คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423/2563
พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ม. 19 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้" พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดเวลาให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องก็เพื่อต้องการให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องโดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 โดยอ้างว่ากัญชาของกลางมีน้ำหนัก 5.51 กรัม ต่อมาผู้ร้องได้รับรายงานการตรวจพิสูจน์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 เวลา 16 นาฬิกา ปรากฏว่าน้ำหนักเฉพาะกัญชาของกลาง 4.44 กรัม ไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม จึงเข้าเงื่อนไขของมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 ข้อ 3 (2) อันเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย แต่ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้มีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา แต่ผู้ร้องไม่ดำเนินการ กลับยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 และครั้งที่ 4 วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 และเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 หลังจากทราบผลรายการตรวจพิสูจน์แล้วถึง 33 วัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง จึงชอบจะยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดของผู้ร้อง
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาพร้อมกัญชาแห้งบรรจุในถุงพลาสติกใสน้ำหนักรวมถุงประมาณ 5.51 กรัม เป็นของกลาง ควบคุมตัวตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด ผลการตรวจพบปัสสาวะเป็นสีม่วง ผู้ต้องหารับว่าได้เสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อน จึงดำเนินคดีในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (กัญชา) ไว้ในครอบครอง และเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น มีกำหนด 12 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาต หลังจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องฝากขังผู้ต้องหาต่อมาครั้งที่ 4 แล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ว่า ได้ส่งกัญชาของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 4 ขอนแก่น ได้รับผลการตรวจว่ากัญชาของกลางมีน้ำหนัก 4.44 กรัม ซึ่งกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2556 (ที่ถูก พ.ศ.2546) ข้อ 2 (3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้แก่ กัญชามีน้ำหนักไม่เกินห้าพันมิลลิกรัม พนักงานสอบสวนไม่สามารถฝากขังผู้ต้องหาได้ แต่ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด จึงขอให้ศาลยกเลิกการฝากขังและมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ต้องหาถูกจับเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 วันดังกล่าวผู้ร้องขอฝากขังผู้ต้องหา เนื่องจากชั่งน้ำหนักของกลางรวมถุงได้ 5.51 กรัม ซึ่งหากชั่งน้ำหนักเฉพาะของกลางย่อมทราบได้ว่าของกลางมีน้ำหนัก 4.44 กรัม อันเป็นปริมาณที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่ผู้ต้องหาเดินทางมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 กรณีดังกล่าวไม่ใช่วิสัยจะทำไม่ได้ อีกทั้งผลการตรวจพิสูจน์แจ้งมาตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2562 แต่ผู้ร้องยังคงฝากขังต่อมาจนถึงวันยื่นคำร้อง และไม่ปรากฏมีเหตุจำเป็นของผู้ต้องหาทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ จึงเป็นการยื่นคำร้องเกิน 48 ชั่วโมง ตามนัยพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 ไม่อาจส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดได้และไม่มีอำนาจฝากขังต่อไป ต้องปล่อยผู้ต้องหาไป ยกคำร้องและคำร้องฝากขัง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้" จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดเวลาให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องก็เพื่อต้องการให้พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องโดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลย คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 โดยอ้างว่ากัญชาของกลางมีน้ำหนัก 5.51 กรัม ต่อมาผู้ร้องได้รับรายงานการตรวจพิสูจน์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 เวลา 16 นาฬิกา ปรากฏว่าน้ำหนักเฉพาะกัญชาของกลาง 4.44 กรัม ไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม จึงเข้าเงื่อนไขของมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 ข้อ 3 (2) อันเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งตอนท้าย แต่ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้มีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยเร็วเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลย แต่จากข้อเท็จจริงเมื่อผู้ร้องทราบผลรายงานการตรวจพิสูจน์แล้วตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2562 เวลา 16 นาฬิกา ผู้ร้องไม่ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด แต่กลับยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 และครั้งที่ 4 วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 และเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 หลังจากทราบผลรายการตรวจพิสูจน์แล้วถึง 33 วัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1668/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองเรือ ผู้ต้องหา - นาย อ.
ชื่อองค์คณะ วยุรี วัฒนวรลักษณ์ พีรศักดิ์ ไวกาสี ธนิต รัตนะผล
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดชุมแพ - นายทศพล คำภูเวียง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายมนัส ติระกุล