สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4142/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4141 - 4142/2565

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 163 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 173 วรรคสอง (1) พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 ม. 3

โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวน และเมทแอมเฟตามีนของกลางตามฟ้องทั้งสองสำนวนก็เป็นจำนวนเดียวกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องในสำนวนแรก แม้ในสำนวนหลังโจทก์ฟ้องข้อหาสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเข้ามาด้วยแต่ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวกับข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเอง ซึ่งโจทก์สามารถขอแก้ฟ้องด้วยการเพิ่มเติมข้อหาดังกล่าวในสำนวนแรกได้อยู่แล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นสำนวนหลังว่าสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นยาเสพติดจำนวนเดียวกับสำนวนแรกย่อมเป็นการใช้สิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองครั้งในการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน ดังนั้น ฟ้องโจทก์สำนวนหลัง จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลย

คดีสำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและวัตถุชนิดเม็ดกลมแบนสีเขียวของกลาง นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ย.120/2563 ของศาลชั้นต้น

คดีสำนวนที่สอง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 7, 8 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและวัตถุชนิดเม็ดกลมแบนสีเขียวของกลาง นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ย.120/2563 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ย.120/2563 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 3 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ยกคำขอนับโทษต่อ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 เดือน และปรับ 13,333.33 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 6,666.66 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกประเภท และให้จำเลยยินยอมให้พนักงานคุมประพฤติตรวจสอบการเสพยาเสพติดให้โทษ กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจเดินทางไปตรวจสอบที่สวนมะม่วงซึ่งภายในสวนดังกล่าวมีบริเวณที่กั้นเป็นสนามไก่ชนไว้ เมื่อไปถึงพบจำเลย นายวิทูนหรือตี๋และนายหวื่อ ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริงกำลังเล่นไก่ชนอยู่ เมื่อจำเลยกับพวกเห็นเจ้าพนักงานตำรวจจึงวิ่งหลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมจำเลยได้และพากลับไปบริเวณที่เกิดเหตุ ส่วนนายวิทูนและนายหวื่อไม่สามารถจับกุมได้ จากการตรวจค้นบริเวณสนามไก่ชนพบเมทแอมเฟตามีน 2 จุด จุดแรก พบเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด อยู่ในกล่องสแตนเลสวางอยู่บนโต๊ะ อีกจุดหนึ่งพบเมทแอมเฟตามีน 794 เม็ด และวัตถุชนิดเม็ดกลมแบนสีเขียว 8 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในช่องเก็บของรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า สีเทา-น้ำเงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนซึ่งนายวิทูนเป็นผู้ขับมาจอดไว้ หลังจากควบคุมจำเลยไปที่สถานีตำรวจได้ตรวจสอบปัสสาวะของจำเลยพบสารเมทแอมเฟตามีน สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 794 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ในความผิดฐานดังกล่าว จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์เห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเสียก่อนว่าฟ้องโจทก์ในสำนวนหลังเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์ในสำนวนแรกหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั้งสองสำนวนและเมทแอมเฟตามีนของกลางตามฟ้องทั้งสองสำนวนก็เป็นจำนวนเดียวกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางตามฟ้องสำนวนหลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องในสำนวนแรก แม้ในสำนวนหลังโจทก์ฟ้องข้อหาสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเข้ามาด้วยแต่ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวกับข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเอง ซึ่งโจทก์สามารถขอแก้ฟ้องด้วยการเพิ่มเติมข้อหาดังกล่าวในสำนวนแรกได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นสำนวนหลังว่าสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วยการร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นยาเสพติดจำนวนเดียวกับสำนวนแรกย่อมเป็นการใช้สิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองครั้งในการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน ดังนั้น ฟ้องโจทก์สำนวนหลังจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำนวนหลังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องในสำนวนแรกหรือไม่ โจทก์ฎีกาในทำนองว่า เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนได้กระทำการไปตามหน้าที่ไม่มีเหตุเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ จำเลยให้การในชั้นสอบสวนต่อหน้ามารดาจำเลยที่ร่วมฟังการสอบสวนอยู่ด้วยว่า เมทแอมเฟตามีนที่นายหวื่อนำออกมาวางแล้วบอกให้จำเลยกับนายวิทูนทราบว่านำมาใช้ได้ กรณีหาจำต้องเป็นเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจค้นได้ที่ตัวจำเลยอย่างใดไม่ เมื่อเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองมีจำนวน 15 เม็ดหรือหน่วยการใช้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นการร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามกฎหมาย ทั้งจากการสืบสวนและสอบสวนได้ความว่าจำเลยกับพวกมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่วัยรุ่นในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียงโดยใช้บริเวณสวนมะม่วงที่เกิดเหตุ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ในปัญหานี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกมนัส ร้อยตำรวจเอกประสพชัย ร้อยตำรวจตรีถนอม และดาบตำรวจทวีพงษ์ ผู้ร่วมจับกุมทั้งสี่เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า จากการสืบสวนหาข่าวทราบว่านายวิทูนมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยจำเลยเป็นคนคอยช่วยเหลือในการส่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ลูกค้า ได้รับค่าตอบแทนเป็นเมทแอมเฟตามีนหรือบางครั้งเป็นเงิน จำเลยจึงมีส่วนร่วมในการมีเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด ที่บรรจุอยู่ในกล่องสแตนเลสซึ่งวางอยู่บนโต๊ะในสนามไก่ชนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสี่ปากต่างไม่ได้พบเห็นการกระทำความผิดของจำเลยโดยตรงเป็นเพียงการเบิกความกล่าวอ้างขึ้นลอยๆ อีกทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่ากล่องสแตนเลสที่บรรจุเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด เป็นของจำเลย ส่วนรายงานการสืบสวนก็เป็นเพียงพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานตำรวจทำขึ้นฝ่ายเดียวย่อมมีน้ำหนักน้อย ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ถูกจับกุมว่า เมทแอมเฟตามีน 794 เม็ด เป็นของนายวิทูน ส่วนเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด เป็นของนายหวื่อ และในชั้นสอบสวนก็ยังคงให้การยืนยันในทำนองเดียวกัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้แต่เพียงว่าพบเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด บรรจุอยู่ในกล่องสแตนเลสที่วางอยู่บนโต๊ะในสนามไก่ชน ซึ่งจำเลยกำลังเล่นไก่ชนอยู่กับนายวิทูนและนายหวื่อ พยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกมีเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริงไม่หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า สมควรลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยและรอการลงโทษจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยอายุเพียง 19 ปีเศษ ยังขาดประสบการณ์ชีวิตและขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ที่ศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 นั้น เหมาะสมแล้ว อีกทั้งจำเลยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงกระทงเดียวซึ่งเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับเป็นโทษจำคุกระยะสั้นเพียง 2 เดือน การให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุกไว้น่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยและสังคมส่วนร่วมมากกว่าการลงโทษจำคุกไปเสียทีเดียว ที่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับ โดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทน โดยความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104,162 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนี้ กฎหมายใหม่ยังคงบัญญัติให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดอยู่เช่นเดิม แต่โทษตามกฎหมายใหม่เป็นคุณกว่าจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 ซึ่งใช้ในภายหลังการกระทำความผิดมาบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนหลัง

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1063-1064/2565

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดเชียงคำ จำเลย - นาย ว.

ชื่อองค์คณะ อรุณ เรืองเพชร พิชัย เพ็งผ่อง ชาติชาย อัครวิบูลย์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเชียงคำ - นายนิติธร ภาระจำ ศาลอุทธรณ์ - นายธีระเดช ยุวชิต

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th