คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2567
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326, 328, 329
การที่จำเลยพิมพ์ข้อความ "#ท่าน ม.หัวหน้าพรรค ท. #ขอติดตามความคืบหน้ากรณีแต่งตั้งปลัดกระทรวงที่อยู่ระหว่างการถูกสอบ #ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ออกเมื่อ 27 มีนาคม 2561 #ใครรับผิดชอบเรื่องนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วจะปล่อยให้ความไม่ถูกต้องอยู่แบบนี้หรือ #ขอขอบคุณภาพและข่าวจากสำนักข่าวไทยอสมท ท่าน สส. ม. เรื่องนี้ท่านต้องติดตามนะครับว่าสรุปแล้วเป็นอย่างไรเท่าที่ทราบมีการตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว กรรมการสรุปแล้วว่ามีความผิดจริงแต่เป็นความผิดเล็กน้อย ขอโทษนะครับถ้าเป็นมาตรฐานความผิดที่ ปปช. ลงดาบมาตลอดสำหรับการใช้รถหลวง ใช้เวลาหลวงไปใช้ในกิจการส่วนตัว ปปช. ไม่ไล่ออกก็ให้ออกครับไม่ใช่ความผิดเล็กน้อยแบบนี้ คงต้องอาศัยท่าน สส. ม. สส. ขวัญใจประชาชนติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วยครับ"… ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เห็นว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นตำแหน่งราชการสูงสุดของข้าราชการประจำกระทรวงอุตสาหกรรม จึงนับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่ในสายตาของสาธารณะการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรู้ความสามารถ ตลอดจนจริยธรรมและคุณธรรม และการติดตามผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยสุจริตย่อมเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ การที่จำเลยติดตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงภายในกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมีหนังสือร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการ ปปช. เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของปลัดกระทรวง พิมพ์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในเว็บไซต์เฟซบุ๊กย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการแจ้งให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใช้ดุลพินิจตรวจสอบบุคคลสาธารณะ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยนำเสนอข้อมูลในเว็บไซต์เฟซบุ๊กโดยไม่สุจริตอย่างไร ต้องการสร้างความเสียหายหรือประสงค์ให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เพราะเหตุใดตามหน้าที่ภาระการพิสูจน์ของโจทก์ตามกฎหมายในคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ลงโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 จำเลยใช้ชื่อบัญชีในเว็บไซต์เฟซบุ๊กว่า "ศ." พิมพ์ข้อความลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊กว่า "#ท่าน ม. หัวหน้าพรรค ท. #ขอติดตามความคืบหน้ากรณีแต่งตั้งปลัดกระทรวงที่อยู่ระหว่างการถูกสอบ #ขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ออกเมื่อ 27 มีนาคม 2561 #ใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วจะปล่อยให้ความไม่ถูกต้องอยู่แบบนี้หรือ #ขอขอบคุณภาพและข่าวจากสำนักข่าวไทยอสมท ท่าน สส. ม. เรื่องนี้ท่านต้องติดตามนะครับว่าสรุปแล้วเป็นอย่างไรเท่าที่ทราบว่ามีการตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงแล้วและกรรมการสรุปแล้วว่ามีความผิดจริงแต่เป็นความผิดเล็กน้อย ขอโทษนะครับถ้าเป็นมาตรฐานความผิดที่ ปปช. ลงดาบมาตลอดสำหรับการใช้รถหลวง ใช้เวลาหลวงไปใช้ในกิจการส่วนตัว ปปช. ไม่ไล่ออกก็ให้ออกครับไม่ใช่ความผิดเล็กน้อยแบบนี้ คงต้องอาศัยท่าน สส. ม. สส.ขวัญใจประชาชนติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ด้วยนะครับ "# "ม." แจ้งความดำเนินคดีรมต.-ปลัดอุตฯ-สำนักข่าวไทย อสมท""
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า ลำพังข้อความดังกล่าวเป็นการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแต่งตั้งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งก่อนหน้านั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนสรุปว่าทำผิดระเบียบราชการแต่เป็นความผิดเล็กน้อย และเปรียบเทียบผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับข้อความที่จำเลยพิมพ์ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นความเท็จ ในขณะที่จำเลยนำสืบได้ความว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 และวันที่ 7 สิงหาคม 2562 หนังสือพิมพ์ลงข่าวเรื่องที่ ม. ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์และแถลงข่าวว่ามีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่อธิบดี รองอธิบดี ผอ.สำนัก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้รถยนต์ราชการไปตีกอล์ฟที่จังหวัดนครนายกในเวลาราชการเมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2562 เวลา 9 ถึง 22 นาฬิกา และต่อมาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมีหนังสือแจ้ง ม. ว่า การกระทำของอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งไปร่วมกิจกรรมเล่นกอล์ฟเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 ตามหนังสือร้องเรียนของ ม. มิได้ลาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 มีมูลเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง เมื่อตามประวัติการทำงานของโจทก์ระบุว่า โจทก์เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโจทก์มิได้โต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมตามหนังสือฉบับดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าก่อนที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมโจทก์ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและถูกตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการนำรถยนต์ราชการไปใช้ในกิจกรรมส่วนตัว แต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงวินิจฉัยว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ข้อความที่จำเลยพิมพ์ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊กตามฟ้องจึงเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยสร้างขึ้นเอง โดยจำเลยเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของต้นสังกัดกับแนวการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อการกระทำในทำนองเดียวกัน และจำเลยแสดงความคิดเห็นแตกต่างจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ข้อความที่จำเลยพิมพ์ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊กจึงมิใช่ความเท็จและเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมในการแต่งตั้งโจทก์เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมกับขอให้ ม. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรติดตามผลในเรื่องดังกล่าว
ปัญหาต่อไปว่า จำเลยแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต หรือมีเจตนาชั่วร้ายประสงค์จะให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ นั้น เห็นว่า ตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการประจำในกระทรวงอุตสาหกรรมมีหน้าที่ควบคุมกำกับและบริหารงานให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาล จึงนับว่าเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่ในสายตาของสาธารณะ การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความรู้ความสามารถ ตลอดจนจริยธรรมและคุณธรรม และการติดตามผลการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวโดยสุจริตย่อมเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ เพราะการทำงานของบุคคลในตำแหน่งดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อนโยบายสาธารณะและผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนั้นการที่จำเลยติดตามผลการสอบสวนข้อเท็จจริงภายในกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมีหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของปลัดกระทรวง รวมทั้งการพิมพ์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการแจ้งให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใช้ดุลพินิจตรวจสอบบุคคลสาธารณะ เมื่อโจทก์นำสืบโดยมีเพียงนายเนติผู้รับมอบอำนาจของโจทก์และทนายความโจทก์มาเป็นพยานเพียงปากเดียว ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทราบข้อเท็จจริงโดยตรงมิได้มาเป็นพยานเบิกความอธิบายว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมีข้อสรุปอย่างไร จำเลยมุ่งร้ายต่อโจทก์เป็นการส่วนตัวหรือไม่ แม้จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นอกจากข้อความตามฟ้องแล้วจำเลยยังพิมพ์ข้อความในเว็บไซต์เฟซบุ๊กด้วย ก็ได้ความตามเอกสารดังกล่าวว่าเป็นข้อความวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตการทำงานของโจทก์ในฐานะปลัดกระทรวง กับมีข้อความบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมคนอื่นด้วย โจทก์จึงมิได้นำสืบให้เห็นข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเสนอข้อมูลในเว็บไซต์เฟซบุ๊กโดยมีเจตนาไม่สุจริตอย่างไร ต้องการสร้างความเสียหายหรือประสงค์ให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังเพราะเหตุใดตามหน้าที่ภาระการพิสูจน์ของโจทก์ตามกฎหมายในคดีอาญา ศาลไม่พึงนำข้อเท็จจริงจากการนำสืบต่อสู้ของจำเลยมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ให้เป็นผลร้ายแก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมา ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.3923/2566
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ก. จำเลย - นาย ศ.
ชื่อองค์คณะ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ กมล คำเพ็ญ พรหมมาศ ภู่แส
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ - นางสาวชัญญาณิจฉ์ ปิยเธียรสวัสดิ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นางสาวนิตยา วัฒนะชีวะกุล