สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3931/2529

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ADMIN 3931/2529

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1639 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 87 (2), 88, 142 (2), 226, 249

จำเลยยื่นบัญชีพยานจำเลยในวันสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนบัญชีพยานดังกล่าวอ้างตัวจำเลยทั้งสามซึ่งแม้เป็นกรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การกฎหมายก็ยังให้จำเลยเบิกความเป็นพยานตนเองได้และปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่าเหตุที่ไม่ได้ยื่นบัญชีพยานตามกำหนดเพราะทนายจำเลยติดการประชุมสภาจังหวัดการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีพยานโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา88วรรคสามจึงชอบแล้ว จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วโดยอ้างว่ายังบกพร่องอยู่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโจทก์แถลงคัดค้านแต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบเพิกถอนคำสั่งแล้วสั่งใหม่ว่าสำเนาให้โจทก์โจทก์แถลงคัดค้านเมื่อศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตใหม่โจทก์ไม่ได้คัดค้านคำสั่งนี้ไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226ดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบถือว่าไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นหลานเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดกแทนที่มารดาโจทก์เจ้ามรดกมีที่ดิน3แปลงได้ยกให้โจทก์ก่อนเจ้ามรดกตายโจทก์ครอบครองตลอดมาเกินกว่า10ปีแล้วจำเลยที่1ที่2โอนที่ดินทั้ง3แปลงแก่จำเลยที่3ขอให้พิพากษาว่าที่ดินทั้ง3แปลงเป็นของโจทก์และเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยเมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่าที่ดินทั้ง3แปลงเป็นมรดกและเจ้ามรดกมิได้ยกให้โจทก์แต่โจทก์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกแทนที่มารดาโจทก์ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยเฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิรับมรดกและให้โอนที่ดินที่เพิกถอนนั้นแก่โจทก์.

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนางน้อยผู้เป็นพี่น้องบิดามารดาเดียวกันกับนางสุข นางน้อยถึงแก่ความตายก่อนนางสุข นางสุขถึงแก่ความตายเมื่อ พ.ศ. 2524 ไม่มีสามีโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีทายาทอื่นนอกจากโจทก์ซึ่งเป็นหลาน โจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่มารดาโจทก์ นางสุขมีที่ดินปลูกบ้าน 1 แปลง ที่นา 3 แปลง เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนฟ้อง นางสุขยกที่ดินปลูกบ้านและที่นาแปลงที่ 1 กับที่ 2ให้แก่โจทก์ แต่ยังไม่ได้โอนทางทะเบียน โจทก์ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของเกิน 10 ปีแล้ว ศาลสั่งตั้งโจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุข จำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนที่ดินทั้ง 3 แปลงแก่จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับนางเที่ยงขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องและสั่งว่าการโอนที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงทางทะเบียนแก่จำเลยที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้เพิกถอนการโอนดังกล่าว จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีนางสุข จำเลยที่ 2 เป็นหลานนางสุขและเป็นทายาท จำเลยที่ 3 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับนางสุข ที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงเป็นของจำเลยที่ 1 ร่วมกับนางสุขไม่เคยยกให้โจทก์ โจทก์เข้าครอบครองในฐานะผู้เช่า มิใช่เจ้าของ จำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ตามหน้าที่และมติของเสียงข้างมากของผู้จัดการมรดกได้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นางสุขมิได้ยกที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงแก่โจทก์ที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงเป็นมรดกของนางสุข แต่จำเลยที่ 3 เป็นบุตรของนางสุขอันเป็นทายาทลำดับ 1 ส่วนโจทก์เป็นทายาทในลำดับถัดลงไป ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้มีปัญหาประการแรกว่าการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีพยานและบัญชีพยานเพิ่มเติมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปรากฏตามสำนวนว่าจำเลยยื่นบัญชีพยานจำเลย ฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2526ในวันสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนนั้น บัญชีพยานดังกล่าวเป็นการอ้างตัวจำเลยทั้งสามซึ่งแม้เป็นกรณีจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ กฎหมายก็ยังให้จำเลยเบิกความเป็นพยานตนเองได้ และปรากฏตามคำร้องของจำเลยว่า เหตุที่ไม่ได้ยื่นบัญชีพยานตามกำหนดเพราะทนายจำเลยติดการประชุมสภาจังหวัด ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีพยานโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสามจึงชอบแล้ว ส่วนบัญชีพยานเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2526 นั้น จำเลยยื่นภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วโดยอ้างว่ายังบกพร่องอยู่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โจทก์แถลงคัดค้าน แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวยังไม่เปิดโอกาสให้โจทก์คัดค้าน ถือว่าไม่ชอบและได้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งใหม่ว่าสำเนาให้โจทก์ โจทก์แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตโจทก์ไม่ได้คัดค้านคำสั่งนี้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่านางสุขไม่ได้ยกที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงแก่โจทก์และที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงเป็นมรดกของนางสุข จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นบุตรของนางสุขจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนางสุข นางสุขมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 6 คนคือ นางบึ้ง นายบัว นางน้อย นางโม้ว นางแดง และนางสุข บุคคลทั้ง 6ถึงแก่ความตายหมดแล้ว ทายาทนางสุขมี 4 คน คือนางจวงเป็นบุตรนายบึ้งนายอำคาเป็นบุตรนายบัว โจทก์เป็นบุตรนางน้อยซึ่งตายก่อนนางสุขเจ้ามรดกและจำเลยที่ 2 เป็นบุตรนางแดง ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกของนางสุขแทนที่นางน้อยหนึ่งในสี่ส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงระหว่างจำเลยทั้งสามเพียงหนึ่งในสี่ส่วนแล้วโอนที่ดินที่เพิกถอนแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา ADMIN

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย พรม สำลี จำเลย - นาย คูณ ชาชุมพร กับพวก

ชื่อองค์คณะ สาระ เสาวมล สหัส สิงหวิริยะ เสวก จันทร์ผ่อง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE