คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3875/2565
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 123
ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 123 ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งศาลแต่งตั้งให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ. 2555 และระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ข้อ 5 กำหนดว่าให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายตามอัตราค่าป่วยการท้ายระเบียบ ดังนี้ (1) ในกรณีที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้กำหนดตามบัญชี 1 และตามวรรคสอง กำหนดว่า "…ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ คดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว คดีที่ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษา หรือคดีเสร็จไปโดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษา…" และวรรคสาม กำหนดว่า "ทั้งนี้ ให้กำหนดเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว" ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพทั้งยังเป็นคดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวที่ให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้ได้ตามระเบียบ ข้อ 5 (1) วรรคสอง แต่ต้องอยู่ในบังคับแห่งวรรคสามที่ศาลจะกำหนดให้ได้ต่อเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลยแล้วจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีจึงยังไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งให้จ่ายเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ผู้ร้องได้
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 1, 29, 90, 104, 145, 152, 162, พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 43 ทวิ, 157/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูจำเลย และมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเบิกเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมาย เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง โดยวางเงื่อนไขให้จำเลยปฏิบัติ กับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยนัดฟังผลการปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือฟังคำพิพากษาหรือคำสั่ง ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 เวลา 9 นาฬิกา และหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษารายงานต่อศาลชั้นต้นเพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไป ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายในวันเดียวกับที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ซึ่งตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งศาลแต่งตั้งให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง คือ ระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ. 2555 และระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 โดยระเบียบ ข้อ 5 กำหนดว่า ให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายตามอัตราค่าป่วยการท้ายระเบียบ ดังนี้ (1) ในกรณีที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้กำหนดตามบัญชี 1 และตามวรรคสอง กำหนดว่า "ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ คดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว คดีที่ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษา หรือคดีเสร็จไปโดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษา…" และวรรคสาม กำหนดว่า "ทั้งนี้ ให้กำหนดเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว " ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพทั้งยังเป็นคดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวที่ให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้ได้ตามระเบียบ ข้อ 5 (1) วรรคสอง แต่ต้องอยู่ในบังคับแห่งวรรคสามที่ศาลจะกำหนดให้ได้ต่อเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลยแล้วจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีจึงยังไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งให้จ่ายเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ผู้ร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ยช.(อ)23/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลพบุรี ผู้ร้อง - นาย ช. จำเลย - นาย ค.
ชื่อองค์คณะ สุวิทย์ พรพานิช สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ชูศักดิ์ จำปา
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลพบุรี - นายสุมิตร์ ทองกล่อม
- นายประวิทย์ อิทธิชัยวัฒนา