สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2563

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 4, 6 (1), 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสอง (เดิม)

"การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4 เป็นนิยามที่มุ่งหมายถึงการกระทำอย่างอื่นที่มีลักษณะของการบีบบังคับเพื่อหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นของการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม

ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กและเป็นลูกจ้างต้องทำงานตั้งแต่เวลา 2 หรือ 3 นาฬิกา จนถึง 18 นาฬิกา เฉลี่ยวันละ 15 ชั่วโมง ต่อวันทุกวัน และได้รับค่าจ้างเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 200 บาท ต่อวัน ซึ่งเทียบกับเวลาทำงานแล้วถือว่าต่ำมาก ทั้งหากทำงานไม่ครบกำหนดเวลาก็จะไม่ได้ค่าจ้าง โดยไม่มีวันหยุดปกติและไม่ได้ค่าล่วงเวลาและค่าจ้างพิเศษ มีเวลาพักระหว่างทำงานในช่วงรับประทานอาหารเช้าและกลางวันครั้งละไม่เกิน 15 ถึง 30 นาที และต้องทำงานเหมือนผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงเจตนาเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมและเป็นการขูดรีดโดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์อันเป็นมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานปกติของลูกจ้างโดยให้ทำงานเกินเวลาและเกินความคุ้มค่าการทำงานของลูกจ้างอย่างมาก แต่ลูกจ้างกลับได้รับค่าจ้างในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าปริมาณงานที่ทำ โดยอาศัยเงื่อนไขว่าหากทำงานไม่ครบเวลาทำงานต่อวันจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้นมาเป็นวิธีการบังคับให้ผู้เสียหายไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมทำงานให้ได้ค่าจ้างครบ อันเป็นการบีบบังคับเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเข้าองค์ประกอบของเจตนาที่แสวงหาประโยชน์โดยวิธีการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานกระทำการค้ามนุษย์

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 52 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 63, 64 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 5, 12, 50 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26, 78 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24, 25, 26, 45, 47, 48, 54, 61, 64, 70, 76, 90, 108, 112, 114, 144, 145, 146 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ 1 แก้ไขคำให้การรับว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นยังคงให้การปฏิเสธ

โจทก์ยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 35 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,199,500 บาท

จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 50 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (6), 78 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง, 25 วรรคหนึ่ง, 26, 45 ( 1), 47 วรรคหนึ่ง, 48, 61, 64, 76, 90 วรรคหนึ่ง, 108, 112, 114 วรรคหนึ่ง, 144 (เดิม), 146 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่ผ่านการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่มีหนังสือเดินทาง จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้พ้นจากการจับกุม จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันใช้ จ้างวาน เด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีให้ทำงานอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและเมื่อรวมกันแล้วชั่วโมงทำงานเกินกว่าสามสิบหกชั่วโมงต่อหนึ่งสัปดาห์ จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างหักค่าจ้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่สิบคนขึ้นไปไม่จัดทำทะเบียนลูกจ้าง ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่แจ้งนายทะเบียนว่ามีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุด จำคุกคนละ 2 เดือน รวมจำคุกคนละ 3 ปี 26 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาตมาโดยตลอด มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษฐานตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน และฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 3 ปี 20 เดือน หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และยกคำร้องขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามสิบเอ็ดของโจทก์

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม) 52 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 ปีการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 6 กรรม จำคุกคนละ 36 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เมื่อรวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานอื่นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 37 ปี 20 เดือน ปรับ 20,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 37 ปี 26 เดือน และปรับ 20,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 29,200 บาท และผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 41,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกา ปัญหาข้อเท็จจริง และอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายทั้งสามสิบเอ็ดเป็นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โรงงานที่เกิดเหตุเลขที่ 209/13 ตั้งขึ้นและประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ร่วมประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวและร่วมกันเป็นนายจ้าง วันที่ 26 ตุลาคม 2558 ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 12 ซึ่งเป็นสามีภริยากันและทำงานอยู่ที่โรงงานดังกล่าวหลบหนีออกจากโรงงาน วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายที่ 11 ถูกคนนำกลับไปที่โรงงาน ผู้เสียหายที่ 12 แจ้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานหรือมูลนิธิ LPN เจ้าหน้าที่มูลนิธิสอบผู้เสียหายที่ 12 แล้ว มีหนังสือแจ้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมทราบ พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขออนุมัติศาลชั้นต้นออกหมายค้นโรงงานที่เกิดเหตุ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจค้นโรงงานดังกล่าว พบจำเลยทั้งสามและคนงานแกะเปลือกกุ้งอยู่ในโรงงาน คนงานที่อยู่ภายในโรงงานเป็นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 77 คน โดยเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีเอกสารการเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมาย 42 คน เป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารการเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร 35 คน ซึ่งมีผู้เสียหายทั้งสามสิบเอ็ดรวมอยู่ด้วย จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นเจ้าของโรงงานดังกล่าว ในวันเดียวกันนั้นเจ้าพนักงานตำรวจพบผู้เสียหายที่ 11 ทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งในย่านเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยึดเอกสารสมุดบัญชีธนาคาร เครื่องบันทึกกล้องวงจรปิด เครื่องบันทึกข้อมูลคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของกลาง ตามแบบบันทึกการเก็บพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เข้าสอบสภาพการจ้างแรงงานและสอบปากคำนายจ้างและลูกจ้างในโรงงานที่เกิดเหตุตามบันทึกคำให้การจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายทั้งสามสิบเอ็ดถูกส่งตัวไปสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดปทุมธานี ทีมสหวิชาชีพทำการสอบปากคำผู้เสียหายที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ถึงที่ 19 ที่ 21 ที่ 22 ที่ 23 ที่ 27 ที่ 30 และที่ 31 ตามรายงานการประชุม เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสาม พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธตามบันทึกคำให้การ ความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันกระทำผิดฐานค้ามนุษย์แก่ผู้เสียหายที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 10 ถึงที่ 31 หรือไม่ และจำเลยที่ 3 ร่วมกันกระทำผิดฐานค้ามนุษย์แก่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 หรือไม่ กับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานค้ามนุษย์แก่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 ข่มขู่หรือใช้กำลังบังคับผู้เสียหายทั้งสามสิบเอ็ดให้ทำงานเเกะเปลือกกุ้งในโรงงานที่เกิดเหตุ จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 อย่างไรก็ตามมาตรา 6 (2) ซึ่งเป็นกรณีผู้เสียหายเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ไม่จำต้องอาศัยองค์ประกอบในส่วนวิธีการข่มขู่ ใช้กำลังบังคับ แม้สมัครใจทำงานก็เข้าองค์ประกอบความผิดได้หากผู้กระทำความผิดรับผู้เสียหายที่เป็นเด็กไว้โดยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยมาตรา 4 นิยามคำว่า แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้าหรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จึงต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 จัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 โดยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบที่เป็นการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลด้วยหรือไม่ คำว่า "การอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล" เป็นนิยามที่มุ่งหมายถึงการกระทำอย่างอื่นที่มีลักษณะของการบีบบังคับเพื่อหาผลประโยชน์ในรูปแบบอื่นของการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ในกรณีนี้ หากทำงานไม่ครบเวลาทำงานที่กำหนดจะถูกตัดค่าจ้างและจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้นซึ่งเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 2 หรือ 3 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1 เปิดโรงงานทุกวัน หากไม่มีกุ้งลงจึงหยุดงาน มีเวลาพักประมาณ 12 ถึง 13 นาฬิกา ที่เข้าไปสอบปากคำเบิกความยืนยันการสอบปากคำและทำบันทึกดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งความถูกต้องของบันทึกคำให้การ จึงมีน้ำหนักให้รับฟังว่าเวลาตั้งแต่ 2 นาฬิกา ถึง 18 นาฬิกา เป็นเวลาทำงานปกติของโรงงาน ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เวลาทำงานดังกล่าวเป็นเรื่องที่คนงานเคยทำงานตามกันมาไม่ใช่เป็นกฎระเบียบของโรงงาน และเป็นระยะเวลาที่คนงานพูดโดยรวม ๆ ไม่ใช่เวลาแน่นอนจึงฟังไม่ขึ้น และแม้ผู้เสียหายเวลาพักงานแล้วแต่ตกลงกันเองแต่ก็ได้ความว่าเป็นการพักสั้น ๆ เพื่อรับประทานอาหารระหว่างวันจึงไม่ใช่ข้อที่ทำให้เห็นว่าคนงานเลือกกำหนดเวลาทำงานเองทั้งวัน ในส่วนวันหยุดที่เป็นวันพระใหญ่บ้าง วันเข้าพรรษาบ้าง วันออกพรรษาบ้างนั้น ก็เป็นเพียงวันหยุดตามประเพณีเท่านั้นไม่ใช่สิ่งบ่งชี้ว่าคนงานสามารถเลือกกำหนดวันหยุดทำงานปกติเมื่อไรอย่างไรก็ได้ จ่ายค่าจ้างเป็นกิโลตามที่ทำได้ โดยเฉลี่ยแล้วจะได้เงินคนละ 200 บาท ต่อวัน ข้อเท็จจริงรับฟังผู้เสียหายเป็นเด็กและเป็นลูกจ้างต้องทำงานตั้งแต่เวลา 2 หรือ 3 นาฬิกา จนถึง 18 นาฬิกา เฉลี่ยวันละ 15 ชั่วโมง ต่อวันทุกวัน และได้รับค่าจ้างเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 200 บาท ต่อวันซึ่งเทียบกับเวลาทำงานแล้วถือว่าต่ำมาก ทั้งหากทำงานไม่ครบกำหนดเวลาก็จะไม่ได้ค่าจ้าง โดยไม่มีวันหยุดปกติและไม่ได้ค่าล่วงเวลาและค่าจ้างพิเศษ มีเวลาพักระหว่างทำงานในช่วงรับประทานอาหารเช้าและกลางวันครั้งละไม่เกิน 15 ถึง 30 นาที และต้องทำงานเหมือนผู้ใหญ่ แสดงให้เห็นถึงเจตนาเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมและเป็นการขูดรีดโดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์อันเป็นมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานปกติของลูกจ้างโดยให้ทำงานเกินเวลาและเกินความคุ้มค่าการทำงานของลูกจ้างอย่างมาก แต่ลูกจ้างกลับได้รับค่าจ้างในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าปริมาณงานที่ทำ โดยอาศัยเงื่อนไขว่าหากทำงานไม่ครบเวลาทำงานต่อวันจะไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้นมาเป็นวิธีการบังคับให้ผู้เสียหายไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมทำงานให้ได้ค่าจ้างครบ อันเป็นการบีบบังคับเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเข้าองค์ประกอบของเจตนาที่แสวงหาประโยชน์โดยวิธีการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานกระทำการค้ามนุษย์แก่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) (เดิม), 52 วรรคสอง (เดิม) ฐานร่วมกันค้ามนุษย์ จำคุกคนละ 6 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่ผ่านการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่มีหนังสือเดินทาง จำคุกคนละ 2 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานอื่นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี 20 เดือนเเละปรับ 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี 26 เดือน เเละปรับ 20,000 บาท นอกจากที่เเก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.46/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร จำเลย - นาย ธ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ชัยพัฒน์ ชินวงศ์ วีรวิทย์ สายสมบัติ กษิดิศ มงคลศิริภัทรา

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสมุทรสาคร - นายสมหวัง ธนถาวรลาภ ศาลอุทธรณ์ - นายชูศักดิ์ ทองวิทูโกมาลย์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE