สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2559

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2559

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 80, 335

ก่อนเกิดเหตุ ย. แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่า รถจักรยานยนต์ของตนถูกคนร้ายลักไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้ว ย. เช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากผู้ให้เช่าซื้อ แล้วนำไปขายต่อให้แก่ผู้ใช้ชื่อว่า ข. เพื่อแลกกับเงินสด 13,000 บาท โดยจะมีชายไม่ทราบชื่อไปรับรถและมอบเงินให้ แต่ ย. ต้องไปแจ้งความว่ารถหายเพื่อให้ผู้รับประกันภัยรถคันดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนจับกุมโดยให้ ก. ติดต่อขอกู้ยืมเงิน 20,000 บาท จากผู้ใช้ชื่อว่า ข. และผู้ใช้ชื่อว่า ข. แจ้งให้ ก. ไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แล้วนำมามอบให้แลกกับเงิน 20,000 บาท การที่ ก. นัดจะส่งมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลย แล้วจำเลยจะมอบเงินให้ ก็เป็นเรื่องที่ ก. วางแผนจับกุมจำเลยโดยจะส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยเอง มิใช่จำเลยจะเอาไปซึ่งการครอบครองรถจักรยานยนต์จาก ก. โดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานพยายามลักทรัพย์

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 83, 80, 33 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก, 336 ทวิ ประกอบมาตรา 80, 83 จำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลหนองจอก ร่วมกันจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่บริเวณลานจอดรถยนต์ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาหนองจอก จับกุมจำเลยที่ 4 ได้ที่บ้านเลขที่ 201/641 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบ้านของจำเลยที่ 1 และที่ 4 โดยกล่าวหาจำเลยทั้งสี่ว่า ร่วมกันพยายามลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการหลบหนีหรือพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 เป็นน้องชายจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพื่อนจำเลยที่ 2

