คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3888/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 92, 93 (13), 343 วรรคแรก (เดิม) พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ม. 91 ตรี
คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ส่วนคดีนี้ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) ถึงแม้ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) ด้วย แต่ศาลลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองคนหางานโดยเฉพาะ มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด ฉะนั้น ในกรณีเช่นนี้จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งเพราะได้กระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกัน ตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) ไม่ได้ ต้องเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้ โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมาก็ตาม ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 93, 341, 343 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) ให้จำเลยคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 50,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย และนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3292/2561 หมายเลขแดงที่ อ.3564/2561 หมายเลขดำที่ อ.3710/2561 หมายเลขดำที่ อ.3882/2561 หมายเลขดำที่ อ.52/2562 หมายเลขดำที่ อ.162/2562 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงานฯ (ที่ถูก และคุ้มครองคนหางานฯ) พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงานฯ (ที่ถูก และคุ้มครองคนหางานฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุก 3 ปี ส่วนที่โจทก์ขอเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 อันเป็นการขอเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งเพราะกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อศาลลงโทษจำเลยบทหนักตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงานฯ (ที่ถูก และคุ้มครองคนหางานฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายบทหนัก จึงไม่อาจเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ได้ แต่ให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3292/2561 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3564/2561 ของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 50,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (ที่ถูก ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 50,000 บาท) คำขอนับโทษต่อในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3710/2561, อ.3882/2561, อ.52/2562 และ อ.162/2562 ของศาลชั้นต้น ให้ยกเนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1022/2557 คดีถึงที่สุดแล้ว คดีนี้โจทก์ขอเพิ่มโทษจำคุกเพราะจำเลยกลับมากระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดิมภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษคดีแรก จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอเพิ่มโทษและนับโทษต่อ ตามคำให้การลงวันที่ 31 มกราคม 2562 แม้จำเลยหลบหนียังไม่ได้เริ่มรับโทษจำคุกในคดีแรกก็ดี แต่ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้หมายจับคดีแรกยังไม่ขาดอายุความ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดอีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ เข้าเกณฑ์เพิ่มโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญาได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 นั้น เห็นว่า ในคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ส่วนคดีนี้ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) ถึงแม้ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก (เดิม) ด้วย แต่ศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองคนหางาน โดยเฉพาะมิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด ฉะนั้น ในกรณีเช่นนี้จะเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งเพราะได้กระทำความผิดซ้ำในอนุมาตราเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 (13) ไม่ได้ ต้องเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้ โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมาก็ตาม ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 92 ซึ่งเป็นบทเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่ง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ศาลลงโทษจำเลยเกินกว่าโทษที่จำเลยต้องรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หรือไม่ เห็นว่า ตามฎีกาของจำเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คดีเหล่านั้นมีความเกี่ยวพันกับคดีนี้อย่างไร ในอันที่จะวินิจฉัยว่าจะต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) หรือไม่ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่าให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 92 เป็นจำคุก 4 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1358/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นาย ช.
ชื่อองค์คณะ ประยูร ณ ระนอง วีรวิทย์ สายสมบัติ โสภณ โรจน์อนนท์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญา - นายสันทัศน์ นิภาวงศ์ ศาลอุทธรณ์ - นายปริญญา อิทธิวิกุล