สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2564

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2564

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5), 160 วรรคหนึ่ง

ฟ้องโจทก์แยกบรรยายการกระทำซึ่งอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตามลำดับเหตุการณ์ที่จำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์และปลอมลายมือชื่อโจทก์กับใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมกล่าวอ้างต่อผู้พิพากษา ฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหาเป็นความผิดหลายกระทงซึ่งโจทก์รวมมาในฟ้องเดียวกันได้ เพียงแต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ซึ่งการบรรยายการกระทำทั้งหลายตามลำดับเหตุการณ์เป็นการแยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องฟ้องแยกแต่ละกระทงเป็นข้อ ๆ ดังนั้น การที่ฟ้องโจทก์บรรยายข้อ 1 ข ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้พิพากษาหลงเชื่อว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจปลอม จึงไม่ได้แยกต่างหากจากฟ้องข้อ 1 ก และเท่ากับฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าจำเลยกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง อันเป็นการบรรยายถึงเจตนาพิเศษในการกระทำของจำเลยแล้ว และเมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จึงไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจว่าเป็นเจตนาพิเศษของบุคคลอื่นนอกจากจำเลยไปได้ จำเลยย่อมเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (ที่ถูก ต้องระบุว่า แต่กระทงเดียว) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูก ไม่ต้องระบุมาตรา 90) จำคุก 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นมารดานายสุจินดา เดิมนายสุจินดาทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ต. มีจำเลยและโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน แต่นายสุจินดาผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ บริษัท ต. จึงเป็นโจทก์ฟ้องนายสุจินดากับจำเลยและโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดขอนแก่นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ 2128/2559 ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาตามยอม โดยคดีดังกล่าวมีจำเลยในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจนายสุจินดาและโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบริษัท ต.

คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การบรรยายฟ้องต้องให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์ไม่มีข้อความใดที่ทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจในข้อหาหรือการกระทำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ฟ้องต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และฟ้องโจทก์ข้อหาปลอมเอกสารและข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ยังต้องบรรยายองค์ประกอบความผิดของข้อหาดังกล่าวให้ครบถ้วน โดยความผิดฐานปลอมเอกสารจำเลยต้องมีเจตนาพิเศษในการทำเอกสารปลอมเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ทั้งต้องปรากฏพฤติการณ์ประกอบการทำเอกสารปลอมนั้นด้วยว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ส่วนความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมก็ต้องปรากฏพฤติการณ์ประกอบการใช้หรืออ้างเอกสารปลอมนั้นด้วยว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเช่นกัน การที่ฟ้องโจทก์แยกบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตามลำดับเหตุการณ์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2560 ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยทำปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์และปลอมลายมือชื่อโจทก์ และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวอ้างแสดงต่อผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นฟ้องข้อ 1 ก และข้อ 1 ข ตามลำดับนั้น ฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหาเป็นความผิดหลายกระทง ซึ่งโจทก์รวมมาในฟ้องเดียวกันได้ เพียงแต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ซึ่งการที่โจทก์บรรยายการกระทำทั้งหลายตามลำดับเหตุการณ์นั้นเป็นการแยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องฟ้องแยกแต่ละกระทงเป็นข้อ ๆ ดังนั้น การที่ฟ้องโจทก์บรรยายในข้อ 1 ข ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้พิพากษาหลงเชื่อว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจปลอมจึงไม่ได้แยกต่างหากออกจากฟ้องข้อ 1 ก และเท่ากับฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่าจำเลยกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง อันเป็นการบรรยายถึงเจตนาพิเศษในการกระทำของจำเลยแล้ว เมื่อการกระทำทั้งหลายตามฟ้องทั้งสองข้อนั้นโจทก์อ้างว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จึงไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจว่าเป็นเจตนาพิเศษของบุคคลอื่นนอกจากจำเลยไปได้และจำเลยย่อมเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นนี้ ฟ้องโจทก์ฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก จึงชอบด้วยกฎหมายด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นและเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว อาจมีผลต่อการฎีกาตามกฎหมายได้ จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1258/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ถ. จำเลย - นาง ป.

ชื่อองค์คณะ ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ แก้ว เวศอุไร ภัฏ วิภูมิรพี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงขอนแก่น - นางสาวณัฏฐ์นิชา สุวรรณพงษ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายวิรัตน์ สีดาคุณ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE