คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2565
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม. 4, 7
ข้อตกลงของผู้เสียหายกับจำเลยไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้โอกาสแก่จำเลยในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น กรณีที่ผู้เสียหายจะไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลย รวมถึงการถอนคำร้องทุกข์ก็เป็นเงื่อนไขที่ผู้เสียหายจะปฏิบัติในภายหน้าหากจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ผู้เสียหายจนครบถ้วน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแต่อย่างใด ทั้งไม่มีผลเป็นการยอมความโดยชอบตามกฎหมาย เมื่อจำเลยยังมิได้ใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับให้แก่ผู้เสียหาย และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 คดีจึงยังไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และนับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3009/2561, อ.3010/2561, อ.4165/2561, อ.4989/2561 และ อ.5457/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (2)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำนวน 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นให้ยก เนื่องจากไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาแล้ว
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังยุติว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง นายเซาราบห์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายและจำเลยร่วมกันแถลงต่อศาลว่า ผู้เสียหายและจำเลยเจรจาตกลงกันได้ โดยผู้เสียหายให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยจะชำระเงิน 100,000 บาท ให้ผู้เสียหายภายในวันที่ 15 มกราคม 2563 ส่วนที่เหลือจะชำระให้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาททุกวันที่ 15 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 หากจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ผู้เสียหายครบถ้วนแล้ว ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลยและจะถอนคำร้องทุกข์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกัน ผู้เสียหายจะขอให้ศาลพิจารณาคดีและมีคำพิพากษาต่อไป ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อตกลงดังกล่าวของผู้เสียหายและจำเลยเป็นการระงับข้อพิพาทตามเช็ค อันมีผลทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาระงับไปหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้และเลื่อนคดีมาโดยตลอดถือว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยแล้ว เป็นการยอมความโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความใดแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที เป็นเพียงข้อตกลงที่ผู้เสียหายให้โอกาสแก่จำเลยในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น กรณีที่ผู้เสียหายจะไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลย รวมถึงการถอนคำร้องทุกข์ก็เป็นเงื่อนไขที่ผู้เสียหายจะปฏิบัติในภายหน้าหากจำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ผู้เสียหายจนครบถ้วน จึงไม่เป็นสัญญาจะประนีประนอมยอมความที่จะทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแต่อย่างใด ทั้งไม่มีผลเป็นการยอมความโดยชอบด้วยกฎหมายตามที่จำเลยฎีกา เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้ผู้เสียหาย และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยออกเช็คพิพาท 2 ฉบับรวมเป็นเงิน 700,000 บาท ผู้เสียหายให้โอกาสแก่จำเลยผ่อนชำระ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยชดใช้หรือพยายามจะชดใช้เงินตามเช็คให้แก่ผู้เสียหายแต่ประการใด ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว หากจำเลยถูกลงโทษจำคุกจะทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนก็เป็นเพียงเหุตผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น ส่วนอาการเจ็บป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วจำเลยสามารถรักษาด้วยการรับประทานยาเช่นที่ได้รับการรักษา กรณีความจำเป็นที่จำเลยยกขึ้นอ้างดังกล่าวยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน โดยไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้นอย่างไรก็ตาม การที่จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และศาลล่างพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยระยะสั้น สมควรแก้ไขดุลพินิจในการกำหนดโทษเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนงและศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. 2562 มาตรา 10
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นกักขังมีกำหนด 2 เดือน ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1732/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาย น.
ชื่อองค์คณะ ธัชพงศ์ วิสุทธิสังวร ชลิต กฐินะสมิต กีรติ เชียงปวน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญาตลิ่งชัน - นายวีระพงษ์ ทองอ่อน ศาลอุทธรณ์ - นายวาส ลักษณ์เลิศกุล