คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 188 (เดิม), 264 (เดิม), 268, 269/5, 269/6, 269/7, 334 (เดิม), 335 (เดิม), 341 (เดิม), 342 (เดิม) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 43
จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของโจทก์ร่วม ใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตร โดยจำเลยใช้เอกสารของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลย เพื่อจำเลยจะนำไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการและเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวไปใช้ จึงเป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ
จำเลยใช้บัตรเครดิตและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนของผู้อื่นไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวงจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งพนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 264, 268, 269/5, 269/6, 269/7, 334, 335, 341, 342 ให้จำเลยคืนเงิน 124,934.74 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 334, 335 (ที่ถูก ยกเว้นเฉพาะมาตรา 188 (เดิม))
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 264 วรรคหนึ่ง, 268 วรรคหนึ่ง, 269/5, 269/6, 269/7, 334, 335 (1), 341 และ 342 (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมกับฐานฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี ฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุก 6 เดือน ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่ม) ของผู้อื่นโดยมิชอบ รวม 37 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 18 ปี 6 เดือน ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเครดิตธนชาต วีซ่าแพลทินั่ม) ของผู้อื่นโดยมิชอบ และฐานลักทรัพย์ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 25 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 12 ปี 6 เดือน ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่ม) ของผู้อื่นโดยมิชอบ และฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรวงเงินสดหมุนเวียนแฟลชการ์ด) ของผู้อื่นโดยมิชอบ และฐานลักทรัพย์เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 22 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 11 ปี ฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (บัตรวงเงินสดหมุนเวียนแฟลชการ์ด) ของผู้อื่นโดยมิชอบและฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 7 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เป็นจำคุก 7 ปี รวมจำคุก 53 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 26 ปี 9 เดือน แต่เนื่องจากความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี เมื่อรวมกับโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกมีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยคืนเงินจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน เป็นเงิน 44,500 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 (เดิม), 264 วรรคแรก (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 269/5, 269/6 ประกอบมาตรา 269/7, 334 (เดิม), 335 (1) วรรคแรก (เดิม), 341 (เดิม), 342 (1) (เดิม) ฐานลักทรัพย์และฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่เพียงกระทงเดียว ตามมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 268 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคสอง ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นกระทงละ 3 เดือน รวม 84 กระทง (37+25+22) เป็นจำคุก 21 ปี รวมจำคุก 21 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 10 ปี 9 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ฐานฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น และฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 15 ปี 12 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 124,934.74 บาท แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 เวลากลางวัน จำเลยลักสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ฉบับ หนังสือรับรองการทำงานบริษัทคิวโกว์ จำกัด ของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ฉบับ สำเนาสมุดบัญชีและใบบันทึกรายการสมุดคู่ฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หมายเลข 281212xxxx ของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ชุด และในวันเดียวกันนั้นจำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่มและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนธนชาตแฟลชการ์ดของโจทก์ร่วมขึ้นทั้งฉบับโดยกรอกข้อมูลของผู้เสียหายที่ 2 และลงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายที่ 2 ในแบบพิมพ์ ใบสมัครบัตรดังกล่าว ปลอมหนังสือยินยอมให้เปิดเผยข้อมูล จำนวน 2 ฉบับ โดยลงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายที่ 2 ในช่องผู้ให้ความยินยอม ปลอมสำเนาบัตรประชาชนของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ฉบับ ปลอมสำเนาสมุดบัญชีและใบบันทึกรายการสมุดคู่ฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หมายเลข 281212xxxx ของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ชุด โดยลงลายมือชื่อปลอมของผู้เสียหายที่ 2 รับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารเหล่านั้นแล้วจำเลยนำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมดไปใช้อ้างแสดงต่อโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 ขอสมัครเป็นสมาชิกบัตรของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงออกบัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลตินั่ม หมายเลข 4628 5600 0043 xxxx และบัตรวงเงินสดหมุนเวียนธนชาตแฟลชการ์ด หมายเลข 5331 5300 0313 xxxx ให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 เพื่อใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ หนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด และใช้เบิกเงินสดในวงเงินบัตรละ 100,000 บาท จำเลยได้รับบัตรทั้งสองใบไปแล้ว และนำบัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่มไปใช้ชำระค่าสินค้าค่าบริการ รวม 37 ครั้ง ใช้เบิกถอนเงินสดในเวลากลางวัน 25 ครั้ง ในเวลากลางคืน 1 ครั้ง รวมเป็นเงิน 257,870.59 บาท ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับคืนแล้ว 194,624.85 บาท คงเหลือ 63,245.74 บาท ส่วนบัตรวงเงินสดหมุนเวียนธนชาตแฟลชการ์ดจำเลยนำไปใช้เบิกถอนเงินสดในเวลากลางวัน 22 ครั้ง ในเวลากลางคืน 7 ครั้ง รวมเป็นเงิน 149,000 บาท ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับคืนแล้ว 87,311 บาท คงเหลือ 61,689 บาท
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์อันได้แก่ บัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่มและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนธนชาตแฟลชการ์ดตามฟ้องไม่ใช่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นเพราะผู้เสียหายที่ 2 มิได้สมัครใจขอใช้บริการบัตรดังกล่าวกับโจทก์ร่วม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5, 269/6, 269/7 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว การที่จำเลยปลอมใบสมัครบัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่มและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนธนชาตแฟลชการ์ดของโจทก์ร่วม หลังจากนั้นนำใบสมัครดังกล่าวไปใช้แสดงเป็นพยานหลักฐานในการขอออกบัตรต่อพนักงานของโจทก์ร่วมเพื่อให้ดำเนินการออกบัตรให้แก่จำเลย โดยจำเลยใช้เอกสารหนังสือให้เปิดเผยข้อมูล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาสมุดบัญชีและใบบันทึกรายการสมุดคู่ฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หมายเลข 281212xxxx ของผู้เสียหายที่ 2 ที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานของโจทก์ร่วมพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นผู้เสียหายที่ 2 เป็นการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานของโจทก์ร่วมหลงเชื่อนำข้อมูลตามใบสมัครซึ่งเป็นเอกสารปลอมส่งต่อไปยังผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมพิจารณา หลังจากพิจารณาแล้วโจทก์ร่วมได้ออกบัตรเครดิตธนชาติแพลทินั่ม หมายเลข 4628 5600 0041 xxxx และบัตรวงเงินสดหมุนเวียนธนชาตแฟลชการ์ด หมายเลข 5331 5300 0313 xxxx ตามฟ้องให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยใช้โจทก์ร่วมเป็นเครื่องมือ ในการออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมในนามของผู้เสียหายที่ 2 ให้แก่จำเลยเพื่อจำเลยจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดอื่น ๆ เช่น นำไปใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ และเบิกถอนเงินสดในนามของผู้เสียหายที่ 2 แทนตัวของจำเลยเอง ซึ่งมีผลทำให้ผู้เสียหายที่ 2 อาจต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมแทนจำเลย เมื่อจำเลยได้นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองใบดังกล่าวนี้ไปใช้จึงเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5, 269/6 และ 269/7 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5, 269/6 และ 269/7 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อมาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 124,934.74 บาท แก่โจทก์ร่วมชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว สำหรับการใช้บัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่มและบัตรวงเงินสดหมุนเวียนธนชาตแฟลชการ์ดไปเบิกถอนเงินสดเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนการใช้บัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่มไปชำระค่าสินค้าและค่าบริการเท่ากับจำเลยแสดงตนเป็นผู้เสียหายที่ 2 หลอกลวงร้านค้าและโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยได้ไปซึ่งตัวสินค้าและบริการจากผู้ถูกหลอกลวง จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนจากการใช้บัตรเครดิตธนชาตวีซ่าแพลทินั่ม 63,245.74 บาท และบัตรวงเงินสดหมุนเวียนธนชาตแฟลชการ์ด 61,689 บาท รวม 124,934.74 บาท แก่โจทก์ร่วมมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น พิเคราะห์แล้ว ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยมานั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติเกี่ยวกับการคำนวณระยะเวลาจำคุกว่า ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือนให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นกระทงละ 3 เดือน รวม 84 กระทง เป็นจำคุก 21 ปี จึงเป็นผลร้ายแก่จำเลย ต้องรวมทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 252 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 126 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และโทษฐานอื่น ๆ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 5 ปี 132 เดือน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยรวม 5 ปี 132 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.873/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ร่วม - ธนาคาร ธ. จำเลย - นางสาว ศ.
ชื่อองค์คณะ นิยุต สุภัทรพาหิรผล อาเล็ก จรรยาทรัพย์กิจ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญากรุงเทพใต้ - นายอาคม นิตยาภรณ์ ศาลอุทธรณ์ - นายสรรพวิทย์ ตูวิเชียร