สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2567

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2567

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 44/1, 44/2 วรรคหนึ่ง, 182, 195 วรรคสอง, 225

ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดให้ผู้ร้องทั้งสองซึ่งยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 มาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นและไม่ได้อ่านคำพิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองฟัง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 182 การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีส่วนอาญาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงเป็นความบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง มิได้มีผลกระทบต่อคดีส่วนอาญา ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายสมชาย บิดานายยุวรัตน์ ผู้ตาย ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 100,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของบุตรและภริยาผู้ตาย 500,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะในส่วนของผู้ร้องที่ 1 และมารดาผู้ตาย คนละ 100,000 บาท ค่าขาดรายได้จากการทำงานและค่าเสียเวลาของญาติ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องที่ 1 และเด็กชายรัชทานต์ โดยนางสาวโศรดา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้ร้องที่ 2 บุตรผู้ตายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะ 500,000 บาท

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (ที่ถูก มาตรา 371 ด้วย) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 19 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุก 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายมาตรา 90 คงจำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยกและยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่สมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้นายสมชาย บิดานายยุวรัตน์ ผู้ตาย ผู้ร้องที่ 1 และเด็กชายรัชทานต์ โดยนางสาวโศรดา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมผู้ร้องที่ 2 บุตรผู้ตายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เป็นเงินค่าขาดไร้อุปการะ ค่าปลงศพ ค่าขาดรายได้และค่าเสียเวลาของญาติ สำหรับผู้ร้องที่ 1 รวมเป็นเงิน 900,000 บาท ส่วนผู้ร้องที่ 2 เป็นเงินค่าขาดไร้อุปการะ 500,000 บาท แต่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดให้ผู้ร้องทั้งสองมาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น และไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องทั้งสองฟัง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องทั้งสอง การที่ผู้ร้องทั้งสองไม่ทราบคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่งของผู้ร้องทั้งสอง ปัญหาการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่กำหนดไว้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ดี สำหรับในคดีส่วนอาญานั้น เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีส่วนอาญานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งเกี่ยวกับผู้ร้องทั้งสองให้ถูกต้องดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นความบกพร่องเฉพาะในคดีส่วนแพ่ง มิได้มีผลกระทบต่อคดีส่วนอาญา เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/2 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีส่วนอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลังได้ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยคดีในส่วนอาญาต่อไป

ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาซึ่งโจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า คืนเกิดเหตุตามฟ้อง นายยุวรัตน์ ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มีเด็กชายเจษฎา เพื่อนผู้ตายขณะเกิดเหตุอายุ 14 ปีเศษ นั่งซ้อนท้ายมาด้วยไปตามถนนสาธารณะสายปากคู – กอตาก ที่เกิดเหตุ เพื่อไปเที่ยวงานรื่นเริงซึ่งจัดขึ้นที่วัดปากคู เมื่อผู้ตายขับมาถึงบริเวณหน้าวัดปากคู มีคนร้ายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ซึ่งผู้มีชื่อเป็นคนขับตามหลังรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมา จากนั้นคนร้ายคนดังกล่าวใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 1 นัด กระสุนปืนถูกลำตัวและรักแร้ซ้าย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า เด็กชายเจษฎาให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนในคืนเกิดเหตุนั้นเองว่าจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยเนื่องจากเคยเห็นหน้ามาก่อน และนายจักรินทร์หรือคิว เล่าให้ฟังก่อนเกิดเหตุว่าผู้ตายกับจำเลยเคยมีเรื่องทะเลาะท้าทายกัน ซึ่งเป็นการให้ถ้อยคำไว้ทันทีในระยะเวลากระชั้นชิดกับเหตุโดยมีรายละเอียดของเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงยากที่จะเชื่อว่าการให้ถ้อยคำอย่างกะทันหันเช่นนั้นเกิดขึ้นจากถูกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเสี้ยมสอน ฉะนั้น หากเด็กชายเจษฎาไม่รู้จักจำเลยมาก่อนตามที่เบิกความไว้ในชั้นพิจารณาจริง แล้วเหตุใดในการให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวน จึงสามารถอ้างชื่อคนร้ายว่าคือนายไอซ์ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลยได้ เฉพาะอย่างยิ่งในเวลาต่อมาในชั้นสอบสวนซึ่งประกอบด้วยสหวิชาชีพ นอกจากเด็กชายเจษฎาจะยังคงให้การยืนยันเช่นเดิมว่าเห็นและจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยแล้ว เด็กชายเจษฎายังให้การในรายละเอียดเพิ่มเติมถึงเหตุที่เคยเห็นหน้าจำเลยมาก่อนไว้ด้วยว่า เพิ่งเคยเห็นจำเลยเมื่อ 2 วันก่อนเกิดเหตุ เนื่องจากนายจักรินทร์ชี้ให้ดูว่าเป็นคนที่มีเรื่องกันมาก่อน ทำให้เชื่อได้ว่าเด็กชายเจษฎาจดจำจำเลยได้จริง ประกอบกับนายจักรินทร์ก็ให้การไว้ในชั้นสอบสวนในคืนเกิดเหตุ อันเป็นการให้การในทันทีเช่นกันว่า หลังเกิดเหตุได้พบกับเด็กชายเจษฎาที่โรงพยาบาล เด็กชายเจษฎาเล่าให้ฟังว่าเห็นจำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย สนับสนุนถ้อยคำและคำให้การของเด็กชายเจษฎาที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนและพนักงานสอบสวนที่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายมีน้ำหนักในการรับฟังมากยิ่งขึ้น การที่เด็กชายเจษฎามาเบิกความในภายหลังว่าไม่สามารถจำหน้าคนร้ายได้ว่าเป็นใคร ไม่เคยมีบุคคลใดชี้ให้พยานดูจำเลยหรือเล่าให้ฟังว่าจำเลยมีปัญหากับผู้ตาย โดยไม่ปรากฏเหตุผลสมควรอันใดที่ทำให้พยานเบิกความกลับคำเช่นนั้น บ่งชี้ชัดว่าการเบิกความของพยานดังกล่าวเป็นไปเพื่อช่วยเหลือจำเลยมิให้ต้องรับโทษ นับเป็นกรณีที่ถือว่ามีเหตุผลอันหนักแน่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะรับฟังบันทึกถ้อยคำและคำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กชายเจษฎา ว่าเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง สำหรับข้อฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า เหตุคดีนี้เกิดในเวลากลางคืน บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำให้เด็กชายเจษฎาประจักษ์พยานโจทก์เห็นใบหน้าคนร้ายได้นั้น ในข้อนี้เด็กชายเจษฎาเบิกความและให้การในชั้นสอบสวนประกอบกันว่า เมื่อรถจักรยานยนต์ที่มีคนร้ายนั่งมาด้วยแล่นแซงรถจักรยานยนต์ของผู้ตายพ้นล้อหน้ารถจักรยานยนต์ผู้ตายไปได้ครึ่งคัน พยานจึงเห็นคนนั่งซ้อนท้ายว่าเป็นจำเลยซึ่งกำลังหันหลังกลับมาใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ตายโดยอาศัยแสงจากโคมไฟหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้ตายและแสงจากหลอดไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าสาธารณะบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟังว่ามีแหล่งของแสงสว่างที่ทำให้เด็กชายเจษฎาสามารถเห็นหน้าคนร้ายได้จริง โดยขณะที่เห็นนั้น รถจักรยานยนต์ที่คนร้ายนั่งมาด้วยแล่นแซงขึ้นหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้ตายไปแล้วครึ่งคัน ย่อมอยู่ในรัศมีการส่องสว่างจากโคมไฟหน้ารถจักรยายนต์ของผู้ตายได้ หาใช่เรื่องที่เด็กชายเจษฎาเบิกความว่าเห็นคนร้ายในขณะที่รถจักรยานยนต์ที่คนร้ายนั่งมาด้วยกำลังแล่นตามมาข้างหลังทำให้ถูกแสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถของคนร้ายย้อนสายตาอันเป็นเหตุให้เด็กชายเจษฎามองเห็นหน้าคนร้ายได้ไม่ชัดเจนดังข้อฎีกาของจำเลยไม่ ส่วนที่ในวันเกิดเหตุ เด็กชายเจษฎามิได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนเกี่ยวกับแสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถจักรยานยนต์ผู้ตาย คงกล่าวถึงแต่แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าสาธารณะ ครั้นต่อมาในชั้นสอบสวนเพิ่มเติม เด็กชายเจษฎาจึงค่อยกล่าวถึงแสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้ตายก็ตาม ก็หาเป็นข้อพิรุธสงสัยดังข้อฎีกาของจำเลยอีกเช่นกัน เพราะในชั้นให้ถ้อยคำเป็นระยะเวลากะทันหันใกล้ชิดกับเหตุ ไม่ทันมีโอกาสที่เด็กชายเจษฎาจะได้ย้อนพิจารณานึกถึงเหตุการณ์อย่างละเอียดรอบคอบว่าแสงสว่างที่ทำให้ตนมองเห็นคนร้ายในที่เกิดเหตุมีที่มาจากแหล่งใด