สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4541/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500 - 4541/2563

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 22, 90 กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

กิจการของจำเลยและงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบก การจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ด้วยเหตุที่งานขนส่งทางบกมีสภาพการจ้างและลักษณะการทำงานแตกต่างกับการจ้างแรงงานทั่วไป งานขนส่งทางบกเป็นงานที่ต้องให้เกิดความปลอดภัยไม่เฉพาะแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 กำหนดว่า "ให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง" และข้อ 3 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลาเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง" และวรรคสอง กำหนดว่า "ในกรณีที่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างตามวรรคหนึ่งแล้ว นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกินสองชั่วโมง เว้นแต่มีความจำเป็นอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร" อันเป็นการกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง และห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง โดยจะทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองตกลงกำหนดเวลาทำงานกันวันละ 24 ชั่วโมง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง โดยทำงานล่วงเวลาวันหนึ่งเกินกว่า 2 ชั่วโมง อันเป็นการทำงานล่วงเวลาเกินกำหนดเวลาทำงานล่วงเวลาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ทั้งสี่สิบสองย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 ที่กำหนดว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลา ในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว" ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามข้อ 6 ดังกล่าว คงกำหนดไว้เฉพาะการจ่ายค่าตอบแทนที่คำนวณจากค่าจ้างตามระยะเวลา มิได้มีการกำหนดถึงการจ่ายค่าตอบแทนที่คำนวณจากค่าจ้างตามผลงานแต่ละหน่วยที่ลูกจ้างทำได้ แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะได้รับค่าจ้างจากการขับขี่ยานพาหนะตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้เช่นเดียวกับหลักการที่กำหนดไว้ในข้อ 6 เช่นเดียวกัน จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในวันและเวลาทำงานปกติ โจทก์ทั้งสี่สิบสองได้รับค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้คือเป็นเงินร้อยละ 12 ของรายได้จากการขับรถรับส่งผู้โดยสารทั้งเดือน และกรณีที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์ทั้งสี่สิบสองก็จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานสำหรับการทำงานดังกล่าวเป็นเงินร้อยละ 12 ของรายได้จากการขับรถรับส่งผู้โดยสารเช่นเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองอีก

เนื้อหาฉบับเต็ม

คดีทั้งสี่สิบสองสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ 2618/2555, 2664/2555, 2835 - 2839/2555 และ 3109/2555 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์ทั้งห้าสิบเรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 50 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย แต่คดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีในส่วนของโจทก์ที่ 22 ที่ 23 ที่ 28 ที่ 31 ที่ 38 ที่ 39 ที่ 40 และที่ 48 ยุติไปแล้วโดยการถอนคำฟ้อง และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีทั้งสี่สิบสองสำนวนนี้

โจทก์ทั้งสี่สิบสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าขาดรายได้ที่ถูกพักงาน คืนเงินที่หักจากค่าจ้างเป็นค่าล้างรถยนต์ ค่าปรับที่ไม่ลงลายมือชื่อในเอกสาร กรณีจอดรถยนต์หยุดพักระหว่างขับรับส่งผู้โดยสาร ค่าอุบัติเหตุจากการขับรถยนต์ และเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองตามคำขอของโจทก์แต่ละคน และยกเลิกระเบียบข้อบังคับที่เอาเปรียบลูกจ้าง

จำเลยทั้งสี่สิบสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ที่ 2 ที่ 12 ที่ 16 ถึงที่ 18 ที่ 20 ที่ 26 และที่ 47 ชดใช้ค่าเสื่อมสภาพและค่าขาดประโยชน์ตามฟ้องแย้งสำหรับโจทก์แต่ละคน

โจทก์ที่ 2 ที่ 12 ที่ 16 ถึงที่ 18 ที่ 20 ที่ 26 และที่ 47 ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสี่สิบสองสำนวนแถลงสละประเด็นที่เรียกร้องเงินที่จำเลยหักเป็นค่าล้างรถยนต์ เงินประกันการทำงาน ประเด็นข้อต่อสู้ว่าฟ้องแย้งขาดอายุความ และประเด็นที่มีคำขอให้ยกเลิกระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่เอาเปรียบลูกจ้าง โจทก์ที่ 12 และที่ 18 แถลงสละประเด็นที่เรียกร้องเงินที่จำเลยหักเป็นค่าปรับที่ไม่ลงลายมือชื่อในเอกสาร และโจทก์ที่ 17 และที่ 18 แถลงสละประเด็นที่เรียกร้องเงินที่จำเลยหักกรณีจอดรถยนต์หยุดพักระหว่างขับรับส่งผู้โดยสาร

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 20,490 บาท โจทก์ที่ 20 และที่ 26 จำนวน 6,000 บาท (ที่ถูก คนละ 6,000 บาท) โจทก์ที่ 12 ที่ 17 ที่ 18 และที่ 47 จำนวน 3,000 บาท (ที่ถูก คนละ 3,000 บาท) และโจทก์ที่ 16 จำนวน 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฟ้องแย้งและคำขออื่นของโจทก์ทั้งสี่สิบสองนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสี่สิบสองและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 19 ถึงแก่ความตาย นางปราณี มารดาของโจทก์ที่ 19 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาของโจทก์ทั้งสี่สิบสอง โดยให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่าทำงานล่วงเวลาหรือไม่ คนละจำนวนกี่ชั่วโมง แต่ละคนได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด กรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีในส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสอง และวรรคสาม (เดิม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 168,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 163,200 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 126,240 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 126,720 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 133,920 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 177,120 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 155,040 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 176,160 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 80,160 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 127,680 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 175,200 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 176,160 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 151,200 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 168,480 บาท โจทก์ที่ 15 จำนวน 98,400 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 121,440 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 131,040 บาท โจทก์ที่ 18 จำนวน 108,000 บาท โจทก์ที่ 19 จำนวน 156,960 บาท โจทก์ที่ 20 จำนวน 99,360 บาท โจทก์ที่ 21 จำนวน 146,880 บาท โจทก์ที่ 24 จำนวน 116,640 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน 138,720 บาท โจทก์ที่ 26 จำนวน 184,320 บาท โจทก์ที่ 27 จำนวน 176,640 บาท โจทก์ที่ 29 จำนวน 138,240 บาท โจทก์ที่ 30 จำนวน 115,680 บาท โจทก์ที่ 32 จำนวน 129,600 บาท โจทก์ที่ 33 จำนวน 163,680 บาท โจทก์ที่ 34 จำนวน 144,000 บาท โจทก์ที่ 35 จำนวน 166,560 บาท โจทก์ที่ 36 จำนวน 145,440 บาท โจทก์ที่ 37 จำนวน 122,880 บาท โจทก์ที่ 41 จำนวน 144,480 บาท โจทก์ที่ 42 จำนวน 136,320 บาท โจทก์ที่ 43 จำนวน 141,120 บาท โจทก์ที่ 44 จำนวน 102,720 บาท โจทก์ที่ 45 จำนวน 148,800 บาท โจทก์ที่ 46 จำนวน 114,720 บาท โจทก์ที่ 47 จำนวน 185,280 บาท โจทก์ที่ 49 จำนวน 126,240 บาท และโจทก์ที่ 50 จำนวน 189,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 พฤษภาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่สิบสอง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแก่โจทก์ที่ 18 จำนวน 98,880 บาท โดยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แก่โจทก์ที่ 16 ถึงที่ 18 นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 6 กรกฎาคม 2555) ส่วนโจทก์ที่ 19 ถึงที่ 21 ที่ 24 ถึงที่ 27 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 32 ถึงที่ 37 ที่ 41 ถึงที่ 47 ที่ 49 และที่ 50 นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 มิถุนายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางใหม่นี้

จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า งานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กำหนดเวลาทำงานปกติวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง แต่โจทก์ทั้งสี่สิบสองกับจำเลยตกลงกำหนดเวลาทำงานกันวันละ 24 ชั่วโมง ซึ่งการทำงานลูกจ้างไม่ได้ขับรถยนต์ตลอด 24 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการ โจทก์ทั้งสี่สิบสองมีการทำงานล่วงเวลาวันละ 16 ชั่วโมง นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2553 จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2555 รวม 2 ปี ตามตารางสรุปการทำงานเกินเวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สำหรับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานนั้น เมื่อพิจารณาจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่สิบสองแต่ละคนได้รับค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานเฉลี่ยชั่วโมงละ 30 บาท จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบสองขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจึงกำหนดให้ตามขอ โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างตามผลงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำได้ครบถ้วนแล้วโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาอีก เป็นอุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสี่สิบสองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามจำนวนเวลาที่ได้ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง โดยถือเกณฑ์คำนวณค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนเป็นค่าจ้างเฉลี่ยรายวันและรายชั่วโมง แล้วนำค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงมาคำนวณเป็นค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด เมื่อไม่ได้ความชัดว่าในช่วงระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2553 ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2555 ที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามตารางสรุปการทำงานเกินเวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มีการจ่ายค่าจ้างให้โจทก์แต่ละคนเดือนละเท่าใด ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 3) ถึง (ฉบับที่ 6) มาเป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ฐานเป็นค่าจ้างน้อยที่สุดที่นายจ้างพึงจ่ายให้แก่ลูกจ้างได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 90 ซึ่งนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างแล้ว หาใช่เป็นการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดอัตราค่าจ้างเองนอกเหนือจากที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันตามสัญญาจ้างแรงงานไม่ แต่เมื่อศาลแรงงานกลางคำนวณวันที่โจทก์บางคนมาทำงานล่วงเวลาคลาดเคลื่อนและระบุวันฟ้องของโจทก์บางคนไม่ตรงตามคำฟ้อง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสี่สิบสองมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาจากจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18591-18632/2557 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในเรื่องค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาว่า แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่ก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่าทำงานล่วงเวลาหรือไม่ คนละจำนวนกี่ชั่วโมง แต่ละคนได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด กรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง ก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดี ย่อมเท่ากับศาลฎีกายังไม่ได้วินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองครบถ้วนแล้วหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หาใช่เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาหรือประเด็นที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยไม่ การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาส่วนนี้ของจำเลยฟังขึ้น

สำหรับในปัญหาต่อไปว่า จำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองแล้วหรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเพียงพอแก่การวินิจฉัยในปัญหานี้แล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิเศษวินิจฉัยใหม่อีก เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังและคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า งานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และจำเลยไม่ได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสอง เห็นว่า กิจการของจำเลยและงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบก การจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 22 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ด้วยเหตุที่งานขนส่งทางบกมีสภาพการจ้างและลักษณะการทำงานแตกต่างกับการจ้างแรงงานทั่วไป งานขนส่งทางบกเป็นงานที่ต้องให้เกิดความปลอดภัยไม่เฉพาะแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 2 กำหนดว่า "ให้นายจ้างกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดการทำงานปกติของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง" และข้อ 3 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง" และวรรคสอง กำหนดว่า "ในกรณีที่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างตามวรรคหนึ่งแล้ว นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกินสองชั่วโมง เว้นแต่มีความจำเป็นอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย อุบัติเหตุ หรือปัญหาการจราจร" อันเป็นการกำหนดเวลาทำงานของลูกจ้างในงานขนส่งทางบกวันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมง และห้ามมิให้นายจ้าง ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง โดยจะทำงานล่วงเวลาได้วันหนึ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบสองตกลงกำหนดเวลาทำงานกันวันละ 24 ชั่วโมง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในข้อ 2 และข้อ 3 ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง โดยทำงานล่วงเวลาวันหนึ่งเกินกว่า 2 ชั่วโมง อันเป็นการทำงานล่วงเวลาเกินกำหนดเวลาทำงานล่วงเวลาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ทั้งสี่สิบสองย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 ที่กำหนดว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลา ในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว" ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ตามข้อ 6 ดังกล่าว คงกำหนดไว้เฉพาะการจ่ายค่าตอบแทนที่คำนวณจากค่าจ้างตามระยะเวลา มิได้มีการกำหนดถึงการจ่ายค่าตอบแทนที่คำนวณจากค่าจ้างตามผลงานแต่ละหน่วยที่ลูกจ้างทำได้ แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะได้รับค่าจ้างจากการขับขี่ยานพาหนะตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย แต่ก็ย่อมมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้เช่นเดียวกับหลักการที่กำหนดไว้ในข้อ 6 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ในวันและเวลาทำงานปกติ โจทก์ทั้งสี่สิบสองได้รับค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้คือเป็นเงินร้อยละ 12 ของรายได้จากการขับรถรับส่งผู้โดยสารทั้งเดือน และกรณีที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด โจทก์ทั้งสี่สิบสองก็จะได้รับค่าตอบแทนการทำงานสำหรับการทำงานดังกล่าวเป็นเงินร้อยละ 12 ของรายได้จากการขับรถรับส่งผู้โดยสารเช่นเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองอีก ที่ศาลแรงงานกลางและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสองมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่สิบสอง

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ร.334-375/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย พ. กับพวก จำเลย - บริษัท ท.

ชื่อองค์คณะ กิตติพงษ์ ศิริโรจน์ วุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ นันทวัน เจริญชาศรี

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแรงงานกลาง - นางสาวอรนุช อาชาทองสุข

  • นายโสภณ พรหมสุวรรณ
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE