สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3844/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3844/2565

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 218 วรรคหนึ่ง, 221

ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อให้รับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงนี้ไว้พิจารณา แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาจำเลยดังกล่าวเสียเองจึงไม่ถูกต้อง ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามฎีกาและมีคำสั่งตามคำร้องขอรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าส่งศาลฎีกานั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง

แม้คำร้องของจำเลยในทำนองว่าฎีกาของจำเลยมีข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาอันสำคัญอันควรแก่การพิจารณาก็ตาม ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลฎีกาที่จะก้าวล่วงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 221 ดังนั้นศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้พิจารณา

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 309, 310, 313, 340, 340 ตรี, 364, 365 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 58,400 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และ 45,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 313 วรรคสอง, 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 365 (1) (2) ประกอบ 364 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป กับความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยแต่งเครื่องแบบทหาร โดยมีหรือใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยแต่งเครื่องแบบทหาร โดยมีหรือใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 18 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยมีอาวุธหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น และเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ได้มา ซึ่งค่าไถ่ อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้น รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ฐานร่วมกันเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 หนึ่งในสาม คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดฐานอื่น ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยแต่งเครื่องแบบทหาร โดยมีหรือใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จำคุก 12 ปี รวมจำคุก 45 ปี 12 เดือน และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 58,400 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 45,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกัน ในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกา มีคนร้ายประมาณ 10 คน บุกรุกเข้าไปในบ้านไม่มีเลขที่ 2 หลัง ในกองบิน 416 ซึ่งเป็นเคหสถานของนายนิทัศน์ ผู้เสียหายที่ 1 และนางศรีวรรณ์ ผู้เสียหายที่ 2 โดยใช้อาวุธปืนข่มขู่ว่าจะประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสอง แล้วร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 เป็นราคารวม 58,400 บาท และปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 เป็นราคารวม 45,000 บาท โดยคนร้ายแต่งเครื่องแบบทหารหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหาร หลังจากนั้นคนร้ายพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านร้างไม่มีเลขที่ แล้วคนร้ายร่วมกันทำร้ายและข่มขู่ว่าจะฆ่า ผู้เสียหายที่ 1 เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ และให้ผู้เสียหายที่ 1 ติดต่อนางรุ่งนภา ภริยาของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อโอนเงินค่าไถ่จากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายที่ 1 ไปยังบัญชีธนาคาร ก. สาขาตลาดโรงเกลือ อรัญประเทศ เลขที่ 504-2-15xxx-x ชื่อบัญชีนายบุญสืบ นางรุ่งนภาโอนเงิน 110,000 บาท เข้าบัญชีในวันดังกล่าวเมื่อเวลา 16.39 นาฬิกาของวันเกิดเหตุ แต่คนร้ายต้องการได้เงินค่าไถ่ 300,000 บาท ผู้เสียหายที่ 1 จึงโทรศัพท์ยืมเงินจากนายแบงค์ 40,000 บาท และยืมเงินจากญาติพี่น้องอีก 60,000 บาท แล้วมีการโอนเงินเข้าบัญชีเดียวกันอีก 40,000 บาท และ 59,930 บาท ในวันเดียวกันเวลา 18.51 นาฬิกา และ 21.04 นาฬิกา ตามลำดับ ตามหนังสือของ บมจ.ธนาคาร ก. เรื่อง ขอแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดการทำรายการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 504-2-15xxx-x ผู้เสียหายที่ 1 ต่อรองกับคนร้ายว่าจะโอนเงินส่วนที่เหลืออีก 90,000 บาท ให้ในวันรุ่งขึ้น ขอให้ปล่อยตัวไปก่อน คนร้ายยอมพาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปส่งที่ปากทางเข้ากองบิน 416 เมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อให้รับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงนี้ไว้พิจารณา แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกาจำเลยดังกล่าวเสียเองจึงไม่ถูกต้อง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามฎีกาและมีคำสั่งตามคำร้องขอรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าส่งศาลฎีกานั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวว่าเสียและมีคำสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง เห็นว่า แม้คำร้องของจำเลยในทำนองว่าฎีกาของจำเลยมีข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาอันสำคัญอันควรแก่การพิจารณาก็ตาม ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลฎีกาที่จะก้าวล่วงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ดังนั้นศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาของจำเลยที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้พิจารณา

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยแต่งเครื่องแบบทหาร โดยมีหรือใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยมีอาวุธ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น และฐานร่วมกันเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ อันเป็นการกระทำโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 พยานโจทก์เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในบ้านภายในห้องนอน มีคนร้ายถีบประตูเข้ามาเป็นกลุ่มชายประมาณ 10 คน มีหนึ่งคนแต่งกายเครื่องแบบทหารและอีกหนึ่งคนสวมเสื้อสีแดง ส่วนที่เหลือแต่งกายคล้ายชุดซาฟารีหรือชุดคอมมานโดสีดำ มีอาวุธปืนพกติดตัว กลุ่มคนร้ายเข้ามาชกต่อยผู้เสียหายที่ 1 และใช้อาวุธปืนข่มขู่จับผู้เสียหายที่ 1 ใส่กุญแจมือไพล่หลังแล้วค้นตัวผู้เสียหายที่ 1 เอาเงิน 21,000 บาท และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ไปขณะนั้นผู้เสียหายที่ 2 และนายอนุวัฒน์หรือโอม ญาติผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในเหตุการณ์ คนร้ายนำผ้ามาปิดตาผู้เสียหายที่ 1 แต่ปิดไม่สนิทยังสามารถมองเห็นได้ลาง ๆ จากนั้นคนร้ายพาผู้เสียหายที่ 1 ไปขึ้นรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์สีขาว ภายในรถมีคนร้าย 4 คน คนร้ายที่แต่งเครื่องแบบทหารนั่งข้างคนขับ ส่วนผู้เสียหายที่ 1 นั่งตรงกลางเบาะด้านหลัง โดยด้านซ้ายและด้านขวาคนร้ายที่สวมเสื้อสีดำและเสื้อสีแดงนั่งคุมมาในรถขับพามาที่กระท่อมหรือบ้านร้างในสวน คนร้ายทำร้ายและข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 เรียกเงินอ้างว่าถ้าได้เงินจะปล่อยตัวไปแต่หากไม่ได้จะฆ่าทิ้ง แล้วคนร้ายนำผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ลำห้วยจับหัวกดน้ำจนสำลักน้ำหลายครั้ง และคนร้ายยังถอดแหวนทองคำน้ำหนักสองสลึงของผู้เสียหายที่ 1 ไปด้วย ต่อมาคนร้ายพาผู้เสียหายที่ 1 ไปขึ้นรถคันเดิมขับออกไป ระหว่างทางที่อยู่ในรถได้ยินคนร้ายพูดคุยกันโดยคนที่แต่งเครื่องแบบทหารซึ่งเป็นหัวหน้ายินยอมลดเงินค่าไถ่จากที่เรียก 2,000,000 บาท เหลือ 300,000 บาท เมื่อคนร้ายขับรถมาจอดบริเวณหลังวัดร่องขุ่น คนร้ายแกะผ้าผูกตาและถอดกุญแจมือออก ผู้เสียหายที่ 1 เห็นหน้าคนร้ายชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเดียวกับที่บุกเข้าไปในบ้าน คนร้ายสั่งให้ผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อกับภริยาผู้เสียหายที่ 1 เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของคนร้ายภายหลังจากที่คนร้ายปล่อยตัวผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยถูกจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนนำภาพถ่ายที่ได้จากกล้องวงจรปิดของตู้เอทีเอ็มให้ดู ผู้เสียหายที่ 1 จำได้ว่าบุคคลในภาพถ่ายคือจำเลย โดยผู้เสียหายที่ 2 พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า ขณะที่กลุ่มคนร้ายบุกเข้ามาในบ้านทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 นั้น ผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในเหตุการณ์ด้วยและจำหน้าคนร้ายที่แต่งเครื่องแบบทหารจำได้แม่นยำว่าคือจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าที่สั่งให้พวกจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายทั้งสองเป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องตามลำดับที่พยานแต่ละคนรู้เห็นมาโดยยืนยันว่าจดจำจำเลยได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคนร้ายที่ร่วมกันก่อเหตุ เนื่องจากจำเลยมิได้ปิดบังอำพรางใบหน้า ทั้งยังแต่งกายเครื่องแบบทหารแตกต่างจากคนร้ายในกลุ่มด้วยกันเองซึ่งเป็นจุดสังเกตได้ง่าย ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันจำเลยกับพวกลงมือก่อเหตุต่อเนื่องติดต่อกันจนถึงเวลากลางคืนเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอยู่ในการบังคับควบคุมของจำเลยกับพวกอย่างใกล้ชิดมีโอกาสเห็นหน้าและพูดคุยกับจำเลยเป็นระยะเวลานาน แม้มีบางช่วงเวลาที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกคนร้ายนำผ้ามาปิดตา แต่ผู้เสียหายที่ 1 ยืนยันว่าผ้าปิดตาไม่สนิทยังสามารถมองเห็นได้ลาง ๆ ดังจะเห็นได้จากที่ผู้เสียหายที่ 1 สามารถระบุยืนยันได้ว่าคนร้ายพาผู้เสียหายที่ 1 ไปขึ้นรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์สีขาว ภายในมีคนร้าย 4 คน จำเลยแต่งกายเครื่องแบบทหารนั่งข้างคนขับ ส่วนผู้เสียหายที่ 1 นั่งตรงกลางของเบาะด้านหลังโดยด้านซ้ายและด้านขวาคนร้ายที่สวมเสื้อสีดำและเสื้อสีแดงนั่งคุมมาด้วย เชื่อว่าการที่คนร้ายนำผ้ามาปิดตาผู้เสียหายที่ 1 เพียงไม่ต้องการให้ทราบว่าจะมีการพาไปยังสถานที่ใดเท่านั้น มิใช่เพื่อต้องการปิดบังไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 เห็นหน้าคนร้ายเนื่องจากจำเลยกับพวกไม่ได้มีการปิดบังอำพรางใบหน้า มาตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้น ที่ผู้เสียหายที่ 1 ยืนยันว่า แม้ถูกปิดตาแต่ยังมองเห็นได้ลาง ๆ จึงเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ เชื่อได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยกับพวกลงมือโดยตลอด ทั้งยังได้ความอีกว่าขณะที่คนร้ายสั่งให้ผู้เสียหายที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อกับภริยาผู้เสียหายที่ 1 เพื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีของคนร้ายนั้น ผู้เสียหายที่ 1 ได้ยินว่าจำเลยเป็นผู้บอกหมายเลขบัญชีเงินฝากธนาคารของคนร้ายให้ภริยาผู้เสียหายที่ 1 ทราบ และเมื่อมีการโอนเงินเข้ามาในบัญชี จำเลยได้บอกแก่ผู้สียหายที่ 1 ว่าเงินเข้าแล้ว พฤติการณ์ตามที่ได้ความดังกล่าวย่อมรับฟังได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าผู้เสียหายที่ 1 สามารถจดจำจำเลยได้แม่นยำว่า เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิด นอกจากนี้พันตำรวจโทเกียรติศักดิ์ เจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า การสืบสวนเริ่มจากการตรวจสอบบัญชีธนาคารของคนร้ายที่ภริยาผู้เสียหายที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีเลขที่ 504-2-15xxx-x ชื่อบัญชีนายบุญสืบ มีการถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารดังกล่าว โดยถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคาร ร. สาขาเด่นห้า จังหวัดเชียงราย และสาขาเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งครั้งสุดท้ายมีการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม สาขาเชียงคำ แต่ไม่สามารถถอนเงินได้เนื่องจากพนักงานสอบสวนมีการอายัดบัญชีไว้ เมื่อประสานไปยังธนาคารเพื่อขอตรวจสอบกล้องวงจรปิดของตู้เอทีเอ็มปรากฏว่า บุคคลที่ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มทุกครั้งเป็นบุคคลเดียวกัน เมื่อนำสำเนาภาพถ่ายบุคคลในกล้องวงจรปิดดังกล่าวให้ผู้เสียหายที่ 1 ดูแล้วยืนยันว่าเป็นจำเลย และจากการสืบสวนขยายผลทราบว่าเมื่อภริยาผู้เสียหายที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของคนร้ายจะมีข้อความเสียงแจ้งเตือนการโอนเงินมาที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย เมื่อตรวจสอบกับธนาคารทราบว่าโทรศัพท์ที่รับการแจ้งเตือนหมายเลข 09 1123 xxxx ได้นำหมายเลขโทรศัพท์ไปตรวจสอบกับบัญชีเฟซบุ๊กปรากฏว่ารูปโปรไฟล์ที่โพสต์ลงในเฟซบุ๊กเป็นภาพของจำเลยบุคคลเดียวกันกับที่ปรากฏในภาพวงจรปิดของตู้เอทีเอ็ม โดยจำเลยยอมรับมาในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองและใช้บัญชีธนาคาร ก. สาขาตลาดโรงเกลือ บัญชีเลขที่ 504-2-15xxx-x มีชื่อนายบุญสืบ เป็นเจ้าของบัญชีที่ภริยาของผู้เสียหายที่ 1 โอนเงินเข้ามาจริง และจำเลยเป็นผู้โอนเงินและถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มตามภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดของตู้เอทีเอ็ม และพันตำรวจโทภาสกร พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ผู้เสียหายที่ 2 แจ้งความหลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน ชั้นสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายทั้งสอง พันตำรวจโทเกียรติศักดิ์ นายบุญสืบ และจำเลยไว้ตามบันทึกคำให้การ ส่วนนายโอมกลัวไม่กล้ามาเป็นพยานและติดต่อไม่ได้ ทั้งพันตำรวจโทเกียรติศักดิ์และพันตำรวจโทภาสกรเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย คำเบิกความของพยานทั้งสองปากและพยานหลักฐานที่จัดทำขึ้นดังกล่าว จึงมีความน่าเชื่อและนำมารับฟังสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสองให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นตัวการที่ร่วมกับคนร้ายกระทำความผิดดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 309 วรรคสอง มาตรา 310 วรรคแรก มาตรา 364 มาตรา 365 และมาตรา 6 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 340 วรรคสอง และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง (เดิม), 310 วรรคแรก (เดิม), 313 วรรคสอง, 340 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 340 ตรี, 365 (1) (2) (เดิม) ประกอบมาตรา 364 (เดิม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 5

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1285/2565

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย จำเลย - จ่าสิบเอก ส.

ชื่อองค์คณะ จรรยา จีระเรืองรัตนา ทรงพล สงวนพงศ์ กมล คำเพ็ญ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเชียงราย - นายปาลทองแท่ง ศรุจชานนท์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นางสาวนิตยา วัฒนะชีวะกุล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th