โดยเฉพาะเมื่อเด็กชายเจษฎาได้ให้ถ้อยคำไว้ตั้งแต่แรกโดยชัดเจนแล้วว่าตนเองมองเห็นคนร้ายขณะรถจักรยานยนต์ที่มีคนร้ายนั่งมาด้วยแล่นแซงเลยรถจักรยานยนต์ผู้ตายขึ้นไปอยู่ข้างหน้า โดยสภาพจากตำแหน่งรถจักรยานยนต์ที่มีคนร้ายนั่งมาด้วยดังกล่าวย่อมต้องอยู่ในรัศมีแสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้ตายอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อคนร้ายซึ่งนั่งซ้อนท้ายหันหลังกลับมาใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายย่อมถูกแสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถจักรยานยนต์ผู้ตายสาดส่องต้องใบหน้าอันเป็นเหตุให้เด็กชายเจษฎามองเห็นและจดจำได้ว่าเป็นจำเลย จากนั้นค่อยมาให้การเพิ่มเติมถึงเรื่องดังกล่าวในภายหลัง ส่วนแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าสาธารณะซึ่งปรากฏว่า มีเสาไฟฟ้าสาธารณะต้นที่อยู่ฝั่งถนนที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 17 เมตร กับอีกต้นหนึ่งอยู่ฝั่งถนนตรงข้ามอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 15 เมตร แม้ค่อนข้างไกลอยู่บ้างซึ่งอาจทำให้ส่องสว่างมาถึงจุดเกิดเหตุไม่เพียงพอที่จะทำให้มองเห็นกันได้อย่างชัดเจนดังที่ปรากฏจากภาพถ่ายประกอบคดีตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ก็เชื่อว่ายังพอมีแสงส่องสว่างที่ทำให้บริเวณถนนที่เกิดเหตุไม่ถึงกับมืดสนิท ยิ่งเมื่อมีแสงสว่างจากโคมไฟหน้ารถจักรยานยนต์ผู้ตายมาประกอบด้วยแล้ว จึงเพียงพอแก่การมองเห็นและจำกันได้ไม่ผิดพลาด สำหรับมูลเหตุการก่อเหตุคดีนี้ของจำเลยนั้น นอกจากเด็กชายเจษฎาจะเบิกความว่าเกิดจากที่ผู้ตายเคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทท้าทายกันกับจำเลยมาก่อนซึ่งนายจักรินทร์เป็นผู้เล่าให้พยานฟังแล้ว ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายก็เบิกความสนับสนุนว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 วัน เมื่อผู้ตายไปเยี่ยมพยานที่บ้าน ผู้ตายเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านั้น 1 วัน ผู้ตายมีเรื่องท้าทายกันกับจำเลยตามประสาวัยรุ่น เฉพาะอย่างยิ่ง นายจักรินทร์พี่เขยผู้ตายซึ่งให้การในชั้นสอบสวนในคืนเกิดเหตุนั้นเองก็ยืนยันว่าในขณะที่อยู่กับผู้ตาย ตนเคยถูกจำเลยใช้อาวุธปืนข่มขู่มาแล้ว และจำเลยไม่พอใจท่าทางการเดินที่ผิดปกติโดยธรรมชาติของผู้ตายซึ่งจำเลยเข้าใจว่าเป็นการเดินยั่วโทสะจำเลย เป็นเหตุให้จำเลยท้าทายตนและผู้ตายให้ไปต่อสู้กัน และแม้แต่นายณัฐกร พยานจำเลยซึ่งจำเลยมักไปนอนค้างที่บ้านของพยานบ่อยครั้งก็เบิกความว่า ในช่วงการจัดงานรื่นเริงที่วัดปากคูก่อนวันเกิดเหตุ ผู้ตายและนายจักรินทร์เคยชกต่อยพยาน ซึ่งพยานโทรศัพท์เรียกจำเลยให้มารับพยาน ทำให้มีน้ำหนักเชื่อได้ว่าจำเลยมีมูลเหตุบาดหมางกับผู้ตายตามประสาวัยรุ่นมาก่อน หาใช่ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองใด ๆ กับผู้ตายเสียเลยดังที่จำเลยฎีกาต่อสู้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า ที่จำเลยนำสืบอ้างฐานที่อยู่ก็มีเพียงจำเลยและเพื่อนของจำเลยมาเป็นพยานเบิกความลอย ๆ จึงมีน้ำหนักในการรับฟังน้อยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ทุกข้อฟังไม่ขึ้น อนึ่ง สำหรับฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากยังไม่กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อน แล้วจึงค่อยลดมาตราส่วนโทษนั้น เห็นว่า การลดโทษเพราะเหตุอ่อนอายุตามบทมาตราดังกล่าวเป็นการลดจากมาตราส่วนโทษสำหรับความผิดที่จำเลยได้กระทำ ซึ่งในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กำหนดระวางโทษไว้ให้ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกในความผิดฐานนี้หลังจากลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วเป็นจำคุกจำเลย 33 ปี 4 เดือน แสดงชัดอยู่ในตัวว่าศาลชั้นต้นเลือกใช้ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตในการวางโทษจำเลย เมื่อจะลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 เช่นนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 บัญญัติให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามจากโทษจำคุกห้าสิบปีนั้น คงเหลือโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลย 33 ปี 4 เดือน ส่วนโทษในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนฯ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน การลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วางโทษจำเลยถึงจำคุกตลอดชีวิตแล้วค่อยลดโทษให้นั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ในคดีส่วนอาญา ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เมื่อลดมาตราส่วนให้หนึ่งในสามแล้ว ให้จำคุก 13 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 รวมจำคุก 13 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 สำหรับคดีส่วนแพ่ง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องทั้งสองฟัง หากผู้ร้องทั้งสองใช้สิทธิอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.4476/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ร้อง - นาย ส. กับพวก จำเลย - นาย ศ.

ชื่อองค์คณะ ศรศักดิ์ กุลจิตติบวร วรวุฒิ ทวาทศิน ธรรมนูญ สิงห์สาย

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี - นางสาวธนาพร ร่มรื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายอารมณ์ จำปานิล

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th