สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 341 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 345

จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามให้นำเงินไปลงทุนในโครงการจำหน่ายนมผง ซึ่งไม่มีอยู่จริง แล้วจำเลยทั้งสองโอนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม โดยอ้างว่าเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน ก็เพื่อที่จะหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสามลงทุนต่อไป เงินที่โอนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามดังกล่าว จึงเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองใช้กระทำความผิดโดยเจตนาทุจริตหลอกให้ผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อและวางใจเพื่อที่จะได้นำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองเพิ่มอีก มิใช่เป็นการคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำเงินที่ใช้กระทำความผิดดังกล่าวมาขอหักกลบลบหนี้ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83, 91 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 13,268,210 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 3,338,300 บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 15,102,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 9 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด รับรองให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่นายราชภูมิ ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 13,267,210 บาท นายเอกชัย ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 3,338,300 บาท และนายเฉลิมชัย ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 15,102,100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่านายวัชรพงษ์ซึ่งคบหาเป็นคนรักกับจำเลยที่ 2 นั้น เป็นเพื่อนผู้เสียหายทั้งสามโดยเฉพาะนายวัชรพงษ์กับผู้เสียหายที่ 2 เคยเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคเดียวกันมาก่อนเมื่อประมาณ 20 ปี มาแล้ว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดและต้องคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสามตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ คดีฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามให้นำเงินไปลงทุนกับจำเลยทั้งสอง โดยไม่มีโครงการจำหน่ายนมผงตามโรงพยาบาลจริง ผู้เสียหายทุกรายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองนำเงินไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ผู้เสียหายทั้งสามไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสามทราบดีว่าเป็นการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยระเบียบของโรงพยาบาล และเงินที่ลงทุนเป็นเงินของญาติพี่น้องและเพื่อนของผู้เสียหายทั้งสามนั้น ไม่ปรากฏว่าการลงทุนดังกล่าวผิดระเบียบของโรงพยาบาลและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ทั้งไม่มีการลงทุนจริง ดังนั้น จะถือว่าผู้เสียหายทั้งสามมีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วยไม่ได้ และการที่ผู้เสียหายทั้งสามชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนมาร่วมลงทุนนั้น ก็เป็นการติดต่อกับผู้เสียหายทั้งสาม มิได้ติดต่อกับจำเลยทั้งสองโดยตรง ดังนั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสามนำเงินของญาติพี่น้องและเพื่อนมาร่วมลงทุนก็เนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสาม ทำให้ผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อนำเงินของตน ญาติพี่น้อง และเพื่อนไปลงทุนกับจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสาม และได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งสามโดยตรง ไม่จำต้องคำนึงว่าทรัพย์สินดังกล่าวผู้เสียหายทั้งสามได้มาจากผู้ใด ทั้งไม่ใช่การที่ผู้เสียหายทั้งสามร่วมสมคบคิดกับจำเลยทั้งสองเพื่อกระทำความผิด ผู้เสียหายทั้งสามจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย สำหรับที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ฟ้องในส่วนของผู้เสียหายที่ 3 เคลือบคลุม เนื่องจากบรรยายฟ้องว่า วันที่ 15 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2556 จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 แต่บรรยายฟ้องต่อไปว่า วันที่ 8 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2556 ผู้เสียหายที่ 3 โอนเงินให้จำเลยทั้งสอง ขัดแย้งกันนั้นเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ซึ่งวันเวลาที่จำเลยที่ 2 ฎีกากล่าวอ้างเป็นรายละเอียดที่ต้องต่อสู้และนำสืบกันในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยทั้งสองเห็นว่าการบรรยายฟ้องดังกล่าว ทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบ ก็ย่อมยกขึ้นต่อสู้ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบปฏิเสธถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามที่โจทก์นำสืบ คงนำสืบเพียงว่าเป็นการหลอกลวงของนายวัชรพงษ์เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รู้เห็นด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อกล่าวหาได้เป็นอย่างดี ไม่ได้หลงต่อสู้เกี่ยวกับวันเวลาตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า คดีขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์ไม่นำสืบให้ชัดแจ้งว่าผู้เสียหายทั้งสามทราบและรู้ตัวผู้กระทำผิดเมื่อใด เพียงแต่อ้างว่าต้นเดือนเมษายน 2556 ตรวจสอบกับโรงพยาบาลและแจ้งความเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 หากจำเลยที่ 2 มีปัญหากับนายวัชรพงษ์จริง ผู้เสียหายทั้งสามก็น่าจะทราบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสามเบิกความยืนยันได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ทราบว่าไม่มีการซื้อขายนมผงจริงเมื่อไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลโดยผู้เสียหายที่ 1 ไปตรวจสอบช่วงต้นเดือนเมษายน 2556 ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ไปตรวจสอบหลังจากนัดพบจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2556 ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ทราบจากเพื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จึงไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ร้องทุกข์วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 จึงเป็นการนำสืบโดยชัดแจ้งและร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลา 3 เดือน ตามกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธินำเงินที่โอนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามมาหักกลบกับเงินที่ผู้เสียหายทั้งสามโอนให้แก่จำเลยทั้งสอง เพราะไม่มีการลงทุนกันจริงนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามให้ลงทุนและมีการโอนเงินซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่าเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน ก็เพื่อที่จะหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสามลงทุนต่อไป จึงเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองใช้กระทำความผิดโดยเจตนาทุจริตเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อและวางใจนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองต่อไปอีก มิใช่เป็นการคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามแต่อย่างใด อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำเงินที่ใช้กระทำความผิดดังกล่าวมาขอหักกลบลบหนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง กับให้คืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.2093/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นางสาว พ. กับพวก

ชื่อองค์คณะ ปวีณณา ศรีวงษ์ สมพงษ์ เหมวิมล สุนทร เฟื่องวิวัฒน์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงพระนครเหนือ - นายสุวัชร อุษณาวัฒน์ ศาลอุทธรณ์ - นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE