คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4179 - 4180/2565
พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ม. 3, 42/2 (3), 42/3
ขั้นตอนการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญและการออกหนังสือนัดประชุมตามมาตรา 42/2 (3) และมาตรา 42/3 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 นอกจากคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมแล้ว ระยะเวลาตามกฎหมายในการเรียกประชุมใหญ่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมด้วย หากไม่สามารถออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่ได้โดยชอบตามมาตรา 42/3 ก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้แทนเจ้าของร่วมอาคารชุดต้องรอให้ล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมก่อนจึงจะออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ ต่างจากกรณีที่ผู้ถือหุ้นร้องขอต่อกรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1173, 1174 ขั้นตอนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ขัดหรือแย้งกับ ป.พ.พ. จึงต้องใช้บังคับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 และมาตรา 42/3 ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 จึงต้องจัดส่งหนังสือเรียกประชุมให้เจ้าของร่วมอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 9 มีนาคม 2562 จึงจะเป็นการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบ การที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ออกหนังสือเรียกประชุม ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบและต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ทั้งสองครั้งตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้า
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกนายอลงกรณ์ และนายมาร์ติน ผู้ร้องในสำนวนที่สองว่า ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 เรียกนายศิริชัย นายศุภกร นายสมบูรณ์ ผู้ร้องในสำนวนแรกและสำนวนที่สองว่า ผู้ร้องที่ 3 ถึงที่ 5 เรียกนายอาทิตย์ นายชาคร นางวิภาดา นายภูมิพิศ นายปิยะ และนางสาวสิรินทร์พร ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 และเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195
ผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความแถลงยอมรับข้อเท็จจริงตามคำร้องและคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 ร้องขอให้คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ด. เดิมเปิดประชุมใหญ่วิสามัญโดยมีรายชื่อเจ้าของร่วมอาคารชุดเกินกว่าร้อยละยี่สิบ และคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ด. เดิมได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ด. เดิมไม่ได้มีหนังสือเรียกประชุมและไม่จัดให้มีการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ในวันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ผู้ร้องทั้งห้าได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ไม่เข้าร่วมประชุม การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุมและมีมติ เมื่อผู้คัดค้านทั้งหกนำมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งว่ามติดังกล่าวไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 (3) ส่วนประเด็นอื่นนอกจากนี้คู่ความขอสละทั้งสิ้นและไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้เพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2 วันที่ 23 มีนาคม 2562 และเพิกถอนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 วันที่ 21 เมษายน 2562 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งหกฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความรับและไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 กับผู้คัดค้านทั้งหกต่างเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุด ด. ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดได้รับหนังสือร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 โดยมีคะแนนเสียงเจ้าของร่วมเกินกว่าร้อยละยี่สิบของเจ้าของร่วมทั้งหมด แต่ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับคำร้องขอ วันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 23 มีนาคม 2562 แล้วลงมติให้ถอดถอนผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ออกจากการเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและแต่งตั้งผู้คัดค้านทั้งหกเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดแทน ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2562 คณะกรรมการนิติบุคคลชุดใหม่โดยผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ในวันที่ 21 เมษายน 2562 และลงมติในวาระต่าง ๆ หลังจากนั้นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด 9 คน ลาออก 5 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เหลือเพียง 4 คน ไม่เพียงพอเป็นองค์ประชุม เจ้าของร่วมคะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละยี่สิบของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้ดำเนินการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3/2562 อีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ที่ประชุมลงมติเลือกผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 กลับเข้ามาเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไว้แล้ว ในสำนวนที่สอง
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งหกเพียงประการเดียวว่า การเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 (3) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 กำหนดขั้นตอนการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญและการออกหนังสือนัดประชุม โดยในมาตรา 42/2 บัญญัติว่า "ในกรณีมีเหตุจำเป็น ให้บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็ได้
(1) ผู้จัดการ
(2) คณะกรรมการโดยมติเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมคณะกรรมการ
(3) เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดลงลายมือชื่อทำหนังสือร้องขอให้เปิดประชุมต่อคณะกรรมการ ในกรณีนี้ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับคำร้องขอ ถ้าคณะกรรมการมิได้จัดให้มีการประชุมภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าของร่วมตามจำนวนข้างต้นมีสิทธิจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ โดยให้แต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุม
มาตรา 42/3 การเรียกประชุมใหญ่ต้องทำเป็นหนังสือนัดประชุมระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควรและจัดส่งให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม" ดังนี้ เห็นได้ชัดว่าบุคคลผู้มีสิทธิในการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญของนิติบุคคลอาคารชุดมี 2 จำพวก จำพวกแรกได้แก่ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดและคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด จำพวกที่สอง ได้แก่ เจ้าของร่วมอาคารชุด สำหรับบุคคลจำพวกแรกคือ ผู้จัดการมีหน้าที่หลักในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ส่วนคณะกรรมการมีหน้าที่หลักในการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด บทบัญญัติดังกล่าวจึงให้อำนาจบุคคลจำพวกแรกในการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญด้วยความสะดวก ส่วนเจ้าของร่วมอาคารชุด จะใช้สิทธิในการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดและคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดเพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ของเจ้าของร่วมได้ต่อเมื่อคณะกรรมการไม่ดำเนินการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วม และต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติของกฎหมายไม่ประสงค์ให้เจ้าของร่วมร้องขอหรือจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยง่ายซึ่งอาจกระทบต่อการบริหารงานของบุคคลจำพวกแรก เนื่องจากเจ้าของร่วมได้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงไว้วางใจเลือกตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดในที่ประชุมใหญ่ก่อนแล้ว จึงจำเป็นต้องกำหนดขั้นตอนในการใช้สิทธิในการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญไว้แตกต่างจากบุคคลในจำพวกแรก อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้งสองจำพวกจะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็น และต้องอยู่ในบังคับว่าด้วยวิธีการออกหนังสือนัดประชุมตามมาตรา 42/3 กล่าวคือ ในประการแรก จะต้องทำเป็นหนังสือนัดประชุมระบุสถานที่ วัน เวลา ระเบียบวาระการประชุม และเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมพร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร และประการที่สอง จะต้องจัดส่งให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันประชุม มิฉะนั้น ถือว่าเป็นการเรียกประชุมใหญ่โดยมิชอบ การเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในกรณีนี้นอกจากคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมแล้ว ระยะเวลาตามกฎหมายในการเรียกประชุมใหญ่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมแล้วด้วย ดังนั้น หากระยะเวลาล่วงพ้นจนคณะกรรมการไม่สามารถออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่ได้โดยชอบตามมาตรา 42/3 ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่ผู้แทนเจ้าของร่วมอาคารชุดต้องรอให้ล่วงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมเสียก่อนจึงจะออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่จะตีความให้ผลเป็นเช่นนั้น จึงมีความแตกต่างจากการเรียกประชุมกรณีที่ผู้ถือหุ้นร้องขอต่อกรรมการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1173 ซึ่งตามมาตรา 1174 บัญญัติให้กรรมการต้องเรียกประชุมโดยพลัน ถ้าและกรรมการมิได้เรียกประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันยื่นคำร้อง ผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ร้อง หรือผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ รวมกันได้จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัทจะเรียกประชุมเองก็ได้ ถือเป็นกรณีที่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้กรรมการดำเนินการเรียกประชุมภายในกำหนดระยะเวลาเสียก่อน หากไม่ได้เรียกภายในระยะเวลาดังกล่าวผู้ถือหุ้นจึงจะดำเนินการเรียกประชุมเองได้ อันเป็นการถือเอาเกณฑ์ล่วงพ้นระยะเวลาการเรียกประชุมเป็นสำคัญ มิใช่ถือเอาเกณฑ์การจัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้นโดยชอบภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นสำคัญดังเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 และมาตรา 42/3 ทั้งนี้เพราะการส่งคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการดำเนินการลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่การส่งหนังสือเรียกประชุมใหญ่ให้แก่เจ้าของร่วมอาคารชุดสามารถกระทำได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เพราะเจ้าของร่วมมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในอาคารชุดนั้นเอง ดังนี้ ขั้นตอนการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ดี การออกหนังสือนัดประชุมก็ดี ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นกรณีขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 และมาตรา 42/3 ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวได้รับหนังสือร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 โดยมีคะแนนเสียงเจ้าของร่วมเกินกว่าร้อยละยี่สิบของเจ้าของร่วมทั้งหมด ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับคำร้องขอ คือ อย่างช้าภายในวันที่ 17 มีนาคม 2562 ซึ่งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดจะต้องจัดส่งหนังสือเรียกประชุมให้เจ้าของร่วมอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 9 มีนาคม 2562 จึงจะเป็นการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบ การที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ออกหนังสือเรียกประชุม ในวันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 23 มีนาคม 2562 เกินกว่าระยะเวลาเจ็ดวันตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42/3 ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบและต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว เมื่อปรากฏว่ามีเจ้าของร่วมอาคารชุดเข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวครบองค์ประชุม การประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมอาคารชุด ด. ครั้งที่ 2/2562 วันที่ 23 มีนาคม 2562 จึงเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 และมีผลให้การประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมอาคารชุด ด. ประจำปี 2562 วันที่ 21 เมษายน 2562 ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ทั้งสองครั้งดังกล่าวตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งหกฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)487-488/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นาย ศ. กับพวก ผู้คัดค้าน - นาย อ. กับพวก
ชื่อองค์คณะ สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล ประทีป อ่าววิจิตรกุล วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายสุวีร์ ตรียุทธนากุล ศาลอุทธรณ์ - นางฉัตรทิชา ชัยรัชต์กร