สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2566

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 223 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ม. 42 พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 4

เมื่อพิจารณาที่มาและข้อตกลงการใช้บัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต คำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือบัตรและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต โดยพิจารณาความสุจริต ความรู้ ความเข้าใจ แนวทางที่เคยปฏิบัติและทางได้เสียของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกบังคับหรือไม่ยินยอมในการทำข้อตกลงและเงื่อนไขการถือบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต ข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวมิได้กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนด เงื่อนไขได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเกินสมควร ประกอบกับโจทก์ยังมีโอกาสทักท้วงโต้แย้งรายการใช้บัตรที่ไม่ถูกต้องตามข้อตกลงดังกล่าว ข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตมิได้เป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดข้อตกลงได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรที่เป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยได้

ร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตไม่ได้ตรวจสอบลายมือชื่อที่ลงบนเซลล์สลิปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อด้านหลังบัตร กรณีจึงต้องถือว่าร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตที่พิพาทปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อตกลงการเป็นร้านค้าต่อธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จำเลยซึ่งถือว่าเป็นตัวการของธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จึงไม่อาจยกเอาข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่คืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากโจทก์ได้ โจทก์ไม่จำต้องไปเรียกร้องเงินคืนจากธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC หรือร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าหรือบริการที่พิพาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เบิกความเพียงว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรและรหัสประจำตัวในการเบิกถอนเงินสดแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรเดบิตอย่างไร ที่บัตรเดบิตหายไปนั้นถูกลักไปได้อย่างไร ทั้งโจทก์เพิ่งมาทราบเรื่องหลังจากบัตรหายไปแล้วเป็นเวลามากกว่า 10 วัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวบัตรเดบิตถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการเรื่อยมา ถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาตลอดจนตรวจตราบัตรเดบิตซึ่งเป็นเอกสารสำคัญตามที่พึงกระทำ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อ เป็นกรณีที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์เองด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนสามในสี่ของจำนวนเงินที่มีการใช้บัตรเดบิต

เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องเพียงให้จำเลยคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่จำเลยหักเงินครั้งสุดท้าย ซึ่งเงินดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายตามความใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 519,619.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 467,074 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพิ่มจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 42

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 519,619.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 467,074 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 มกราคม 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้หากโจทก์ได้รับชำระเงินคืนจากนางสาวกชพร จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.9634/2561 ของศาลจังหวัดมีนบุรี แล้วเพียงใด ก็ให้จำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระคืนแก่โจทก์ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้นด้วย และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงแก่โจทก์อีก 200,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 5,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นนั้นให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 519,619.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 467,074 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 มกราคม 2563) เป็นต้นไปถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2553 โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับจำเลย บัญชีเลขที่ 164-2-03xxx-x และขอใช้บริการบัตรเดบิต ซึ่งจำเลยออกบัตรเดบิตหมายเลข 4215 8390 3032 xxxx ให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยออกบัตรเดบิตให้แก่โจทก์ใหม่เป็นบัตรหมายเลข 4013 6725 1002 xxxx ซึ่งบัตรเดบิตดังกล่าวสามารถใช้เบิกถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม และใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนเงินสดได้ตามจำนวนเงินคงเหลือในบัญชีเงินฝากดังกล่าว วันที่ 26 เมษายน 2561 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา โจทก์ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงทราบว่าเงินในบัญชีเงินฝากขาดหายไปเป็นจำนวนมาก จึงไปติดต่อจำเลยให้ตรวจสอบ พบว่ามีบุคคลอื่นนำบัตรเดบิตที่จำเลยออกให้ไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนเงินสดระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2561 โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน จากการสอบสวนทราบว่านายวสันต์ เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเซลล์สลิป โดยกระทำความผิดร่วมกับนางสาวกชพร ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องนางสาวกชพร ต่อศาลจังหวัดมีนบุรีในฐานความผิดร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการ และหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด และร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป นางสาวกชพรให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาว่ามีความผิด ลงโทษจำคุก กับให้คืนเงิน 467,074 บาท และบัตรเดบิตหมายเลข 4013 6725 1002 xxxx ให้แก่โจทก์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า ข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต ที่กำหนดว่า "…ในกรณีที่บัตรสูญหายหรือถูกลักไปหรือตกไปอยู่ในความครอบครองของผู้อื่น และมีผู้นำไปใช้เป็นเหตุให้ธนาคารหักเงินบัญชีเงินฝากของผู้ขอใช้บริการ จะรับผิดชอบในการกระทำนั้น ๆ เสมือนหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ขอใช้บริการเอง" แม้เป็นข้อตกลงที่จำเลยกำหนดไว้ล่วงหน้าและนำมาใช้ในการประกอบกิจการธนาคารของจำเลยซึ่งถือว่าเป็นสัญญาสำเร็จรูป แต่ลำพังว่าเป็นสัญญาสำเร็จรูปก็ยังไม่อาจด่วนวินิจฉัยว่าข้อตกลงนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจได้เปรียบคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้บริโภคเกินสมควร หากแต่ต้องพิจารณาประกอบกับข้อตกลงข้ออื่นด้วย เช่น ข้อ 4 ที่กำหนดว่า "ธนาคารตกลงว่าผู้ขอใช้บริการมีสิทธิขอระงับการใช้บัตรชั่วคราวทางโทรศัพท์หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อกันได้ในทำนองเดียวกัน โดยแจ้งไปยัง T. Phone Banking โทร. 15xx และธนาคารจะระงับการใช้บัตรภายใน 5 นาที นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้งระงับดังกล่าว ผู้ขอใช้บริการไม่ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากพ้นเวลาดังกล่าว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นการกระทำของผู้ใช้บริการเอง" ข้อ 5 ที่กำหนดว่า "ในกรณีที่บัตรถูกลักไปหรือสูญหายไปไม่ว่ากรณีใด ๆ ผู้ขอใช้บริการจะแจ้งให้ธนาคารทราบทันทีที่สาขาที่ผู้ขอใช้บริการมีบัญชี หรือที่ T. Phone Banking โทร. 15xx เพื่อขอให้ธนาคารอายัดการใช้บัตร และพิจารณาออกบัตรใหม่ต่อไป เห็นว่า ที่มาและข้อตกลงการใช้บัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตดังกล่าว ซึ่งคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือบัตรและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต โดยพิจารณาความสุจริต ความรู้ ความเข้าใจ แนวทางที่เคยปฏิบัติและทางได้เสียของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกบังคับหรือไม่ยินยอมในการทำข้อตกลงและเงื่อนไขการถือบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตนั้น ข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวมิได้กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเกินสมควร ประกอบกับโจทก์ยังมีโอกาสทักท้วงโต้แย้งรายการใช้บัตรที่ไม่ถูกต้องตามข้อ 6 ของข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตมีความว่า "ในกรณีที่ธนาคารเปิดให้บริการชำระค่าสินค้า/บริการโดยวิธีการแจ้งเพียงหมายเลขบัตรด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษรให้แก่ผู้จำหน่าย/ผู้ให้บริการ หากผู้ขอใช้บริการทักท้วงว่ามิได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้า/ขอรับบริการจากผู้จำหน่าย/ผู้ให้บริการ ธนาคารจะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้ขอใช้บริการทันที และในกรณีที่ธนาคารได้รับเงินดังกล่าวแล้ว ธนาคารจะคืนเงินให้แก่ผู้ขอใช้บริการทันที เว้นแต่ในภายหลังหากพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้ขอใช้บริการ ผู้ขอใช้บริการจะต้องรับผิดชอบภาระหนี้ดังกล่าวต่อธนาคาร นอกจากนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ขอใช้บริการในการยกเลิกการซื้อสินค้า/ขอใช้บริการภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สั่งซื้อ/ขอใช้บริการ หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถึงกำหนดส่งมอบสินค้า/ให้บริการ และในกรณีที่กำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้า/ให้บริการไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าผู้ขอใช้บริการพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้รับสินค้า/บริการ หรือได้รับไม่ครบถ้วนหรือชำรุด หรือไม่ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ หากเป็นการสั่งซื้อสินค้า/บริการภายในประเทศ ธนาคารจะคืนเงินให้แก่ผู้ขอใช้บริการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ขอใช้บริการแจ้งให้ธนาคารทราบ หากเป็นการสั่งซื้อสินค้า/บริการจากต่างประเทศ ธนาคารจะคืนเงินให้แก่ผู้ขอใช้บริการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้ขอใช้บริการแจ้งให้ธนาคารทราบ" และข้อ 9 ยังกำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้ขอใช้บริการมีความประสงค์จะให้ธนาคารส่งใบแจ้งรายการใช้บัตร ธนาคารจะส่งใบแจ้งรายการใช้บัตรให้ตามที่อยู่ที่ผู้ขอใช้บริการให้ไว้กับธนาคาร แต่ทั้งนี้ผู้ขอใช้บริการจะต้องโต้แย้งหรือทักท้วงภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายการใช้บัตร และหากผู้ขอใช้บริการมิได้โต้แย้งหรือทักท้วงภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้ขอใช้บริการตกลงยอมรับรายการดังกล่าวถูกต้อง และผู้ขอใช้บริการยินยอมเสียค่าธรรมเนียมการแจ้งรายการใช้บัตรให้แก่ธนาคารในอัตราที่ธนาคารกำหนด ในกรณีที่ผู้ขอใช้บริการมิได้รับใบแจ้งรายการใช้บัตรในเดือนใดที่มีการใช้บัตรดังกล่าวโดยมิใช่ความบกพร่องของธนาคาร ผู้ขอใช้บริการตกลงว่าเป็นหน้าที่ของผู้ขอใช้บริการที่จะต้องติดต่อสอบถามจากธนาคารเพื่อรับทราบจำนวนเงินในรายการใช้บัตรภายในสิ้นเดือนของแต่ละเดือนที่มีการใช้บัตรนั้นเอง" ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือบัตรและผู้ประกอบธุรกิจ เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้วเห็นว่า ข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต มิได้เป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดข้อตกลงได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรที่เป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อการใช้บัตรเดบิตของโจทก์ที่ถูกลักไปหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์ที่สามารถใช้บัตรเดบิตที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนเงินสดกับร้านค้าต่าง ๆ ได้แม้ร้านค้านั้นไม่ได้ทำข้อตกลงการเป็นร้านค้ารับชำระเงิน กับจำเลย และเป็นการทำรายการผ่านเครื่อง EDC ของธนาคารพาณิชย์อื่น ส่วนจำเลยก็หักเงินตามจำนวนที่มีการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเดบิตจากบัญชีเงินฝากของโจทก์มีอยู่กับจำเลยทันทีนั้น บ่งชี้ว่าจำเลยกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่เป็นเจ้าของเครื่อง EDC จะต้องมีความตกลงระหว่างกันเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หาไม่แล้วบัตรเดบิตที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ก็ไม่อาจนำไปใช้กับเครื่อง EDC ของธนาคารอื่นได้ และเมื่อพิจารณาจากข้อตกลงการเป็นร้านค้ารับชำระเงินของจำเลย ข้อ 1.2 ที่ระบุว่า "ร้านค้าตกลงรับชำระค่าสินค้า/บริการ ผ่านอุปกรณ์/ช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารจากผู้ชำระเงินด้วยเครื่องมือการชำระเงินต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (ซึ่งต่อไปนี้จะรวมเรียกว่า เครื่องมือการชำระเงิน) แทนการชำระด้วยเงินสด ข้อ 1.2.1 ระบุว่า "บัตรเครดิต และ/หรือบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคาร และ/หรือโดยธนาคารพาณิชย์อื่น และ/หรือโดยบริษัทอื่นหรือสถาบันอื่นซึ่งเป็นสมาชิกของ VISA INTERNATIONAL SERVICE ASSOCIATION…" เทียบกับข้อตกลงการเป็นร้านค้า (K-Merchant) ของธนาคาร ก. ข้อ 1.1 และข้อ 1.1.1 ที่มีเนื้อความสอดคล้องทำนองเดียวกันแล้วเห็นได้ว่า หลักใหญ่ใจความของข้อตกลงการเป็นร้านค้ารับชำระเงินในส่วนนี้คือ ร้านค้าตกลงรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสมาชิกของ VISA INTERNATIONAL SERVICE ASSOCIATION ซึ่งนางสาวสุพัตรา ผู้รับมอบอำนาจช่วงจำเลย ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในการใช้บัตรเดบิตที่ออกโดยจำเลยหรือธนาคาร ก. ชำระค่าสินค้าหรือบริการ จะต้องเป็นบัตรที่มีการระบุว่า วีซ่า จำเลยเป็นสมาชิกของวีซ่า และเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงว่า วีซ่าเป็นตัวกลางในการรับชำระค่าสินค้าและเชื่อมต่อกับร้านค้าต่าง ๆ ในการชำระราคาสินค้าได้ และโจทก์ก็อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า บัตรเดบิตที่จำเลยออกให้แก่โจทก์มีอักษรคำว่า วีซ่า อยู่บนบัตร ตรงกับที่ปรากฏในสำเนาเซลล์สลิปจากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังได้ว่า จำเลย ธนาคาร ก. รวมถึงธนาคาร ร. ธนาคาร ย. และธนาคาร ง. ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ด้านบนของเซลล์สลิปต่างก็เป็นสมาชิกของ VISA INTERNATIONAL SERVICE ASSOCIATION แต่เมื่อจำเลยไม่นำสืบให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสมาชิกของ VISA INTERNATIONAL SERVICE ASSOCIATION ไม่มีความผูกพันหรือส่วนเกี่ยวข้องอย่างใด ๆ ระหว่างกันที่จะนำมารับฟังหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่าบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกของ VISA INTERNATIONAL SERVICE ASSOCIATION สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านเครื่อง EDC ของธนาคารพาณิชย์อื่นที่เป็นสมาชิกของ VISA INTERNATIONAL SERVICE ASSOCIATION กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยและธนาคารพาณิชย์อื่นที่กล่าวถึงข้างต้นซึ่งเป็นสมาชิกของ VISA INTERNATIONAL SERVICE ASSOCIATION ต่างเป็นตัวการตัวแทนซึ่งกันและกันในเรื่องดังกล่าวโดยปริยายตามแต่กรณีว่าบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการเป็นบัตรที่ออกโดยธนาคารใด และธนาคารใดเป็นเจ้าของเครื่อง EDC ที่ใช้ทำรายการชำระเงิน เมื่อข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต ข้อ 3 กำหนดว่า ผู้ขอใช้บริการมีหน้าที่ลงลายมือชื่อในช่องที่กำหนดไว้ด้านหลังของบัตร… และปรากฏตามข้อตกลงการเป็นร้านค้ารับชำระเงิน และข้อตกลงการเป็นร้านค้า (K-Merchant) ซึ่งมีใจความทำนองเดียวกันว่า ในกรณีที่มีการชำระเงินโดยใช้บัตร นอกจากการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของบัตรแล้ว ร้านค้าต้องดำเนินการให้ผู้ถือบัตรลงลายมือชื่อในช่องที่กำหนดบนเซลล์สลิป พร้อมเปรียบเทียบลายมือชื่อกับลายมือชื่อหลังบัตรว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาลายมือชื่อที่ลงไว้บนเซลล์สลิปก็จะเห็นได้ว่าเป็นลายมือชื่อของนายวสันต์ ซึ่งลายมือชื่อดังกล่าวมีรูปแบบการเขียนแตกต่างกับลายมือชื่อของโจทก์ที่ลงไว้ด้านหลังบัตรอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งความแตกต่างนี้สามารถตรวจพบได้ด้วยตาเปล่าแม้ไม่มีความชำนาญในการตรวจสอบก็ตาม พฤติการณ์แสดงว่าร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตนี้ไม่ได้ตรวจสอบลายมือชื่อที่ลงบนเซลล์สลิปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อด้านหลังบัตร เมื่อจำเลยไม่นำสืบถึงหน้าที่ของร้านค้าในเรื่องของการให้ผู้ชำระเงินลงลายมือชื่อในเซลล์สลิปและหน้าที่การตรวจสอบลายมือชื่อดังที่กล่าวมาข้างต้นให้เห็นเป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องถือว่าร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเดบิตที่พิพาทปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อตกลงการเป็นร้านค้าต่อธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จำเลยซึ่งถือว่าเป็นตัวการของธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จึงไม่อาจยกเอาข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต ข้อ 3 ขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่คืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ได้ และกรณีเช่นนี้โจทก์หาจำต้องไปเรียกร้องเงินคืนจากธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC หรือร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าหรือบริการที่พิพาทแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC มิได้เป็นผู้หักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC ตามความผูกพันที่มีระหว่างกันอีกทอดหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ แม้วันที่ 26 เมษายน 2561 โจทก์เพียงแต่แจ้งอายัดบัตรเดบิตที่พิพาทในคดีนี้กับเจ้าหน้าที่ของจำเลย แต่ไม่ได้ทำหนังสือร้องเรียนหรือขอเงินคืนจากจำเลยดังที่โจทก์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยก็ตาม เมื่อวินิจฉัยมาดังนี้ปัญหาอื่นตามฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อต่อไปว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นหรือไม่ เห็นว่า บัตรเดบิตที่จำเลยออกให้แก่โจทก์สามารถนำไปใช้เบิกถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มและใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการแทนเงินสดได้ โดยสภาพจึงเห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นเอกสารสำคัญ ชอบที่โจทก์จะต้องเก็บรักษาบัตรนี้ไว้ให้ดี เมื่อนำออกมาใช้เบิกถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มแล้วก็ต้องตรวจสอบตรวจตราให้ดีว่าได้รับบัตรคืนจากเครื่องเอทีเอ็มและเก็บไว้เรียบร้อยแล้ว เพราะหากสูญหายหรือหลงลืมไว้เป็นเหตุให้ตกไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นโดยไม่ชอบ ก็อาจมีมิจฉาชีพกระทำการด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อใช้บัตรเดบิตนี้เบิกถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม หรืออ้างตัวว่าเป็นผู้ถือบัตรนำไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ดังเช่นคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า นายวสันต์ และนางสาวกชพร ร่วมกันนำบัตรเดบิตไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินสด แต่ที่โจทก์อ้างว่า วันที่ 6 เมษายน 2561 โจทก์ใช้บัตรเดบิตเบิกถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม จากนั้นวันที่ 9 เมษายน 2561 ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่ต้องใช้บัตรและยังไม่ทราบว่าบัตรเดบิตหายไป ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2561 โจทก์ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกครั้งจึงทราบว่าเงินขาดหายไปจากบัญชีเป็นจำนวนมาก จึงติดต่อจำเลย สาขาบิ๊กซี พระราม 4 จากการตรวจสอบพบว่ามีบุคคลอื่นนำบัตรเดบิตไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนเงินสดหลายรายการระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2561 นั้น โจทก์เบิกความเพียงว่า โจทก์เก็บรักษาบัตรและรหัสประจำตัวในการเบิกถอนเงินสดแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรเดบิตอย่างไร ที่บัตรเดบิตหายไปนั้นถูกลักไปได้อย่างไร ทั้งโจทก์ก็เพิ่งมาทราบเรื่องหลังจากที่บัตรเดบิตหายไปแล้วเป็นเวลามากกว่า 10 วัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวบัตรเดบิตก็ถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการเรื่อยมา ถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาตลอดจนตรวจตราบัตรเดบิตซึ่งเป็นเอกสารสำคัญตามที่พึงกระทำ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อ เป็นกรณีที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์เองด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 223 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนสามในสี่ของจำนวนเงินที่มีการใช้บัตรเดบิต คิดเป็นเงิน 350,305.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราตามอัตราที่ศาลอุทธรณ์กำหนด

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายเพื่อการลงโทษหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 บัญญัติว่า ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นําพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคําพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องเพียงให้จำเลยคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่จำเลยหักเงินครั้งสุดท้าย ซึ่งเงินดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายตามความในมาตรา 42 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 350,305.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำขอที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ผบ.(พ)493/2565

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นางสาว ศ. จำเลย - ธนาคาร ท.

ชื่อองค์คณะ เศกสิทธิ์ สุขใจ กษิดิศ มงคลศิริภัทรา ประชา งามลำยวง

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นางสาวพิชาอร ธิติเลิศเดชา ศาลอุทธรณ์ - นางถวิลวงศ์ จิตร์วิวัฒน์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th