คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2563
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 40 (2), 42, 77, 77 วรรคหนึ่ง (4), 77 วรรคสี่, 80
แม้อาคารที่เกิดเหตุจะปลูกสร้างภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 ซึ่งต่อมามี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บังคับใช้ โดยที่มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 75 ถึงมาตรา 80 โดยมาตรา 80 บัญญัติว่า ท้องที่ใดได้มี พ.ร.ฎ.ให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479… อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่นั้นแล้ว อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลบังคับต่อเนื่องกับ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 จึงหาได้มีผลทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่มีการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีผลบังคับใช้ ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คดีก่อน เมื่อพิจารณาจากสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับ พ. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล โดยเหตุว่าบริเวณชายหาดหัวหินที่เกิดเหตุมีอาคารก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และเป็นท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารแล้ว ซึ่งเทศบาลเมืองหัวหินได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารมาทำสัญญาเช่าที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับทางเทศบาล ตามความในมาตรา 77 (4) วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากบริเวณที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คดีดังกล่าวศาลจึงต้องพิจารณาจากหลักฐานสัญญาเช่าที่ดินเป็นหลักและรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรื้อถอนอาคารตามมาตรา 77 วรรคสี่ แต่คดีนี้เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่บัญญัติในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) และมาตรา 42 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการแจ้งคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารห้ามใช้อาคารและให้รื้อถอน หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันและเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีก่อน คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในคดีนี้จึงเป็นการกระทำตามกรอบอำนาจของกฎหมาย มิได้ซ้ำซ้อนกับคดีก่อนและข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนก็ไม่ผูกพันศาลในคดีนี้ให้ต้องถือตาม แต่ต้องรับฟังพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากทางนำสืบในสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 40, 42, 66 ทวิ, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ปรับจำเลยเป็นรายวันนับแต่วันที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจนถึงวันฟ้อง และนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารระงับการใช้อาคารและรื้อถอนอาคารให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2), 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 67 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นรายกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามบุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคาร จำคุก 3 เดือน และปรับ 21,000 บาท ปรับรายวันอีกวันละ 600 บาท ฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้รื้อถอนอาคาร จำคุก 3 เดือน และปรับ 21,000 บาท ปรับรายวันอีกวันละ 600 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เมื่อรวมโทษทั้งสองกรรมแล้ว เป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 28,000 บาท ปรับจำเลยฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามบุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารวันละ 400 บาท นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2559 ถึงวันฟ้อง รวม 516 วัน เป็นเงิน 206,400 บาท และปรับจำเลยฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้รื้อถอนอาคารวันละ 400 บาท นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันฟ้อง รวม 471 วัน เป็นเงิน 188,400 บาท รวมปรับ 422,800 บาท กับให้ปรับจำเลยฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นห้ามบุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคาร อีกวันละ 400 บาท และปรับจำเลยฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้รื้อถอนอาคารอีกวันละ 400 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจนเสร็จสิ้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า