สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2563

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 226/2 วรรคหนึ่ง (2)

จำเลยทั้งสองถูกฟ้องว่า เปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิด แหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริง คดีนี้มีความเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ ซึ่งมีลักษณะกระทำความผิดเป็นเครือข่าย มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการมอบหมายหน้าที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งพยายามปิดบังเส้นทางการเงินเพื่อมิให้เจ้าพนักงานเข้าถึงตัวผู้กระทำความผิด ตามรูปคดีจึงเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยานดังเช่นคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น จำต้องอาศัยพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสองมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เมื่อคดีนี้โจทก์มีพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ และมีสาระสำคัญตรงกับเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ทั้งเมื่อพิจารณาพยานเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่ามีเงินหมุนเวียนผ่านเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนมากผิดปกติเกือบ 30 ล้านบาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริตใดจึงมีเงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวนมากเช่นนี้ อีกทั้งมีลักษณะเป็นการนำเงินเข้าและถอนออกจากบัญชีอย่างรวดเร็วส่อให้เห็นพิรุธ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังโอนและรับโอนเงินจากบัญชีของบุคคลอื่นอีกหลายบัญชีโดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปของเงินอย่างชัดเจน และจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของ ซ. พบว่าเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 หลังจากถูกอายัดบัญชีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2522 พบว่าในการทำธุรกรรมทางบัญชีมีเงินหมุนเวียนมากถึง 400 ล้านบาทเศษ โดย ซ. ทำธุรกรรมทางบัญชีด้วยตนเองทุกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าชี้แจงถึงที่มาของเงินในบัญชีตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานตำรวจ ผิดวิสัยของสุจริตชนเช่นเดียวกัน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวของ ซ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินค่ายาเสพติดให้โทษของเครือข่าย ฐ. กับพวก เช่นกัน ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่ารับจ้างเปิดบัญชีให้กับ ธ. เครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กรณียังปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังถูกฟ้องข้อหาสมคบกันฟอกเงินในลักษณะเดียวกันอีกหลายสำนวน ตามคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งบางคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว อันเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการสมคบกันฟอกเงิน สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในการกระทำความผิดคดีนี้ของจำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2) เพราะการกระทำความผิดในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหลายขั้นตอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ร่วมกระทำความผิดบางคนอาจไม่รู้จักกัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วทำให้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของ ฐ. กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริงตามฟ้อง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 9, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฟย.50/2558, ฟย.51/2558, ฟย.72/2558 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.38/2559, ฟย.75/2559, ฟย.76/2559, ฟย.12/2560 ของศาลชั้นต้น และนับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.77/2559, ฟย.80/2559, ฟย.12/2560, ฟย.19/2560 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2554 (ที่ถูก พ.ศ.2542) มาตรา 5 (1) (2), 9 วรรคสอง, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบโดยตกลงกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน (ที่ถูก และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด (ที่ถูก แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันฟอกเงินเพียงบทเดียว) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 8 เดือน ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 (ที่ถูก จำเลย) ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.38/2559, ฟย.75/2559, ฟย.76/2559 และ ฟย.12/2560 ให้นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.77/2559, ฟย.80/2559, ฟย.12/2560 และ ฟย.19/2560 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.39/2560, ฟย.53/2559 และ ฟย.64/2559 นั้น เนื่องจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.39/2560 ศาลยังไม่มีคำพิพากษา ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.53/2559 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.64/2559 ศาลพิพากษายกฟ้อง จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 มีอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำในท้องที่สถานีตำรวจภูธรคลอง 5 จังหวัดปทุมธานี เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดจำนวนหนึ่ง กับสมุดบันทึกการขายยาเสพติดให้โทษอยู่ภายในรถ ส่วนคนขับคือนายนิพนธ์ หลบหนีไป หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นห้องพักของนายนิพนธ์ พบเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งกับสมุดบันทึกการค้ายาเสพติดให้โทษ หลังจากนั้นไปตรวจค้นบ้านพักที่นายนิพนธ์เช่าไว้อีกหลังหนึ่ง พบเมทแอมเฟตามีน 3,846,000 เม็ด กับเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดน้ำหนักประมาณ 71 กิโลกรัม