คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4499/2563
ประมวลกฎหมายอาญา ม. 36 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 195 วรรคสอง
ตามที่ ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติหลักเกณฑ์ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยนั้น หมายถึง นอกจากจะให้พิจารณาสั่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงแล้ว ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องผู้เป็นเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยประกอบด้วย คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นฟังว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องไต่สวนมายังไม่พอฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง แล้วพิพากษายกคำร้อง โดยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ ก็ด้วยเหตุว่าเมื่อผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของแท้จริงแล้ว ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 36 ที่จะให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่สั่งริบได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป และแม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษาให้ยกคำร้องหรือสั่งคืนของกลางให้เจ้าของตามสิทธิที่เป็นเจ้าของได้ ซึ่งปัญหาที่ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่นั้น แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นอ้างสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยตรงก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และริบรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้สั่งคืนของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมกับยึดรถบรรทุกพ่วงหมายเลขเครื่องยนต์ P11CVUH51809 หมายเลขตัวรถ MNKFM2PN1XHX10939 และตัวรถพ่วงหมายเลขตัวรถ SMM1301501538 ของกลาง ซึ่งไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มีน้ำหนักบรรทุกรวม 86,050 กิโลกรัม บรรทุกทรายมีน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 35,550 กิโลกรัม ซึ่งผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หยิบยกประเด็นว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติหลักเกณฑ์ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบให้แก่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยนั้น หมายถึง นอกจากจะให้พิจารณาสั่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงแล้ว ต้องพิจารณาว่าผู้ร้องผู้เป็นเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยประกอบด้วย คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นฟังว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องไต่สวนมายังไม่พอฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง แล้วพิพากษายกคำร้อง โดยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ ก็ด้วยเหตุว่าเมื่อผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของแท้จริงแล้ว ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ที่จะให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินที่สั่งริบได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป และแม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษาให้ยกคำร้องหรือสั่งคืนของกลางให้เจ้าของตามสิทธิที่เป็นเจ้าของได้ ซึ่งปัญหาที่ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่นั้น แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นอ้างสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยตรงก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในประการสุดท้ายว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 หลังเกิดเหตุ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุลักษ์นครพนม ก่อสร้าง ผู้เช่าซื้อ ยังคงชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้ร้องเรื่อยมา จนกระทั่งมาผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรถบรรทุกพ่วง งวดที่ 12 ประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตัวรถพ่วง งวดที่ 9 ประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 การที่ผู้ร้องนำสืบว่า เมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2561 ฝ่ายเร่งรัดหนี้สินของผู้ร้องได้ติดตามทวงถามค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ทำให้ทราบว่ารถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงที่ให้เช่าซื้อถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุลักษ์นครพนม ก่อสร้าง ผู้เช่าซื้อ ผิดนัด และเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ผู้ร้องจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุลักษ์นครพนม ก่อสร้าง กระทำผิดเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ สำหรับความผิดฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด นั้น ในการทำสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้เช่าซื้อไปครอบครองดูแลและใช้สอย การที่จำเลยนำรถบรรทุกและตัวรถพ่วงของกลางไปใช้กระทำผิดแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ผู้ร้องอาจจะไม่ทราบเรื่องก็ได้ ดังนั้น การที่ผู้ร้องมิได้แสดงความเป็นเจ้าของรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางต่อเจ้าพนักงานตำรวจหลังจากเกิดเหตุทันที หรือหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาริบรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 จึงไม่เป็นการผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนการที่ผู้ร้องไม่นำรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางไปจดทะเบียน ก็มิใช่ข้อที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วย และการที่ผู้ร้องรับชำระค่าเช่าซื้อหลังจากที่รถยนต์ของกลางถูกยึดแล้ว ก็มิใช่เป็นการบ่งชี้ว่าผู้ร้องกระทำโดยไม่สุจริตเสมอไป อีกทั้งผู้ร้องได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุลักษ์นครพนม ก่อสร้าง ผู้เช่าซื้อแล้ว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่วนความผิดฐานใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนและฐานประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า เมื่อผู้ร้องยังไม่ดำเนินการจดทะเบียนรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางให้ถูกต้อง รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางจึงเป็นรถที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยถูกจับกุมในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 เนื่องจากนำรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางที่ยังไม่ได้จดทะเบียน และไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน (ที่ถูก ประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต) ไปใช้ในการบรรทุกทรายมีน้ำหนักเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 ผู้ร้องจึงมีส่วนในการกระทำความผิดอยู่ด้วย ถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด นั้น เห็นว่า สำหรับความผิดฐานใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 สาระสำคัญของการกระทำความผิด คือ การไม่จดทะเบียนก่อนนำรถไปใช้ ส่วนความผิดฐานประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 สาระสำคัญของการกระทำความผิด คือ การไม่ได้รับใบอนุญาต รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานใช้รถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนและฐานประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันจะพึงริบได้ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง ย่อมมีสิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของกลางที่ให้เช่าซื้อคืนได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องโดยตรง พฤติการณ์แห่งคดียังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องขอคืนรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางเพื่อประโยชน์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดอนุลักษ์นครพนม ก่อสร้าง ผู้เช่าซื้อ อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอคืนรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลาง เมื่อผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดของจำเลย จึงต้องคืนรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางให้ผู้ร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้คืนรถบรรทุกพ่วงและตัวรถพ่วงของกลางแก่ผู้ร้อง
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1400/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดสกลนคร ผู้ร้อง - บริษัท ร. จำเลย - นาย ร.
ชื่อองค์คณะ ทองธาร เหลืองเรืองรอง พันธุ์เลิศ บุญเลี้ยง บุญทอง ปลื้มวรสวัสดิ์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสกลนคร - นายธราพงษ์ ทวีนุช ศาลอุทธรณ์ภาค 4 - นายวันชัย ธีราทรง