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่เป็นคนร้ายที่ร่วมกันกระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกอำนาจ สิบตำรวจเอกหญิง กาญจนา และสิบตำรวจเอก สมพงษ์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 ร้อยตำรวจเอก อำนาจ สิบตำรวจเอก สมพงษ์กับพวกจับกุมนายยุทธนา ในข้อหาแจ้งความเท็จจากการสืบสวนนายยุทธนาแจ้งความเท็จว่าตนถูกคนร้ายลักทรัพย์รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นอะไรจำไม่ได้ เหตุเกิดที่บริเวณตลาดท๊อป แขวงกระทุ่มราย เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ภายหลังนายยุทธนาได้ให้การรับสารภาพต่อร้อยตำรวจเอก อำนาจกับพวกว่า ความจริงแล้วรถจักรยานยนต์มิได้ถูกคนร้ายลักไป แต่นายยุทธนาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านเจริญกิ่งแก้ว สาขาลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แล้วนำไปส่งมอบให้แก่ผู้ที่ใช้ชื่อว่าข้าวตูเพื่อแลกกับเงิน 13,000 บาท โดยจะมีชายไม่ทราบชื่อเป็นผู้ไปรับรถจักรยานยนต์และจะมอบเงินให้แต่นายยุทธนาต้องไปแจ้งความว่ารถหาย เพื่อให้บริษัทผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน 2556 นายยุทธนามาพบร้อยตำรวจเอก อำนาจที่ห้องสืบสวนและเล่าว่า ผู้ที่ให้เงินค่าส่งมอบรถจักรยานยนต์ชื่อข้าวตู ซึ่งนายยุทธนาทราบหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อผู้ที่ใช้ชื่อข้าวตูจากเว็บไซต์โฆษณาในอินเตอร์เน็ต ในวันเดียวกันเวลาประมาณ 13 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอก อำนาจให้สิบตำรวจเอกหญิง กาญจนา ทดลองโทรศัพท์ไปหาผู้ที่ใช้ชื่อว่าข้าวตูตามหมายเลขที่นายยุทธนาให้ไว้ ปรากฏว่ามีผู้หญิงรับสายแจ้งว่าชื่อข้าวตู จากนั้นร้อยตำรวจเอก อำนาจให้สิบตำรวจเอกหญิง กาญจนาพูดขอกู้ยืมเงิน 20,000 บาท หญิงดังกล่าวบอกว่าให้สิบตำรวจเอกหญิง กาญจนาไปเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นสกูปี้ไอ แล้วนำมาแลกกับเงิน 20,000 บาท รุ่งขึ้นวันที่ 11 มิถุนายน 2556 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอก อำนาจให้สิบตำรวจเอกหญิง กาญจนาโทรศัพท์ติดต่อหญิงผู้ที่ใช้ชื่อข้าวตูอีกครั้ง ต่อมาสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนาแจ้งต่อร้อยตำรวจเอก อำนาจ ว่า หญิงผู้ที่ใช้ชื่อข้าวตูโทรศัพท์มาหาตน และนัดหมายส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาหนองจอก เวลาประมาณเที่ยงวัน โดยจะให้นายเต้ไปรับรถจักรยานยนต์ ร้อยตำรวจเอก อำนาจจึงเรียกเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาประชุมวางแผนเพื่อล่อขายรถจักรยานยนต์และจับกุมคนร้าย โดยยืมรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นสกูปี้ ไอ จากดาบตำรวจ เสกสรรค์ ผู้เสียหายเพื่อใช้ในการล่อขายและให้สิบตำรวจเอก สมพงษ์เป็นผู้ขับโดยมีสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนานั่งซ้อนท้าย ทั้งสองจะแต่งกายนอกเครื่องแบบ ส่วนร้อยตำรวจเอก อำนาจกับพวกจะใช้รถยนต์ราชการไม่ติดเครื่องหมายสัญลักษณ์ตำรวจกับเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 นาย ขับรถจักรยานยนต์ส่วนตัวติดตามไปที่จุดนัดหมาย เมื่อถึงเวลานัดหมาย สิบตำรวจเอก สมพงษ์ขับรถจักรยานยนต์มีสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนานั่งซ้อนท้ายไปจอดที่ลานจอดรถจักรยานยนต์ของห้างสรรพสินค้าเทสโลตัส สาขาหนองจอก ต่อมานายเต้โทรศัพท์มาหาสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนาให้นำรถจักรยานยนต์คันที่ล่อขายไปจอดในตำแหน่งที่กำหนด ขณะนั้นร้อยตำรวจเอก อำนาจกับพวกซุ่มดูอยู่ห่างประมาณ 50 เมตร สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนเนื่องจากไม่มีต้นไม้หรือรถจอดบังเพราะระหว่างนั้นลูกค้าของห้างฯ ยังมีไม่มาก จากนั้นร้อยตำรวจเอก อำนาจเห็นรถเก๋งยี่ห้อโตโยต้า สีขาว รุ่นยาริส จอดอยู่ใกล้กับที่สิบตำรวจเอก สมพงษ์จอดรถ แล้วจำเลยที่ 1 ลงจากรถยนต์ไปพูดคุยกับสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนาและสิบตำรวจเอก สมพงษ์ แล้วยื่นธนบัตรให้แก่สิบตำรวจเอก สมพงษ์ ร้อยตำรวจเอก อำนาจกับพวกจึงขับรถออกจากที่ซุ่มไปที่จำเลยที่ 1 ทันที เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นรถยนต์แล่นเข้ามาใกล้ จึงดึงธนบัตรกลับแล้ววิ่งหนีไปที่บริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์หน้าห้างสรรพสินค้า ร้อยตำรวจเอก อำนาจวิ่งตามไปทัน ห่างจากจุดล่อขายประมาณ 50 เมตร พบจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งรออยู่ในรถยนต์ ร้อยตำรวจเอก อำนาจกับพวกตรวจค้นตัวพวกจำเลย พบเงินเป็นธนบัตรรวม 23,000 บาท อยู่ในมือของจำเลยที่ 1 และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ในกระเป๋ากางเกง เมื่อตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ พบว่ามีการโทรติดต่อกับสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนาและสิบตำรวจเอก สมพงษ์ สอบถามแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 แจ้งว่ามีหน้าที่รับจ้างขับรถจักรยานยนต์จากที่เกิดเหตุโดยจะได้ค่าจ้างครั้งละประมาณ 500 ถึง 1,000 บาท และทำมาแล้ว 4 ครั้ง ร้อยตำรวจเอก อำนาจกับพวกพาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไปที่ห้องสืบสวนแล้วให้จำเลยที่ 1 พาไปตรวจค้นที่บ้านของจำเลยที่ 1 ที่เคหะร่มเกล้า เมื่อไปถึงพบจำเลยที่ 4 อยู่ในบ้านตามลำพัง จากการตรวจค้น พบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในห้องนอนของจำเลยที่ 4 ซึ่งเมื่อตรวจดูการใช้ พบว่ามีการโทรติดต่อกับสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนา และพบสมุดบัญชีการซื้อขายรถจักรยานยนต์ ร้อยตำรวจเอก อำนาจกับพวกจึงยึดสิ่งของที่ตรวจพบเป็นของกลางและจับกุมจำเลยที่ 4 แล้วนำไปทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจ เห็นว่า โจทก์มีพยานโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่มาเบิกความสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อ และแม้ตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมจะระบุว่ารถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นสกูปี้ ไอ ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน แต่ในข้อนี้ผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การว่า รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายหมายเลขทะเบียน อพพ กรุงเทพมหานคร 63 ก่อนเกิดเหตุร้อยตำรวจเอก อำนาจได้ขอยืมรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปล่อขาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้จากทางนำสืบของโจทก์ว่าสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนานัดจะส่งมอบรถจักรยานยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 4 แล้วจำเลยที่ 4 จะมอบเงิน 20,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรับรถก็เป็นเรื่องที่สิบตำรวจเอกหญิง กาญจนากับพวกร่วมกันวางแผนจับกุมพวกจำเลย โดยจะส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายให้แก่จำเลยที่ 4 เอง มิใช่จำเลยที่ 4 จะเอาไปซึ่งการครอบครองรถจักรยานยนต์จากสิบตำรวจเอกหญิง กาญจนาโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันพยายามลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.1030/2559

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด จำเลย - นายอนุจิตรหรือเต้ วงศ์หุ่น กับพวก

ชื่อองค์คณะ บุญมี ฐิตะศิริ จตุรงค์ นาสมใจ บุญชู ทัศนประพันธ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดมีนบุรี - นายชุติเดช ศิริมงคล ศาลอุทธรณ์ - นายณรงค์ศักดิ์ อัจฉรานุวัฒน์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th