คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1611, 1733 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำหนังสือให้โจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์สละมรดกของ ต. โดยไม่ได้รับความยินยอมของ ม. มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาล อันเป็นการมิชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1611 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดการแบ่งมรดกโดยโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งการจัดการมรดกดังกล่าวเป็นการจัดการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการสละมรดกที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ในขณะที่โจทก์เป็นผู้เยาว์เพื่อให้โจทก์มีสิทธิรับมรดก รวมทั้งเพิกถอนและแก้ไขนิติกรรม การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เพื่อให้ทรัพย์พิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกดังเดิม โดยให้จำเลยที่ 2 ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และแก้ไขการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 โดยให้การจดทะเบียนจำนองทรัพย์พิพาทมีผลเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนโฉนดเลขที่ 51548 เนื้อที่ 62 ตารางวา และโฉนดที่ดินเลขที่ 15120 และ 22348 เนื้อที่แปลงละ 1 งาน ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทเฉพาะส่วนของตนเองเท่านั้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูก โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระต่อศาลในนามของโจทก์) โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2546 นายไตรรงค์ เจ้ามรดกถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุหัวใจขาดเลือดฉับพลัน โดยขณะถึงแก่ความตายมีโจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายไตรรงค์รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 จึงเป็นทายาทโดยธรรม และนายไตรรงค์มีจำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และนางสาวกาญนา ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2547 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายไตรรงค์ ขณะถึงแก่ความตายนายไตรรงค์มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 51548, 15120 และ 22348 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2548 ในขณะที่โจทก์อายุ 11 ปี จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำหนังสือให้โจทก์สละมรดกของนายไตรรงค์โดยไม่ได้รับความยินยอมของนางสาวมาริสาหรือชลทิพย์ มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม และไม่ได้รับอนุมัติจากศาลอันเป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1611 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาททั้งสามแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีสิทธิและมิชอบด้วยกฎหมาย และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี นั้น ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ให้การถึง คงให้การต่อสู้ว่า โจทก์ต้องฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกภายในระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการจัดการมรดกเท่านั้น กำหนดอายุความ 1 ปี จากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างในฎีกาจึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบตั้งแต่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ได้อ้างโต้แย้งในฎีกาว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ไม่ถูกต้องอย่างไร ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนกรณีที่อ้างว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงนั้น ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2548 ขณะโจทก์มีอายุ 11 ปี นั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำหนังสือให้โจทก์สละมรดกของนายไตรรงค์โดยไม่ได้รับความยินยอมของนางสาวมาริสาหรือชลทิพย์ มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์และไม่ได้รับอนุมัติจากศาล อันเป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1611 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดการแบ่งมรดกโดยโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก กรณีจึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง เพราะการจัดการมรดกดังกล่าวเป็นการจัดการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.89/2565
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ก. จำเลย - นาง ฉ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สุพิศ ปราณีตพลกรัง ศักดิ์ชัย รังษีวงศ์ บวรศักดิ์ ทวิพัฒน์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดปทุมธานี - นายรัฐการ พ่วงทิพากร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายสุรวุฒิ เชาวลิต