อาคารที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ประกอบกิจการที่พักชั่วคราว ปลูกสร้างบนที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ซึ่งต่อมาปี 2522 มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 โดยให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน และมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ.2522 ซึ่งอาคารที่เกิดเหตุตั้งอยู่ในเขตปรับปรุงอาคาร ต่อมาเทศบาลเมืองหัวหินได้ทำการสำรวจสิ่งปลูกสร้างรุกที่สาธารณประโยชน์ตั้งแต่สะพานปลาหัวหินถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม (ชายหาดหัวหิน) พบว่ามีอาคารก่อสร้างรุกล้ำชายหาดเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และอื่น ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมาก จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 สั่งให้เจ้าของอาคารทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น วันที่ 1 มิถุนายน 2534 นางพิมพ์ใจ มารดาจำเลย ทำสัญญาเช่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารที่เกิดเหตุกับเทศบาลเมืองหัวหินมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี โดยเมื่อสัญญาเช่าที่ดินระงับหรือสิ้นกำหนดอายุตามสัญญาเช่า ผู้เช่ายินยอมรื้อถอนและขนย้ายอาคาร โดยจะไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ให้เช่า หากฝ่าฝืนมีโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่เมื่อครบกำหนดการเช่า นางพิมพ์ใจเพิกเฉยไม่รื้อถอนอาคาร ต่อมาปี 2546 สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 (ปัจจุบันคือสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 3 สาขาประจวบคีรีขันธ์) ได้ทำการสำรวจผู้บุกรุกและปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ พบผู้บุกรุกซึ่งเคยได้รับการผ่อนผันทำสัญญาเช่าที่ดินกับเทศบาลเมืองหัวหิน แต่ครบกำหนดอายุการเช่าแล้ว ไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ทางสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 และเทศบาลเมืองหัวหินจึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกซึ่งรวมถึงนางพิมพ์ใจและจำเลยด้วย และต่อมาโจทก์ฟ้องนางพิมพ์ใจและจำเลยเป็นคดีต่อศาลในความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และประมวลกฎหมายที่ดิน คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว นางพิมพ์ใจถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้อาคารที่เกิดเหตุจะปลูกสร้างภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ซึ่งต่อมามีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บังคับใช้ โดยที่มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 75 ถึงมาตรา 80 โดยมาตรา 80 บัญญัติว่า ท้องที่ใดได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479… อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่นั้นแล้ว อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลบังคับต่อเนื่องกับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 จึงหาได้มีผลทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่มีการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีผลบังคับใช้ ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คดีก่อน เมื่อพิจารณาจากสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับนางพิมพ์ใจโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล โดยเหตุว่าบริเวณชายหาดหัวหินที่เกิดเหตุมีอาคารก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และเป็นท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารแล้ว ซึ่งเทศบาลเมืองหัวหินได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารมาทำสัญญาเช่าที่ดินสาธารณประโยชน์กับทางเทศบาล ตามความในมาตรา 77 (4) วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากบริเวณที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คดีดังกล่าวศาลจึงต้องพิจารณาจากหลักฐานสัญญาเช่าที่ดินเป็นหลักและรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรื้อถอนอาคารตามมาตรา 77 วรรคสี่ แต่คดีนี้เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่บัญญัติในหมวด 4 ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) และมาตรา 42 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการแจ้งคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารห้ามใช้อาคารและให้รื้อถอน หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันและเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีก่อน คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในคดีนี้จึงเป็นการกระทำตามกรอบอำนาจของกฎหมาย มิได้ซ้ำซ้อนกับคดีก่อนและข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนก็ไม่ผูกพันศาลในคดีนี้ให้ต้องถือตาม แต่ต้องรับฟังพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากทางนำสืบในสำนวนนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า อาคารที่เกิดเหตุประกอบกิจการให้เช่าที่พัก ใช้ชื่อเล่นจำเลย และเมื่อพิจารณาจากแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรปรากฏว่า นางพิมพ์ใจเกิดเมื่อปี 2469 ขณะเกิดเหตุคดีนี้จึงนับว่านางพิมพ์ใจอยู่ในวัยชรามากแล้ว โดยจำเลยเองก็เบิกความว่า ก่อนถึงแก่ความตายในวัย 92 ปี นางพิมพ์ใจนอนป่วยอยู่ประมาณ 5 ปี ไม่สามารถประกอบธุรกิจใด ๆ ได้ และหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีก่อนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 นางพิมพ์ใจยังคงเพิกเฉยไม่ยอมรื้อถอนอาคารจนกระทั่งวันที่ 14 กันยายน 2559 นายกเทศมนตรีเมืองหัวหินมีหนังสือถึงนางพิมพ์ใจและเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารแจ้งให้รื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างออกไปอีกครั้งหนึ่ง มิฉะนั้นจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 และมาตรา 43 (2) ต่อไป โดยแจ้งคำสั่งทางไปรษณีย์ตอบรับ และปิดคำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารและสั่งให้รื้อถอนไว้ที่อาคารที่เกิดเหตุ จากนั้นวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จำเลยเข้าร่วมการประชุมแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์บริเวณชายหาดหัวหินที่สำนักงานเทศบาลเมืองหัวหินจัดขึ้น ซึ่งตามรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมระบุชัดเจนว่าจำเลยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวในฐานะเจ้าของอาคาร และต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2560 จำเลยยังทำหนังสือถึงสำนักงานเทศบาลเมืองหัวหินชี้แจงโต้แย้งคำสั่งโดยขอขยายระยะเวลาการรื้อถอนออกไปถึงสิ้นปี 2560 อ้างว่าโครงสร้างอาคารที่เกิดเหตุเป็นบ้านพักแตกต่างจากร้านอาหารอื่น การขนย้ายไม้และสิ่งของออกจากพื้นที่ทำได้ยาก พร้อมกับแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยมาด้วย โดยไม่ได้โต้แย้งว่าตนมิได้เป็นผู้ครอบครองอาคารดังกล่าวแต่อย่างใด เห็นได้ชัดว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ตลอดจนการโต้แย้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ล้วนเป็นการกระทำในฐานะผู้ครอบครอง หรือผู้ประกอบกิจการที่จำเลยมีส่วนได้เสียทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังปรากฏจากบันทึกคำให้การของจำเลยลงวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ว่าเมื่อเทศบาลเมืองหัวหินแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ชั้นสอบสวน แม้จำเลยจะให้การปฏิเสธข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ห้ามใช้และสั่งให้รื้อถอนอาคาร จำเลยก็อ้างแต่เพียงว่าไม่ประสงค์จะให้การในชั้นสอบสวน จะขอให้การในชั้นศาล โดยมิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยมิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่เกิดเหตุแต่อย่างใด ทั้งยังให้การยอมรับว่า จำเลยประกอบธุรกิจบ้านพัก อันเป็นอาคารที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เชื่อว่า ขณะที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งห้ามใช้และรื้อถอนอาคารที่เกิดเหตุ นางพิมพ์ใจซึ่งเวลานั้นชราภาพทั้งยังมีอาการเจ็บป่วย ไม่ได้อยู่ในสภาพที่สามารถครอบครองอาคาร ดูแล หรือควบคุมกิจการให้เช่าที่พักได้ แต่เป็นจำเลยที่ครอบครองอาคารและดูแลกิจการด้วยตนเอง และหลังจากนางพิมพ์ใจถึงแก่กรรม จำเลยก็สืบสิทธิเป็นเจ้าของอาคารดำเนินกิจการต่อมา ดังนั้น เมื่อเทศบาลเมืองหัวหินปิดคำสั่งที่อาคารที่เกิดเหตุและมีหนังสือแจ้งคำสั่งห้ามมิให้นางพิมพ์ใจ จำเลย เจ้าของอาคาร/ผู้ครอบครองอาคาร/ผู้ดำเนินการ/ผู้ควบคุมงาน ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคาร และสั่งให้รื้อถอนอาคารภายใน 45 วัน ทางไปรษณีย์ตอบรับ และจำเลยได้ทราบคำสั่งนั้นโดยชอบแล้ว การที่จำเลยยังคงใช้อาคารที่เกิดเหตุเปิดให้บริการเช่าที่พักต่อมาโดยไม่รื้อถอน จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(อ)257/2562
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดหัวหิน จำเลย - นางสาว ก.
ชื่อองค์คณะ สุริยง ลิ้มสถิรานันท์ ธงชัย เสนามนตรี ชูชีพ ปิณฑะสิริ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดหัวหิน - นายพรเลิศ ศักดิ์สงวนมนูญ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 - นายคำแหง เกตุมาก