คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4038/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 (1), 276, 284
จำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางพาผู้เสียหายไปยังที่เกิดเหตุ จากนั้นใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นเพียงพาหนะที่ใช้พาไปยังที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงไม่อาจริบได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 276, 284 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานางสาว น. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องในคดีส่วนแพ่ง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง โดยแถลงรับว่าผู้ร้องได้รับความเสียหายตามที่เรียกร้องจริง แต่จำเลยไม่สามารถชำระได้ และจำเลยวางเงิน 50,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่ง, 284 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทน 950,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 6 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 ปี ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ต่อสู้คดี ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง และจำเลยคงอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นนักศึกษา และอยู่ระหว่างกำลังเดินทางไปทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย จึงไม่คาดคิดว่าจะมีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้น จำเลยหาโอกาสหลอกลวงพาผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา ทั้งยังใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายเพื่อมิให้ขัดขืน เป็นการกระทำที่อุกอาจไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง และทำให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงต้องได้รับความอับอาย เป็นการสร้างความเสื่อมเสีย สร้างมลทินให้แก่ผู้เสียหาย ซึ่งยังคงต้องใช้ชีวิตต่อไปในสังคมอีกยาวนาน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมในวงกว้างในด้านความปลอดภัยในชีวิตร่างกาย นอกจากนั้น ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 439/2552 ของศาลจังหวัดนนทบุรี และพ้นโทษจำคุกในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2554 จำเลยกลับไม่สำนึกในการกระทำความผิด มิได้คำนึงถึงความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของผู้อื่น ยังคงกลับมาก่อเหตุในลักษณะเดียวกันเป็นคดีนี้ขึ้นอีก หากมิลงโทษโดยเด็ดขาดแล้ว จำเลยจะไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองและหลาบจำ จึงเห็นควรลงโทษจำเลยสถานหนัก ซึ่งความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลย ประกอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหาย ผลกระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ตลอดจนพฤติการณ์อื่น ๆ แห่งคดีโดยตลอดแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ก่อนลดโทษนั้นเป็นโทษที่เบาเกินไป คำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งกำหนดโทษจำคุกจำเลยไว้ 15 ปี ก่อนลดโทษนั้น นับว่าเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน 1 กข นครปฐม 94 ของกลาง เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอันพึงต้องริบตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ขับรถจักรยานยนต์ของกลางพาผู้เสียหายไปยังที่เกิดเหตุบริเวณป่าละเมาะข้างบ่อน้ำในซอยหมู่บ้าน ส. และที่ห้องพัก โรงแรม ว. จากนั้นใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้เสียหายตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ย่อมเป็นความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น โดยจำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงในวาระเดียวกัน และเห็นได้ว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางก็เพื่อพาผู้เสียหายไปยังที่เกิดเหตุต่าง ๆ แล้วจึงกระทำความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น รถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าวเป็นเพียงพาหนะที่ใช้พาไปยังที่เกิดเหตุเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงจึงไม่อาจริบได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ใช้บังคับโดยมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1267/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม ผู้ร้อง - นางสาว น. จำเลย - นาย อ.
ชื่อองค์คณะ สมพงษ์ เหมวิมล สุนทร เฟื่องวิวัฒน์ ปวีณณา ศรีวงษ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดนครปฐม - นายภาคภูมิ ธัญญาวินิชกุล ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายสุวิทย์ ทวีชุมพล