สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2563

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 4, 75 พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 35, 36 (3)

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 และมาตรา 36 (3) บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งและให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุด และตามข้อบังคับของโจทก์กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นตัวแทนของโจทก์ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ โดยให้มีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องหรือดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ทำละเมิดต่ออาคารชุดหรือทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโจทก์ หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ไม่ ส. เป็นเพียงเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์มิได้เป็นผู้จัดการโจทก์ ทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ ส. จึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ หาก ส. เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ก็ต้องแจ้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ การที่ ส. มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการแจ้งเรื่องให้โจทก์ดำเนินการแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของโจทก์ ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ยกมาปรับใช้แก่คดีและไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โดย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตัวเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการฟ้องร้องตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 75 แต่ ส. มิได้ร้องขอให้ศาลตั้งตัวเองเป็นผู้แทนโจทก์เฉพาะการ และฟ้องคดีแทนโจทก์เสียเอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 57,050 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 56,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 56,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,050 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุด นาย ส. ผู้ฟ้องคดีแทนโจทก์เป็นเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกรรมการโจทก์ โดยขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รักษาการผู้จัดการโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 เคยเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งหัวหน้าช่าง แต่ถูกโจทก์เลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นชอบชำระค่าชดเชยการเลิกจ้างให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 56,000 บาท ตามที่นาย จ. เจ้าหน้าที่การเงินเสนอเบิกจ่ายและจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว โดยจำเลยที่ 4 ทำหนังสือขอลาออกจากงาน ให้ไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นนาย ส. ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการแรกว่า นาย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นาย ส. ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นตัวแทนโจทก์ มิได้ฟ้องเป็นการส่วนตัวในฐานะที่นาย ส. เป็นเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ จึงต้องพิจารณาอำนาจฟ้องของโจทก์ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 และข้อบังคับของโจทก์ ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวข้อ 6. กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นตัวแทนของโจทก์ปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ และตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามข้อบังคับข้อ 4.4 ให้มีอำนาจทำนิติกรรมกับบุคคลอื่น และดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ ใช้สิทธิเรียกร้องหรือดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา ประนีประนอมยอมความทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ทำการละเมิดต่ออาคารชุดหรือทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด รวมทั้งดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย ข้อบังคับของโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 35 และมาตรา 36 (3) ที่บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งและให้ผู้จัดการเป็นผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุด ดังนั้นการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการโจทก์หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ไม่ นาย ส. เป็นเพียงเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์มิได้เป็นผู้จัดการโจทก์ รวมทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับของโจทก์ให้เจ้าของร่วมหรือกรรมการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ นาย ส. จึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ หากนาย ส. เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างให้แก่จำเลยที่ 4 โดยมิชอบ นาย ส. ต้องแจ้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการ การที่นาย ส. เคยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการโจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการแจ้งเรื่องให้โจทก์ดำเนินการแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของโจทก์ ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับใช้ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีเช่นนี้ จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 โดยนาย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการต้องร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตัวเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการฟ้องร้องตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 แต่นาย ส. มิได้ดำเนินการร้องขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองเป็นผู้แทนโจทก์เฉพาะการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 ประกอบมาตรา 75 แต่นาย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์เสียเองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนปัญหาว่านาย ส. ในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์อาจใช้สิทธิฟ้องเองเป็นการส่วนตัวได้หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อนาย ส. มิได้ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของร่วมและกรรมการโจทก์ฟ้องคดีนี้เสียเอง หากแต่งตั้งเรื่องฟ้องในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ จึงไม่มีประเด็นปัญหาดังกล่าวให้ต้องพิจารณา ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะมิได้หยิบยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น

อนึ่ง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในประเด็นอื่นของจำเลยทั้งสาม เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงและเนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษามีผลถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาและไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 ประกอบมาตรา 252

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.426/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นิติบุคคลอาคารชุด ศ. โดยนาย ส. เจ้าของร่วมและกรรมการ จำเลย - นาย อ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สุภัทร อยู่ถนอม นิรัตน์ จันทพัฒน์ สมเกียรติ ตั้งสกุล

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงพระนครใต้ - - ศาลอุทธรณ์ - -

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE