สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2565

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4561/2565

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 225 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 43, 44/1 วรรคหนึ่ง

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุ …หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ แม้ดอกเบี้ยของราคาใช้แทนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจักรยานยนต์ และค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามตลอดจนค่าติดตามเอารถคืน มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่เบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต จึงชอบที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 26,016 บาท นั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยไม่ส่งมอบรถจักรยานยนต์ดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงิน 26,016 บาท ได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 เมื่อไม่ปรากฏว่าเวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมมีคำขอและฎีกาขอเรียกดอกเบี้ยของราคาใช้แทนนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง อันเป็นช่วงเวลาก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาจึงไม่อาจกำหนดให้ได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 26,016 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณา บริษัท อ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 26,016 บาท นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดถึงวันที่ โจทก์ฟ้องเป็นเงิน 933 บาท ค่าขาดประโยชน์ 5,000 บาท และค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามและค่าติดตามรถจักรยานยนต์ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 8,933 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยไม่ให้การให้ในคดีส่วนแพ่ง แต่ระหว่างพิจารณาจำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 26,016 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 2 ปี ปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ปรับ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษ จำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 29/1, 30 ยกคำขอให้คืนรถจักรยานยนต์หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 26,016 บาท แก่โจทก์ร่วม เนื่องจากจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ

โจทก์ร่วมอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนแพ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง (ที่ถูก รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้)

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ร่วมฎีกาเฉพาะคดีส่วนแพ่ง โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2561 จำเลยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าไปจากโจทก์ร่วมในราคา 64,500 บาท (ราคาเงินสด 45,500 บาท) ชำระเงินในวันทำสัญญา 5,000 บาท แล้วผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน 14,484 บาท ต่อมาระหว่างวันเวลาดังกล่าวถึงวันที่ 26 มกราคม 2562 เวลากลางวันติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเบียดบังเอารถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต สำหรับความผิดฐานยักยอก ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีส่วนอาญาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ร่วมได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยของราคาใช้แทน 26,016 บาท นับแต่วันที่จำเลยผิดนัด (วันที่ 16 พฤศจิกายน 2561) ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 933 บาท และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าขาดประโยชน์ 5,000 บาท และมีสิทธิเรียกค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามตลอดจนค่าติดตามเอารถคืน เป็นเงิน 3,000 บาท จากจำเลยหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุ …หรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ แม้ดอกเบี้ยของราคาใช้แทน ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถจักรยานยนต์ และค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามตลอดจนค่าติดตามเอารถคืน มิใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดที่ให้พนักงานอัยการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่เบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต จึงชอบที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ขอให้บังคับจำเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ การที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ ที่เช่าซื้อหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 26,016 บาท นั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยไม่ส่งมอบ รถจักรยานยนต์ดังกล่าวคืนให้โจทก์ร่วม จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงิน 26,016 บาท ได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 225 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ ดังนั้น การที่โจทก์ร่วมมีคำขอและฎีกาขอเรียกดอกเบี้ยของราคาใช้แทนนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้อง อันเป็นช่วงเวลาก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษาจึงไม่อาจกำหนดให้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ร่วมอาจนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อออกให้เช่าได้ค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 เดือน คิดเป็นเงิน 5,000 บาท และค่าหนังสือบอกกล่าวทวงถามตลอดจนค่าติดตามเอาคืน 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 8,000 บาท นั้น เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยไม่นำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมคงมีเพียงนายเอกวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม เป็นพยานเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบให้เห็นว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายตามจำนวนดังกล่าว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้ตามควรแก่พฤติการณ์รวมเป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ร่วมข้อนี้ฟังขึ้น

อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่แทน ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปีและกรณีหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 30 พฤษภาคม 2562) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมใน คดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.3016/2564

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุบลราชธานี โจทก์ร่วม - บริษัท อ. จำเลย - นาย ธ.

ชื่อองค์คณะ รัชนี สุขใจ นันทวัน เจริญชาศรี พอพันธุ์ คิดจิตต์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแขวงอุบลราชธานี - นางสาวดาวน้อย รักนอบน้อม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายเกียรติศักดิ์ ชัยวงษ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE