สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2563

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 160 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคสาม

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควรตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี แม้ว่าถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ แต่การไม่ยินยอมก็มีผลตามกฎหมายโดยมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติผลของการไม่ยินยอมให้ตรวจของคู่ความไว้ว่า หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอม โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ยินยอมของคู่ความจะมีผลให้ใช้ข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่เป็นผลร้ายแก่คู่ความที่ไม่ยินยอมให้ตรวจได้ จะต้องเกิดจากคำสั่งของศาลที่สั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยชอบ กล่าวคือเป็นการสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ด้วย แต่เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. ตามที่สูติบัตรของจำเลยที่ 1 ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรตามปกติต้องตรวจสอบจากตัวบิดากับผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตรนั้น เมื่อ ส. เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่อยู่ในวิสัยจะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ กรณีต้องใช้กระบวนการทางเลือก โดยให้ตรวจกับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับ ส. เช่น เป็นบิดา มารดา บุตรหรือพี่น้องของ ส. แต่คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งความเป็นบุตร ส. ของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในขณะที่ต่างยังโต้แย้งกันอยู่ แม้มีการตรวจพิสูจน์แล้วและผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถนำผลการตรวจมาวินิจฉัยเป็นยุติว่า บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ ส. ได้ ส่วนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทสำคัญในคดีที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหรือไม่เป็นบุตรของ ส. ได้ เพราะจำเลยที่ 1 อาจไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 แต่อาจเป็นบุตรของ ส. ก็เป็นได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่คำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามบทบัญญัติมาตรา 160 แม้คู่ความไม่ยินยอมไปตรวจก็ไม่มีผลให้นำข้อสันนิษฐานใด ๆ มาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนำสืบ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนาย ส. ตามที่สูติบัตรระบุไว้ กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1 หรือพิพากษาว่าสูติบัตรของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองไปจดแจ้งการเพิกถอนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น หากไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากสูติบัตรของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า นายสมชาย เป็นบุตรของนายใบคาน กับนางเหลี่ยม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ นางรัศมี นายสมชาย และนางมาลินี นายสมชายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนายสมชายต่อศาลจังหวัดสระบุรีอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ที่เกิดกับนายสมชายโดยนายสมชายรับรองโดยพฤตินัยว่าเป็นบุตรจึงมีสิทธิได้รับมรดกของนายสมชาย ขอจัดการมรดกโดยขอให้ศาลตั้งนางรัศมีเป็นผู้จัดการมรดก ศาลจังหวัดสระบุรีมีคำสั่งตั้งนางรัศมีเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมชายเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ตามคำสั่งศาล ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ถอนนางรัศมีออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแทนอ้างว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสมชายกับนางสาธนา นายสมชายรับรองโดยพฤตินัยว่าโจทก์เป็นบุตรจึงมีสิทธิได้รับมรดกของนายสมชาย นางรัศมีเป็นผู้จัดการมรดกแต่ไม่จัดการแบ่งมรดกให้ทายาท ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ที่เกิดกับนายสมชายไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนายสมชาย ศาลจังหวัดสระบุรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายสมชายร่วมกับนางรัศมี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาพิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7792/2561

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกามีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสมชายซึ่งนายสมชายรับรองโดยพฤตินัยว่าโจทก์เป็นบุตร โจทก์จึงเป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกของนายสมชาย การที่จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ที่เกิดกับนายสมชายแต่จำเลยที่ 2 นำสูติบัตรของจำเลยที่ 1 มาแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ที่เกิดกับนายสมชายเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 บัญญัติให้บุตรที่เจ้ามรดกผู้เป็นบิดารับรองเป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นบุตรและเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสมชาย หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ที่เกิดกับนายสมชายแต่สูติบัตรของจำเลยที่ 1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ที่เกิดกับนายสมชายซึ่งอาจมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับมรดกของนายสมชายตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เพราะทำให้สิทธิของโจทก์ในการรับมรดกของนายสมชายลดน้อยลงได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อโจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกของนายสมชายเพราะโจทก์เป็นบุตรและเป็นทายาทของนายสมชาย แต่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรของนายสมชาย ไม่ใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายสมชาย โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ถึงสิทธิดังกล่าวของโจทก์ ในปัญหานี้โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความว่า โจทก์เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นบุตรของนายสมชาย กับนางสาธนา โจทก์ใช้ชื่อสกุลของนายสมชายและอยู่บ้านเดียวกับนายสมชายมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งนายสมชายถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายสมชายกับมารดาโจทก์อยู่กินด้วยกันมาตลอดที่บ้านดังกล่าวและซื้อที่ดินและปลูกบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งโจทก์อยู่อาศัยในปัจจุบันไว้อยู่ด้วยกันอีกด้วย นายสมชายแสดงออกต่อบุคคลทั่วไปว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสมชายตลอดมา เมื่อโจทก์อายุประมาณ 6 ถึง 7 ปี นายสมชายพาโจทก์ไปอยู่กับนายสมชายที่ประเทศปากีสถานเป็นเวลาประมาณ 14 ปี โดยให้โจทก์เรียนหนังสือที่ประเทศปากีสถาน หลังจากนั้นนายสมชายพาโจทก์กลับมาประเทศไทยมาอยู่ด้วยกันที่บ้านที่จังหวัดสระบุรีและจังหวัดเชียงใหม่จนกระทั่งนายสมชายถึงแก่ความตาย ส่วนจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานในเรื่องนี้ เห็นว่า โจทก์มีสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านที่ระบุว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสมชาย อยู่ร่วมบ้านเดียวกับนายสมชายและใช้ชื่อสกุลของนายสมชายมาตั้งแต่แรกเกิด เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้นจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องมานำสืบเป็นพยานหลักฐานให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนายสมชายและเป็นพยานเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่นายสมชายรับรองว่าโจทก์เป็นบุตรของนายสมชาย เมื่อจำเลยทั้งสองไม่นำสืบโต้แย้งคัดค้านเป็นอย่างอื่นเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ทั้งนางรัศมีพยานจำเลยยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า โจทก์เป็นบุตรของนายสมชาย พยานเป็นป้าของโจทก์เคยเลี้ยงดูโจทก์และดูแลครอบครัวโจทก์ แบ่งปันทรัพย์มรดกให้ตลอดมาจนกระทั่งมีข้อพิพาทกันเมื่อปี 2553 อันเป็นการเจือสมพยานหลักฐานของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรที่นายสมชายผู้เป็นบิดารับรองแล้วมีผลให้โจทก์เป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายสมชายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าโต้แย้งสิทธิในการรับมรดกของโจทก์ได้

ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกามีว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนใบสูติบัตรของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด ในปัญหานี้เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 และศาลชั้นต้นเห็นว่า การตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มีผลแสดงความสัมพันธ์ได้จึงมีคำสั่งให้คู่ความไปดำเนินการตรวจพิสูจน์ดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไปตรวจตามนัดหมาย จึงเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่คู่ความไม่ไปตรวจพิสูจน์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวมีผลทางกฎหมายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ในปัจจุบันการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ เป็นการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ในระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการรับฟัง สำหรับคดีครอบครัว มีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควรตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี แม้กฎหมายจะไม่สามารถบังคับให้คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้องได้โดยบัญญัติว่าถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ แต่การไม่ยินยอมก็มีผลตามกฎหมายโดยมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติผลของการไม่ยินยอมให้ตรวจของคู่ความไว้ว่า หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอมให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามวรรคหนึ่ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการ ให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ยินยอมของคู่ความจะมีผลให้ใช้ข้อสันนิษฐานที่เป็นผลร้ายแก่คู่ความที่ไม่ยินยอมให้ตรวจได้จะต้องเกิดจากคำสั่งของศาลที่สั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยชอบ กล่าวคือเป็นการสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีตามที่มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การในคดีนี้แล้วเห็นได้ว่า ข้อพิพาทที่เป็นเหตุให้โจทก์มาฟ้องขอเพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1 เพราะสูติบัตรดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิในการรับมรดกของนายสมชายที่เกิดจากความเป็นบุตรที่นายสมชายรับรองตามมาตรา 1627 ประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีจึงมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายสมชายตามที่สูติบัตรของจำเลยที่ 1 ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรตามปกติต้องตรวจสอบจากตัวบิดากับผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตรนั้น เนื่องจากในการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ในคดีนี้ นายสมชายผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเสียชีวิตไปแล้วจึงไม่อยู่ในวิสัยจะทำการตรวจได้ กรณีต้องใช้กระบวนการทางเลือก โดยให้ตรวจผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตรตรวจสอบกับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับนายสมชาย เช่น เป็นบิดา มารดา บุตรหรือพี่น้องของนายสมชายแล้วนำผลการตรวจพิสูจน์มาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ชอบจะกระทำได้ อย่างไรก็ตามการตรวจในกรณีนี้ต้องมีข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยุติแล้วว่า เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับนายสมชายดังกล่าวแล้ว แต่คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งความเป็นบุตรนายสมชายของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในขณะที่ต่างยังโต้แย้งกันอยู่เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ว่า แม้มีการตรวจพิสูจน์แล้วและผลการพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถนำผลของการตรวจมาวินิจฉัยเป็นยุติได้ว่า บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือนายสมชายได้ ส่วนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 นั้นก็ไม่อาจนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทสำคัญในคดีที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหรือไม่เป็นบุตรของนายสมชายได้เช่นเดียวกันเพราะจำเลยที่ 1 อาจไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 แต่อาจเป็นบุตรของนายสมชายก็เป็นได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่งดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามบทบัญญัติมาตรา 160 แม้คู่ความไม่ยินยอมไปตรวจก็ไม่มีผลให้นำข้อสันนิษฐานใด ๆ มาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนำสืบ ในปัญหานี้โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความว่า นายสมชายมีโจทก์เป็นบุตรคนเดียว จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ที่เกิดกับนายสมชาย กรมสอบสวนคดีพิเศษเคยส่งสารพันธุกรรม (D.N.A.) ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไปตรวจพิสูจน์แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่มีความสัมพันธ์เป็นมารดาและบุตรกัน และมีนางสาวบุญสม ภริยาคนหนึ่งของนายวิชัย ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยแต่งงานกับนายสมชาย พยานไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 ตั้งครรภ์ ส่วนจำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาคนที่สี่ของนายสมชาย โดยเข้าพิธีสมรสกันตามศาสนาอิสลาม มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือจำเลยที่ 1 ระหว่างอยู่กินด้วยกันจำเลยที่ 2 อยู่ที่บ้านเลขที่ 5 ซึ่งอยู่ในรั้วเดียวกับบ้านเลขที่ 3 ที่นายสมชายอาศัยอยู่ เดิมจำเลยที่ 1 มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 3 กับนายสมชายมาตั้งแต่เด็ก มีนางรัศมีมาเบิกความว่า พยานเป็นพี่ของนายสมชาย ครอบครัวของพยานเป็นครอบครัวใหญ่ ปกครองดูแลกันในครอบครัวโดยมีนายใบคานบิดาเป็นหัวหน้าครอบครัว ทั้งครอบครัวอยู่อาศัยร่วมกันที่บ้านเลขที่ 3 นายสมชายมีภริยา 4 คน ภริยาคนที่สามเป็นชาวปากีสถาน มีบุตรด้วยกัน 5 คน นายสมชายรับรองบุตรทั้งห้าคนว่าเป็นบุตรของตน จำเลยที่ 1 เคยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A.) เปรียบเทียบกับบุตรชาวปากีสถานดังกล่าวแล้วผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน และมีนางมาลินีมาเบิกความว่า พยานเป็นน้องของนายสมชาย จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 ที่เกิดกับนายสมชาย จำเลยที่ 2 คลอดจำเลยที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 3 ต่อมาพยานเป็นคนไปแจ้งเกิดให้จำเลยที่ 1 นายสมชายรับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรโดยอุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษาและให้ใช้ชื่อสกุลตลอดมา เห็นว่า แม้โจทก์จะมีนางสาวบุญสม ซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของจำเลยที่ 2 มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ แต่พยานเบิกความว่า พยานอยู่กรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ที่จังหวัดเดียวกับจำเลยที่ 2 ทั้งพยานยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่าพยานมีคดีพิพาทกับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนายวิชัย ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายชนะคดีอีกด้วย คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อย ที่โจทก์มีรายงานการตรวจพิสูจน์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องมาเบิกความรับรองการตรวจพิสูจน์มานำสืบ แต่ผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวก็ได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่มีความสัมพันธ์เป็นมารดากับบุตรกัน ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จะนำมาพิสูจน์ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายสมชายหรือไม่แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนจำเลยทั้งสองมีพยานเอกสารเป็นสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 3 ซึ่งเป็นบ้านเดียวกับสำเนาทะเบียนบ้าน ที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายสมชาย อยู่ร่วมบ้านเดียวกับนายสมชายและใช้ชื่อสกุลของนายสมชายมาตั้งแต่แรกเกิด เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้นต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ว่า เป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีนางมาลินี ซึ่งเป็นผู้แจ้งการเกิดให้แก่จำเลยที่ 1 มาเบิกความรับรองข้อเท็จจริงตามสูติบัตร โดยมีนางรัศมีมาเบิกความยืนยันทำนองเดียวกับนางมาลินีอีกด้วย พยานจำเลยทั้งสองปากดังกล่าวเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายสมชาย เป็นบุคคลในครอบครัวของนายสมชาย ย่อมรู้เห็นข้อเท็จจริงในครอบครัวและความเป็นมาของคนในครอบครัวเป็นอย่างดี คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักให้รับฟังสนับสนุนพยานเอกสารของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเอกสารมหาชนดังกล่าวให้มีน้ำหนักหนักแน่นยิ่งขึ้น ทำให้พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายสมชาย กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แม้โจทก์เป็นบุตรและทายาทของนายสมชาย โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนสูติบัตรดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ยช.(พ)15/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ซ. จำเลย - นางสาว ว. กับพวก

ชื่อองค์คณะ อโนชา ชีวิตโสภณ วาสนา หงส์เจริญ กาญจนา ชัยคงดี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสระบุรี - นายณธษา ฐิติธัญโชติ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ - นายฐานันท์ วรรณโกวิท

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE