คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3949/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 137, 267 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 2 (4), 158 (5) พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 42 (2)
ความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 267 โจทก์ได้บรรยายไว้ในตอนท้ายของฟ้องข้อ 2 ว่า ข้อความที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนบริษัทและคำรับรองการจดทะเบียนล้วนเป็นความเท็จ เพราะแท้ที่จริงแล้วโจทก์ไม่เคยทราบถึงการบอกกล่าวนัดประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 และไม่ได้เข้าประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมครบจำนวน 3 คน และนับจำนวนหุ้นได้ 40,000 หุ้น ตามที่จำเลยทำคำรับรอง อันเป็นการบรรยายชี้ชัดลงไปแล้วว่าข้อความใดเป็นจริงและข้อความใดเป็นเท็จ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้วเมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนว่าได้มีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและจัดให้มีการประชุม เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อว่ามีการประชุมจริงจึงรับจดทะเบียนแก้ไขให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการลงชื่อผูกพันบริษัทได้ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทเป็นว่าไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทอีกต่อไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ได้โจทก์และจำเลยร่วมกันก่อตั้งบริษัท อ. มีโจทก์ จำเลยและ ด. ญาติของจำเลยเป็นผู้ถือหุ้น อันมีลักษณะเป็นบริษัทของครอบครัว การกระทำของจำเลยที่อ้างส่งเอกสารเท็จและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัท จึงเป็นเพียงการแย่งเอาอำนาจการบริหารจัดการบริษัทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ของบริษัท รวมตลอดถึงหุ้นก็ยังคงเป็นของบริษัท และผู้ถือหุ้นรายเดิมในสัดส่วนจำนวนหุ้นเท่าเดิม ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อลวงให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 137, 267 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาและร่วมกันก่อตั้งบริษัท อ. มีโจทก์และจำเลยเป็นกรรมการสองคนลงชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญกระทำการผูกพันบริษัทได้ โดยบริษัทมีหุ้นทั้งหมด 40,000 หุ้น โจทก์ถือหุ้น 19,600 หุ้น จำเลยถือหุ้น 18,400 หุ้น และนางสาวดลรวี ถือหุ้น 2,000 หุ้น ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยลงชื่อรับรองคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ และคำรับรองการจดทะเบียนบริษัท โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นเท็จและอ้างส่งเอกสารเท็จเหล่านั้นต่อนายทะเบียน สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัด เพื่อขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโดยเอาชื่อโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และให้จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนว่าได้มีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 และจัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 ณ บ้านเลขที่ 99/126 มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมจำนวน 3 คน นับจำนวนหุ้นได้ 40,000 หุ้น โดยจำเลยเป็นประธานที่ประชุม เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อว่ามีการประชุมจริงจึงรับจดทะเบียนแก้ไขให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการลงชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการผูกพันบริษัทได้
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 โจทก์ต้องบรรยายว่าข้อความใดเป็นจริงและข้อความใดเป็นเท็จที่แตกต่างจากความเป็นจริงให้ปรากฏอยู่ในคำฟ้องด้วย เมื่อโจทก์ไม่บรรยายจึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น พิเคราะห์แล้ว โจทก์ได้บรรยายไว้ในตอนท้ายของฟ้องข้อ 2 ว่า ข้อความที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนบริษัทและคำรับรองการจดทะเบียนล้วนเป็นความเท็จ เพราะแท้ที่จริงแล้วโจทก์ไม่เคยทราบถึงการบอกกล่าวนัดประชุมเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 และไม่ได้เข้าประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมครบจำนวน 3 คน และนับจำนวนหุ้นได้ 40,000 หุ้น ตามที่จำเลยทำคำรับรอง อันเป็นการบรรยายชี้ชัดลงไปแล้วว่าข้อความใดเป็นจริงและข้อความใดเป็นเท็จ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2) จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้ว เมื่อจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนว่าได้มีการบอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 และจัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 ณ บ้านเลขที่ 99/126 มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมจำนวน 3 คน นับจำนวนหุ้นได้ 40,000 หุ้น โดยจำเลยเป็นประธานที่ประชุม ตามคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อว่ามีการประชุมจริงจึงรับจดทะเบียนแก้ไขให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นกรรมการลงชื่อผูกพันบริษัทได้ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัทเป็นว่าไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทอีกต่อไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์และจำเลยร่วมกันก่อตั้งบริษัท อ. มีโจทก์ จำเลยและนางสาวดลรวี ญาติของจำเลยเป็นผู้ถือหุ้น อันมีลักษณะเป็นบริษัทของครอบครัว การกระทำของจำเลยที่อ้างส่งเอกสารเท็จและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัท จึงเป็นเพียงการแย่งเอาอำนาจการบริหารจัดการบริษัทมาเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ของบริษัท รวมตลอดถึงหุ้นก็ยังคงเป็นของบริษัท และผู้ถือหุ้นรายเดิมในสัดส่วนจำนวนหุ้นเท่าเดิม ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อลวงให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ มาตรา 42 (2) ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
อนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษมานั้น แม้คดีนี้จะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ พิเคราะห์แล้ว เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเพียงการแย่งอำนาจการบริหารจัดการบริษัทอันเป็นธุรกิจของครอบครัว ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป แต่เพื่อให้จำเลยได้สำนึกในความผิดที่กระทำไปแล้ว และไม่กระทำความผิดอื่นใดอีกเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 267 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (2)
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1653/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ว. จำเลย - นาง ภ.
ชื่อองค์คณะ นิยุต สุภัทรพาหิรผล อาเล็ก จรรยาทรัพย์กิจ จักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรสาคร - นางสาวสุชนาภัสร์ แสงโสมไพศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายสัมพันธ์ บุนนาค