คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3942/2529
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 90, 91, 251, 252, 265, 268 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158, 195, 218
การที่จะวินิจฉัยว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาฐานความผิดเป็นกระทง ๆ ไปศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดรวม 6 กระทงซึ่งแต่ละกระทงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เมื่อการกระทำของจำเลยในขั้นตอนที่ทำปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ไทยประจำกรุงเบรุต แล้วเอารอยตราปลอมนั้นไปประทับลงในหนังสือเดินทางปลอม ก็เพื่อให้หนังสือเดินทางปลอมที่จำเลยทำขึ้นมีลักษณะข้อความและรอยตราที่ประทับเหมือนของจริง เมื่อผู้ใดพบเห็นจะได้หลงเชื่อและเข้าใจว่าเป็นหนังสือเดินทางที่แท้จริงอันเป็นการปลอมหนังสือเดินทางทั้งฉบับให้สำเร็จบริบูรณ์ดังเจตนาของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบทคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 กับมาตรา 251 กระทงหนึ่งต่อมาเมื่อจำเลยนำหนังสือเดินทางนั้นไปใช้แสดง ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตรวจประทับตราเดินทาง ออกไปนอกราชอาณาจักรและเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 3 ครั้ง แม้จะเป็นการใช้ในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นการใช้คนละเวลา คนละครั้งต่างกรรมกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรม คือมีความผิดตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265และมาตรา 251 ประกอบด้วย มาตรา 252 ซึ่งมาตรา 263ให้ลงโทษตามมาตรา 251 แต่กระทงเดียว เมื่อจำเลยเป็นผู้ทำรอยตราปลอมอันเป็นความผิดตามมาตรา 251และได้ใช้รอยตราปลอมนั้นอันเป็นความผิดตามมาตรา 252รวม 3 ครั้ง ในการใช้ครั้งแรก จำเลยทำรอยตราปลอมและใช้รอยตราปลอมด้วย จึงมีความผิดตามมาตรา 251ประกอบด้วยมาตรา 263 กระทงหนึ่ง แต่ในการใช้ครั้งที่สองและที่สาม จำเลยมิได้ปลอมรอยตราขึ้นอีกคงใช้รอยตราปลอม อันเก่านั้นเอง จึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมอย่างเดียว ตามมาตรา 252 อีก 2 กระทง รวมทั้งสิ้น 3 กระทง ที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยรวม 6 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 251, 252, 263, 264, 265, 268, 91 เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตาม มาตรา 268 3 กระทง กระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 6 ปี ฐานปลอมดวงตราและใช้ดวงตราปลอมลงโทษตาม มาตรา 251 กระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี รวมจำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ของกลางริบ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "การที่จะวินิจฉัยว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ชอบที่จะพิจารณาในฐานความผิดเป็นกระทง ๆ ไป คดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดรวม 6 กระทง ซึ่งแต่ละกระทงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยจ้างให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทำหนังสือเดินทางดังกล่าวให้ โดยจำเลยมิได้เป็นผู้ไปติดต่อกับทางราชการด้วยตนเองจำเลยไม่ทราบว่าหนังสือเดินทางดังกล่าวเป็นหนังสือเดินทางปลอมและขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบา ศาลฎีกาเห็นว่าล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาและในการพิจารณาของศาลฎีกาปรากฏว่าคำฟ้องโจทก์แม้จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดรวม 6 กระทง แต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า จำเลยได้ปลอมหนังสือเดินทางประเทศไทยซึ่งเป็นเอกสารราชการของกระทรวงต่างประเทศเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และจำเลยได้ปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงเบรุตประเทศเลบานอน อันเป็นส่วนราชการของกระทรวงต่างประเทศแล้วประทับรอยตราปลอมดังกล่าวในหนังสือเดินทางประเทศไทยที่จำเลยทำปลอมขึ้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าการกระทำของจำเลยในขั้นตอนที่ทำปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงเบรุต ประเทศเลบานอนแล้วเอารอยตราปลอมนั้นไปประทับลงในหนังสือเดินทางปลอมก็เพื่อให้หนังสือเดินทางปลอมที่จำเลยทำขึ้นมีลักษณะข้อความและรอยตราที่ประทับเหมือนของจริง เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดพบเห็นจะได้หลงเชื่อและเข้าใจว่าเป็นหนังสือเดินทางที่แท้จริงอันเป็นการปลอมหนังสือเดินทางทั้งฉบับให้สำเร็จบริบูรณ์สมดังเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท คือมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 กับมาตรา 251 กระทงหนึ่งต่อมาเมื่อจำเลยนำหนังสือเดินทางที่จำเลยทำปลอมขึ้นและมีรอยตราปลอมประทับดังกล่าวไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เพื่อตรวจประทับตราเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรรวม 3 ครั้ง แม้จะเป็นการใช้ในลักษณะเดียวกัน แต่ก็เป็นการใช้คนละเวลา คนละครั้ง ต่างกรรมกันการกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา 251 ประกอบด้วย มาตรา 252แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 263 บัญญัติว่า"ถ้าผู้กระทำผิดตามมาตรา 251 ฯลฯ ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ อันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดจากการกระทำผิดนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นมาตรา 251 ฯลฯ แต่กระทงเดียว" ดังนั้นเมื่อจำเลยเป็นผู้ทำรอยตราปลอมอันเป็นความผิดตามมาตรา 251และได้ใช้รอยตราปลอมนั้นอันเป็นความผิดตามมาตรา 252 รวม 3 ครั้งดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ในการใช้ครั้งแรกจำเลยทำรอยตราปลอมและใช้รอยตราปลอมด้วย จึงมีความผิดตามมาตรา 251 ประกอบด้วยมาตรา 263 กระทงหนึ่ง แต่ในการใช้ครั้งที่สองและครั้งที่สามจำเลยมิได้ปลอมรอยตราขึ้นอีก คงใช้รอยตราปลอมอันเก่านั้นเองจึงมีความผิดฐานใช้รอยตราปลอมอย่างเดียวตามมาตรา 252 อีก 2 กระทงรวมทั้งสิ้น 3 กระทง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยรวม 6 กระทงจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำเอกสารปลอมและทำรอยตราปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 251 กระทงหนึ่งซึ่งโทษตามมาตรา 251 เป็นบทหนัก กับมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและใช้รอยตราปลอมครั้งแรก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา 252 อีกด้วย ซึ่งโทษตามมาตรา 252เป็นบทหนัก ตามมาตรา 263 บัญญัติให้ลงโทษตามมาตรา 251 กระทงเดียวคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี กับมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและใช้รอยตราปลอมอีก 2 ครั้ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 265 และมาตรา 252 ให้ลงโทษตามมาตรา 252 ซึ่งเป็นบทหนักตามอัตราโทษในมาตรา 251 รวม 2 กระทง กระทงละ 3 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพคดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลย 4 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์"
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan
แหล่งที่มา เนติบัณฑิตยสภา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - อัยการ กรมอัยการ จำเลย - นางสาว ทอง มา ลือ นาม
ชื่อองค์คณะ อำนวย อินทุภูติ ดำริ ศุภพิโรจน์ สมศักดิ์ เกิดลาภผล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan