 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 36,000 บาท และอีกเดือนละ 4,000 บาท ถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 296,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 175,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์ 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ชำระค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทน แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 10 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ จากโจทก์ในราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 283,290 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรวม 60 งวด งวดละ 5,052 บาท กำหนดชำระทุกวันที่ 10 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 3 สามีของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยตกลงร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 6 งวดเศษ แล้วผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 7 ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไปเป็นระยะเวลาสามงวดติดต่อกัน โจทก์บอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสามโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือให้ความยินยอม หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามข้อนำสืบของโจทก์ ในคดีที่จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาแสดง และข้อเท็จจริงยังไม่ได้ความจากคำพยานบุคคลของโจทก์ชี้ชัดว่า จำเลยที่ 3 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ หรือ เพียงอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส อันเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาคำขอทำสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 เป็นคู่สมรสกับจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสมรสกัน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไว้ ย่อมชี้ให้เห็นได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความสัมพันธ์ต่อกันฉันสามีภริยาทางกฎหมาย ทั้งโจทก์ยื่นฎีกาโดยอ้างส่งสำเนาใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวซึ่งมีข้อความยืนยันความเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 แนบท้ายฎีกามาด้วย และศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาฎีกาพร้อมเอกสารแนบท้ายฎีกาให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำแก้ฎีกา ทั้งมิได้โต้แย้งสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาแต่อย่างใด เอกสารเช่นว่านี้ แม้โจทก์จะไม่เคยแสดงความจำนงอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานโดยยื่นบัญชีระบุพยานมาก่อน แต่เมื่อเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลฎีกามีอำนาจรับฟังสำเนาใบสำคัญการสมรส กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 สำเนาใบสำคัญการสมรส กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกา ซึ่งปรากฏรายละเอียดว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 ณ สำนักทะเบียนพระสมุทรเจดีย์ จึงสนับสนุนข้อความในคำขอทำสัญญาเช่าซื้อ และทำให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) บัญญัติให้หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นในระหว่างสมรสและอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันถือเป็นหนี้ร่วมนั้น หมายความถึงการเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และการที่จำเลยที่ 3 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 รับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ภริยาของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าซื้อ และหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือมีความรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 3 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือที่จำเลยที่ 3 แสดงเจตนาดังกล่าวมีลักษณะของการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นภริยาของตนก่อขึ้น หนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าซื้อรายนี้จึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค เห็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 175,000 บาท และให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์ 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 10 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)52/2565

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ซ. จำเลย - นางสาว อ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ณัฏฐชัย ไวยภาษจีรกุล ประทีป อ่าววิจิตรกุล แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงพระนครใต้ - นางสาวแก้วตา หฤทัยพันธ์ ศาลอุทธรณ์ - นายทวีศักดิ์ จันทร์วีระเสถียร

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th