คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4081/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 32, 33 (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง, 225 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ม. 7, 24, 72, 73
เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพียงแต่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีเครื่องกระสุนปืนจากนายทะเบียน จึงถือไม่ได้ว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 ส่วน ป.อ. มาตรา 33 (1) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด โดยมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยประกาศขายเครื่องกระสุนปืนให้ผู้สนใจทราบ แล้วจำเลยจัดส่งเครื่องกระสุนปืนให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อและได้รับเงินค่าเครื่องกระสุนปืนนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เครื่องกระสุนปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง สมควรให้ริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองสำหรับการค้า ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ซึ่งเป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่อจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองสำหรับการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนอื่นนอกจากที่มีไว้สำหรับการค้า จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 24, 72, 73 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 92 ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 24, 72 วรรคสอง, 73 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี เพิ่มโทษจำเลยกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกรวม 8 ปี ริบเครื่องกระสุนปืนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี เพิ่มโทษจำเลยกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 8 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี ริบเครื่องกระสุนปืนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจได้นำหมายค้นของศาลชั้นต้นไปทำการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยและบ้านของพ่อตาจำเลย พบเครื่องกระสุนปืนหลายชนิดและหลายขนาด รวม 2,712 นัด อุปกรณ์และเอกสารเกี่ยวกับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนรวมทั้งเอกสารและสิ่งของอื่น ๆ หลายรายการ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี เพิ่มโทษจำเลยกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกรวม 8 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และยังให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีน้ำหนักไม่มั่นคงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อนี้มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เนื่องจากจำเลยพ้นโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 495/2551 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว เกินห้าปีแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ เห็นว่า ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าว ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยเช่นกัน
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับฟังข้อเท็จจริงตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การจำเลยเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี" ตามบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลย มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยเท่านั้น แต่ข้อความอื่นซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำให้การรับสารภาพนั้น กฎหมายมิได้ห้ามนำมารับฟังเสียทีเดียว มิฉะนั้นแล้วคงไม่ต้องทำบันทึกการจับกุมและสอบถามคำให้การของผู้ถูกจับไว้ตามมาตรา 84 วรรคสาม อีกทั้งได้ความว่าในวันที่ 26 มกราคม 2560 เป็นวันเดียวกับที่เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกการจับกุม และทำบันทึกคำให้การของจำเลย โดยเจ้าพนักงานตำรวจได้แจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้วว่าถ้อยคำของจำเลยอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีชั้นศาลได้ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยเบิกความว่า ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสอบถ้อยคำจากจำเลยนั้น ได้แจ้งจำเลยแล้วว่าเป็นการสอบเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้น โดยให้จำเลยเล่ารายละเอียดให้ฟังอันถือได้ว่าเป็นการให้ถ้อยคำของจำเลยตามความเป็นจริง ดังนั้น บันทึกคำให้การของจำเลยจึงเป็นถ้อยคำอื่นของจำเลยที่นำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ริบเครื่องกระสุนปืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .22 (LONG RIFLE) 2,250 นัด กระสุนปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .32 (LONG) 100 นัด กระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 (11 มิลลิเมตร) 152 นัด กระสุนปืนรีวอลเวอร์ ขนาด .38 SPECIAL 110 นัด กระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มิลลิเมตร LUGER 50 นัด กระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 50 นัด รวมทั้งหมด 2,712 นัด และกระสุนปืนอื่นอีกไม่ทราบขนาดและปริมาณที่แน่ชัดซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ ดังนั้น เมื่อเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวนายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพียงแต่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีเครื่องกระสุนปืนจากนายทะเบียน จึงไม่ถือว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ส่วนมาตรา 33 (1) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด โดยมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรง ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของจำเลย โดยจำเลยทำการโฆษณาประกาศขายเครื่องกระสุนปืนทางอินเทอร์เน็ตให้ผู้สนใจทราบ เมื่อลูกค้าสั่งซื้อเครื่องกระสุนปืนจากจำเลย จำเลยก็จัดส่งเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไปให้ลูกค้า และจำเลยก็ได้รับเงินค่าเครื่องกระสุนปืนนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เครื่องกระสุนปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงสมควรให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) มิใช่ความผิดอยู่ที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้มีเครื่องกระสุนปืนตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองสำหรับการค้าตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 24, 73 มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ประกอบกับพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้สำหรับการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนอื่นนอกจากที่มีไว้สำหรับการค้า จึงต้องลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองสำหรับการค้า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 24, 73 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.328/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี จำเลย - นาย น.
ชื่อองค์คณะ ประเสริฐ นิชโรจน์ สุรทิน สาเรือง กิตติพงษ์ ศิริโรจน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดอุบลราชธานี - นางเจนจิรัฐ กาญจนะไพบูลย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายบัณฑิตเกียรติ ปิ่นแก้ว