จึงยึดไว้เป็นของกลาง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายนิพนธ์ได้ จากการสืบสวนขยายผลปรากฏว่า มีนายฐปนันทน์ กับพวกอยู่ในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษร่วมกับนายนิพนธ์ด้วย โดยเมื่อปี 2552 นายฐปนันทน์เคยถูกจับกุมพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง 26,000 เม็ด แต่ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง และหลังเกิดเหตุคดีนี้นนายฐปนันทน์หลบหนีไปอยู่ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เนื่องจากคดีนี้มีลักษณะเป็นขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ พนักงานสอบสวนจึงทำการขยายผลเพื่อจับกุมเครือข่ายที่ร่วมกระทำความผิดเพิ่มเติม พบว่ามีจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องด้วย โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขามันนี่พาร์ค มาบุญครองเซ็นเตอร์ เลขที่บัญชี 788 – 2 – 09xxx – x ชื่อบัญชี นางสาวนารีรัตน์ และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซีลาดพร้าว 2 เลขที่บัญชี 968 – 2 – 05xxx – x ชื่อบัญชี นางสาววัชราภรณ์ ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2554 จำเลยที่ 2 โอนเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 2 ผ่านเครื่องเบิกถอนเงินสดเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปาดังเบซาร์ บัญชีเลขที่ 386 – 2 – 13xxx - x ชื่อบัญชี นางเซีย จำนวนเงิน 310,000 บาท และเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2555 จำเลยที่ 1 โอนเงินจากบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 1 ผ่านเครื่องเบิกถอนเงินสดเข้าบัญชีดังกล่าวของนางเซีย จำนวนเงิน 600,000 บาท พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า สมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันเป็นคดีนี้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้มีความเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ ซึ่งมีลักษณะกระทำความผิดเป็นเครือข่าย มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการมอบหมายหน้าที่ออกเป็นหลายส่วน รวมทั้งพยายามปิดบังเส้นทางการเงิน เพื่อมิให้เจ้าพนักงานเข้าถึงตัวผู้กระทำความผิด ตามรูปคดีจึงเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยานดังเช่นคดีอาญาปกติทั่วไป ดังนั้น จำต้องอาศัยพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและพิรุธแห่งการกระทำของจำเลยทั้งสอง มารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ ซึ่งในข้อนี้โจทก์มีพันตำรวจเอกอุเทน พันตำรวจโทธนภัทร พันตำรวจตรีเกรียงไกร และพันตำรวจตรีจิฑาวัฒน์ ผู้ร่วมสืบสวนและสอบสวนข้อเท็จจริงคดีนี้ เป็นพยานเบิกความประกอบกันสรุปได้ว่า หลังจากยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากได้ในรถยนต์ ในคอนโดมิเนียม และในบ้านเช่าของนายนิพนธ์ พร้อมสมุดบันทึกเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดให้โทษเป็นของกลางแล้ว ทางเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการสืบสวนทราบว่าเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของนายนิพนธ์มีตัวการใหญ่ที่ร่วมอยู่ในขบวนการอีก 2 คน คือ นายพีรยุทธ์ และนายฐปนันทน์ ซึ่งตกลงแบ่งหน้าที่กันทำ โดยนายฐปนันทน์ทำหน้าที่ดูแลด้านการเงินและหาลูกค้ารายย่อย ด้วยการว่าจ้างให้บุคคลใกล้ชิดและบุคคลอื่นเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารสำหรับใช้โอนเงินค่ายาเสพติดให้โทษ โดยมีนายธัชพล ช่วยดูแลด้านการเงินที่ได้จากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนางสาวมธุรส ได้ขณะเบิกถอนเงินสดจากเครื่องเบิกถอนเงินสดพร้อมยึดบัตรเบิกถอนเงินสด 22 ใบ มีชื่อนางสาววลัยพรรณ เป็นเจ้าของบัญชี 10 บัญชี นางสาววลัยพรรณให้การว่า นายฐปนันทน์ว่าจ้างให้นางสาววลัยพรรณเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้สำหรับโอนเงินที่ได้จากเครือข่ายยาเสพติดให้โทษของนายฐปนันทน์กับพวก เมื่อพยานโจทก์ตรวจสอบความเชื่อมโยงการทำธุรกรรมทางการเงินของบัญชีเงินฝากในเครือข่ายยาเสพติดให้โทษ พบว่าบัญชีเงินฝากของนางสาววลัยพรรณมีการโอนไปยังกลุ่มบัญชีเงินฝากของนางสาวเจนจิรา นางสาวกัญญา นางสาวศิริพรรณ และจำเลยทั้งสอง เมื่อตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวของบัญชีพบว่ามีการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขามันนี่พาร์ค มาบุญครองเซ็นเตอร์ เลขที่บัญชี 788 – 2 – 09xxx – x ของจำเลยที่ 2 ไปยังบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปังดังเบซาร์ บัญชีเลขที่ 386 – 2 – 13xxx – x ของนางเซีย เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2554 จำนวน 310,000 บาท และมีการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว 2 เลขที่บัญชี 968 – 2 – 05xxx – x ของจำเลยที่ 1 ไปยังบัญชีดังกล่าวของนางเซีย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2555 จำนวน 600,000 บาท ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสี่ปากเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับ และมีสาระสำคัญตรงกับเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน โดยไม่ปรากฏข้อพิรุธ ทั้งเมื่อพิจารณาเอกสารประกอบแล้ว ปรากฏว่ามีเงินหมุนเวียนผ่านเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองเป็นจำนวนมากผิดปกติ โดยในช่วงวันที่ 14 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2555 บัญชีของจำเลยที่ 1 มีเงินหมุนเวียนถึง 22,000,000 บาทเศษ ส่วนบัญชีของจำเลยที่ 2 มีเงินหมุนเวียนช่วงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 เป็นจำนวนมากถึง 28,000,000 บาทเศษ โดยข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริตใด จึงมีเงินหมุนเวียนในบัญชีจำนวนมากเช่นนี้ อีกทั้งมีลักษณะเป็นการนำเงินเข้าและถอนออกจากบัญชีอย่างรวดเร็วส่อให้เห็นพิรุธ นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังโอนและรับโอนเงินจากบัญชีของบุคคลอื่นอีกหลายบัญชีโดยไม่ปรากฏที่มาที่ไปของเงินอย่างชัดเจน และจากการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของนางเซีย พบว่าเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 หลังจากถูกอายัดบัญชีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 พบว่าในการทำธุรกรรมทางบัญชีมีเงินหมุนเวียนมากถึง 400,000,000 บาทเศษ โดยนางเซียทำธุรกรรมทางบัญชีด้วยตนเองทุกครั้ง แต่ไม่ได้เข้าชี้แจงถึงที่มาของเงินในบัญชีตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานตำรวจ ผิดวิสัยของสุจริตชนเช่นเดียวกัน จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากดังกล่าวของนางเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินค่ายาเสพติดให้โทษของเครือข่ายนายฐปนันทน์กับพวกเช่นกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายธัชพล ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมขบวนการค้ายาเสพติดให้โทษของนายฐปนันทน์กับพวก ที่ดูแลบัญชีการเงินค่ายาเสพติดให้โทษ โดยจำเลยที่ 1 เป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายธัชพล ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพื่อนกับนางสาวเจนจิราคนรักของนายธัชพล และจำเลยทั้งสองรู้จักกัน ขณะจำเลยที่ 2 ไปทำธุรกรรมที่ตู้เบิกถอนเงินสดของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว 71 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยที่ 1 ก็อยู่ด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีความสนิทคุ้นเคยกันดี ประกอบกับจำเลยทั้งสองให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า รับจ้างเปิดบัญชีให้กับนายธัชพลเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของนายฐปนันทน์ โดยได้รับค่าจ้างบัญชีละ 30,000 บาท และได้รับค่าจ้างในการทำธุรกรรมครั้งละ 1,000 บาท นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังถูกฟ้องข้อหาสมคบกันฟอกเงินในลักษณะเดียวกันอีกหลายสำนวน ตามที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งบางคดีศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกไปแล้ว อันเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการสมคบกันฟอกเงิน สามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในการกระทำความผิดคดีนี้ของจำเลยทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2) แม้พยานโจทก์ปากนางสาวบุญญาภา รวมทั้งพยานในชั้นสอบสวนบางปากไม่ได้ซัดทอดถึงจำเลยทั้งสอง ก็ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้พยานหลักฐานของโจทก์มีข้อพิรุธน่าสงสัย เนื่องจากการกระทำความผิดในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของนายฐปนันทน์กับพวกเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากและแบ่งความรับผิดชอบออกเป็นหลายขั้นตอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ร่วมกระทำความผิดบางคนอาจไม่รู้จักกัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เมื่อประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดของโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีเข้าด้วยกันแล้วทำให้มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากเพื่อโอนหรือรับโอนเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในเครือข่ายค้ายาเสพติดให้โทษของนายฐปนันทน์กับพวก เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงิน หรือเพื่ออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งเงินนั้น อันเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันจริงตามฟ้อง ข้อที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า ถูกนายธัชพลซึ่งมีอาชีพค้าขายผักเมืองหนาวใช้ให้ไปติดต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาลาดพร้าว 71 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับจ้างเปิดบัญชีเงินฝากและไม่ได้โอนเงินค่ายาเสพติดให้โทษ ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายและข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารโดยไม่ได้อ่านข้อความ กับข้อที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า นายธัชพลขอร้องให้เปิดบัญชีธนาคารเพื่อทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดให้โทษ และในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารโดยไม่ได้อ่านข้อความ นั้น เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือมานำสืบให้เห็นสมจริง อีกทั้งเป็นข้อนำสืบที่ขัดต่อเหตุผลและขัดกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.38/2559, ฟย.75/2559, ฟย.76/2559 และ ฟย.12/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแล้ว และจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.77/2559, ฟย.80/2559, ฟย.12/2560 และ ฟย.19/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแล้วเช่นกัน จึงต้องนับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษจำคุกในคดีดังกล่าวตามคำขอของโจทก์

อนึ่ง ในส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฟย.50/2558 ของศาลชั้นต้นนั้น โจทก์อ้างมาในฎีกาว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟย.39/2560 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับมาในคำแก้ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วจริง จึงต้องนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีดังกล่าวตามคำขอของโจทก์ด้วย

พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้นับโทษจำคุกต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ฟย.39/2560 ของศาลชั้นต้น เพิ่มอีกคดีหนึ่งด้วย

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.358/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นางสาว ช. กับพวก

ชื่อองค์คณะ พิชัย เพ็งผ่อง อธิคม อินทุภูติ จรัญ เนาวพนานนท์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญา - นางพรชนก ณ ถลาง ศาลอุทธรณ์ - นายไชยวัฒน์ ไกรวิชญพงศ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE