คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4538/2566
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1273/3 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142 (5)
บริษัทผู้ร้องเป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียน ตามมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัทผู้ร้องย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องจึงไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นผู้คัดค้านยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ทำให้คดีกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลอีก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าว เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ผู้คัดค้านย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย หามีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ไม่
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งให้ขีดชื่อบริษัทผู้ร้องออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายวงศ์วชิร ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทผู้ร้อง วันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทผู้ร้องกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน และวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อบริษัทผู้ร้องกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทผู้ร้องเป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียน ตามความในมาตรา 1273/3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ดังนี้ บริษัทผู้ร้องย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้อง จึงไม่ถูกต้อง แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถึงที่สุดแล้ว แต่หลังจากนั้นผู้คัดค้านก็ได้ยื่นคำร้องเข้ามาในคดี อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ทำให้คดีกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลอีก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าว เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องนั้นเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ผู้คัดค้านย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย หามีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ไม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้อง กับให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านเสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.506/2566
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - บริษัท บ. ผู้คัดค้าน - นาย ธ.
ชื่อองค์คณะ ธนิต รัตนะผล วิธูร คลองมีคุณ สมชาย อุดมศรีสำราญ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเกาะสมุย - นางสาวพัฒนารี ชาญกิจ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายวิโรจน์ ตั้งสุภากิจ