คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2565
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 276 วรรคสาม, 309 วรรคสอง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ม. 26 (3), 78
จำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจ และบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริมให้ผู้เสียหายที่ 2 ประพฤติตนไม่สมควร ก็เพื่อมุ่งประสงค์จะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นความประสงค์มาแต่แรก การกระทำดังกล่าวจึงต่อเนื่องกันมาไม่ขาดตอน และโจทก์บรรยายฟ้องความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว และข้อหากระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืนรวมกันมาในข้อเดียวกัน ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม, 309 วรรคสอง และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3), 78 ของจำเลย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 278, 283 ทวิ, 309, 310, 319, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26, 78
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ก่อนสืบพยาน นางสาว ป. ผู้เสียหายที่ 1 และผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาว พ. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการเสื่อมเสียชื่อเสียง สภาพจิตใจ และความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องขอถอนคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและผู้เสียหายที่ 2 ขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคแรก และมาตรา 310 วรรคแรก ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม, 309 วรรคสอง, 319 วรรคแรก (ที่ถูก ต้องระบุมาตรา 371 ด้วย) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสอง (ที่ถูก ไม่ระบุมาตรา 72 วรรคสอง), 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3), 78 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืน จำคุก 15 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย จำคุก 2 ปี ฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจโดยมีอาวุธ และฐานบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจโดยมีอาวุธ จำคุก 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (ที่ถูก และฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 17 ปี 14 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 8 ปี 13 เดือน (ที่ถูก ต้องจำหน่ายคดีสำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก)
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นางสาว พ. ผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 16 ปีเศษ เป็นบุตรของนางสาว ป. ผู้เสียหายที่ 1 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 มาที่เกิดเหตุ แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 สำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายที่ 2 ขอถอนคำร้องทุกข์ ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่มีคู่ความยื่นฎีกา ความผิดข้อหาดังกล่าวจึงยุติไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม และมีเหตุรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย โดยจำเลยมีอาวุธปืนพกออโตเมติก ขนาด .45 ซึ่งเป็นอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และเครื่องกระสุนปืน ขนาด .45 ติดตัวมาด้วย และจำเลยนำอาวุธปืนออกมาวางไว้พร้อมจะหยิบฉวยใช้งานได้ทันที ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ที่ยังเป็นผู้เยาว์ตกใจกลัวไม่กล้าขัดขืน ถือได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืน จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำชำเราผู้อื่นโดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม หาใช่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่งไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืน หลังจากลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 7 ปี 6 เดือน เป็นการลงโทษจำคุกเกินกว่าห้าปี จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจ และบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริมให้ผู้เสียหายที่ 2 ประพฤติตนไม่สมควร ก็เพื่อมุ่งประสงค์จะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นความประสงค์มาแต่แรก การกระทำดังกล่าวจึงต่อเนื่องกันมาไม่ขาดตอน และโจทก์บรรยายฟ้องความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้ถูกข่มขืนใจ และข้อหากระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธปืนรวมกันมาในข้อเดียวกัน การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม, 309 วรรคสอง และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3), 78 ของจำเลย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม, 309 วรรคสอง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3), 78 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน เมื่อรวมทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 8 ปี 10 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1523/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัด ผู้ร้อง - นางสาว ป. และนางสาว พ. โดยนางสาว ป. ผู้แทนโดยชอบธรรม จำเลย - นาย พ.
ชื่อองค์คณะ ประยูร ณ ระนอง ชลิต กฐินะสมิต โสภณ โรจน์อนนท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสกลนคร - นายนิวัฒน์ โชติพงศ์สันติ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายศุทธิพงศ์ ภูสุวรรณ