คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4478/2564
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 420 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ม. 8 วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 71 (2)
แม้ที่เกิดเหตุจะเป็นทางร่วมทางแยกที่มีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท และการที่จำเลยขับรถตู้ของโจทก์ไปตามถนนซอย 2 สายตรี มุ่งหน้าไปทางถนนเซาน์เทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเป็นทางโทไม่หยุดรถรอให้รถกระบะที่ ว. ขับมาตามถนนซอย 2 จากทางอำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นทางเอกผ่านไปก่อนแล้วจึงจะขับเข้าไปในทางร่วมทางแยก เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71 (2) แต่การฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจะถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีประกอบด้วย เมื่อตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก ช. ซึ่งขณะเกิดเหตุนั่งด้านหน้ารถคู่กับจำเลยบ่งชี้ให้เห็นว่า ในการขับรถตู้ของโจทก์ผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุ จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังในระดับหนึ่งแล้วแม้จะไม่ใช่ความระมัดระวังในระดับที่วิญญูชนในภาวะเช่นเดียวกับจำเลยจะต้องมีก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความประมาทเลินเล่อธรรมดาหาใช่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และแม้จำเลยมีหน้าที่ขับรถให้แก่โจทก์ แต่ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยนั้นไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการใช้ความระมัดระวังไว้เป็นอย่างอื่น การพิจารณาในเรื่องความประมาทเลินเล่อจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยอยู่ในสังกัดขณะทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 10 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 974,527.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 731,095.80 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้างานพาหนะของโจทก์ขับรถตู้ของโจทก์ไปตามถนนซอย 2 สายตรี มุ่งหน้าไปทางถนนเซาน์เทิร์นซีบอร์ด เมื่อผ่านทางร่วมทางแยกตัดกับถนนซอย 2 นายวันชัย ขับรถกระบะแล่นมาตามถนนซอย 2 จากทางอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชนรถที่จำเลยขับบริเวณกลางรถทางด้านซ้าย เป็นเหตุให้รถของโจทก์ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวนมีความเห็นว่านายวันชัยเป็นฝ่ายประมาทและพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องนายวันชัยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งมีความเห็นว่า จำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่กรมบัญชีกลางเห็นว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนอัตราร้อยละ 75 ของความเสียหายจำนวน 1,299,369.86 บาท จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษามีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ที่เกิดเหตุจะเป็นทางร่วมทางแยกที่มีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท และการที่จำเลยขับรถตู้ของโจทก์ไปตามถนนซอย 2 สายตรี มุ่งหน้าไปทางถนนเซาน์เทิร์นซีบอร์ดซึ่งเป็นทางโทไม่หยุดรถรอให้รถกระบะที่นายวันชัยขับมาตามถนนซอย 2 จากทางอำเภอกาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นทางเอกผ่านไปก่อนแล้วจึงจะขับเข้าไปในทางร่วมทางแยก เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 71 (2) ที่บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 26 เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงทางร่วมทางแยก ให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติดังนี้ (1)… (2) ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน เว้นแต่ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท ให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน" แต่การฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจะถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีประกอบด้วย สำหรับคดีนี้โจทก์มีนายชูศักดิ์ ซึ่งขณะเกิดเหตุนั่งด้านหน้ารถคู่กับจำเลยเป็นพยานเบิกความตอบทนายโจทก์ซักถามว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยขับรถด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากมีฝนตก เมื่อมาถึงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุจำเลยหยุดรถ และเนื่องจากไม่มีสัญญาณไฟจราจรและทางด้านซ้ายมือของจำเลยมีกอหญ้าขึ้นสูง ไม่สามารถมองเห็นทางฝั่งซ้ายได้ชัดเจนนัก จำเลยจึงชะลอความเร็วรถลง เมื่อรถแล่นมาถึงกลางสี่แยกถูกรถกระบะพุ่งชน และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะขับรถข้ามสี่แยกที่เกิดเหตุจำเลยชะลอความเร็วในลักษณะเกือบหยุดรถ ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายชูศักดิ์ดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่า ในการขับรถตู้ของโจทก์ผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุ จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังในระดับหนึ่งแล้วแม้จะไม่ใช่ความระมัดระวังในระดับที่วิญญูชนในภาวะเช่นเดียวกับจำเลยจักต้องมีก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความประมาทเลินเล่อธรรมดา หาใช่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีหน้าที่ขับรถให้แก่โจทก์ ย่อมมีความเชี่ยวชาญในการขับรถ จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษกว่าวิญญูชนทั่วไป เมื่อจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการขับรถข้ามสี่แยกที่เกิดเหตุในขณะฝนตก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนั้น เห็นว่า ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยนั้นไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดในเรื่องการใช้ความระมัดระวังไว้เป็นอย่างอื่น การพิจารณาในเรื่องความประมาทเลินเล่อจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่พิจารณาตามมาตรฐานที่โจทก์กล่าวอ้าง เมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยอยู่ในสังกัดขณะทำละเมิด ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 10 วรรคหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในประเด็นค่าเสียหายอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.194/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี จำเลย - นาย ท.
ชื่อองค์คณะ วิทยา ยิ่งวิริยะ ไพจิตร สวัสดิสาร สุพิศ ปราณีตพลกรัง
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี - นางสาวน้ำผึ้ง แสนทวี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายวิระ สุดแก้ว