สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2566

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 540

การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาลักษณะที่รวมการเช่าระยะแรก 30 ปี แต่กำหนดมีคำมั่นที่โจทก์จะให้เช่าอีกสองคราว คราวละ 30 ปี ในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยยังชำระเงินการเช่าสองคราว คราวละ 30 ปี เช่นที่กล่าวข้างต้น ไม่มีรายละเอียดกำหนดค่าเช่าใหม่ เงื่อนไขการเช่าใหม่ ทั้ง ๆ ที่กำหนดระยะเวลายาวนานล่วงเลยไปแล้วถึง 30 ปี จะให้ต่อระยะเวลาเช่าไปอีก 2 คราว คราวละ 30 ปี รวมเป็น 90 ปี ซึ่งปกติสภาพความเจริญของที่ดิน สภาวะเศรษฐกิจ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่การทำคำมั่นของโจทก์จำเลยเท่ากับถือตามอัตราค่าเช่าเดิม เงื่อนไขการเช่าเดิม ทุกประการ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์จำเลยต่างประสงค์หลีกเลี่ยง ป.พ.พ. มาตรา 540 ที่ห้ามเช่าเกิน 30 ปี ฉะนั้นสัญญาส่วนที่เป็นคำมั่นที่จะต่อสัญญาเช่าอีก 2 คราว ๆ ละ 30 ปี จึงตกเป็นโมฆะ เนื่องจากวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายชัดแจ้ง และกรณีไม่อาจจะให้ตีความเป็นสัญญาบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อให้มีผลบังคับต่อไปตามที่จำเลยฎีกา เพราะมิฉะนั้นวัตถุประสงค์ของ ป.พ.พ. มาตรา 540 ดังกล่าวย่อมจะไร้ผลบังคับ

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1691 และ 1692 และบ้านเลขที่ 159/3 ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินและบ้านของโจทก์ กับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 159/8 อาคารที่จอดรถและสิ่งปลูกสร้างอื่นใดของจำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าว หากจำเลยไม่ดำเนินการรื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สิน และให้ส่งมอบที่ดินและบ้านดังกล่าวในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 120,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การ และฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์จดทะเบียนการเช่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1691 และ 1692 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ในอัตราค่าเช่าปีละ 20,000 บาท รวมค่าเช่าการต่ออายุการเช่า 30 ปี เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับค่าเช่าล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานให้จำเลยเช่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1691 เลขที่ดิน 633 และ 1692 เลขที่ดิน 634 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับเป็นว่า ให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1691 และ 1692 และบ้านเลขที่ 159/3 โดยให้จำเลยส่งมอบที่ดินและบ้านดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารยุ่งเกี่ยวกับที่ดินและบ้านดังกล่าวอีกต่อไป กับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 159/8 อาคารที่จอดรถและสิ่งปลูกสร้างอื่นใดของจำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอน ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์ คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1691 และ 1692 และบ้านเลขที่ 75/25 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2533 โจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินและบ้านดังกล่าวข้างต้นมีกำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี ค่าเช่าตลอดสัญญา 1,500,000 บาท กำหนดจดทะเบียนการเช่าภายในเดือนธันวาคม 2533 ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2533 โจทก์และจำเลยจดทะเบียนการเช่าที่ดินและบ้านดังกล่าวข้างต้นมีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไป โจทก์ได้รับค่าเช่าเป็นเงิน 1,500,000 บาท จากจำเลยแล้ว ต่อมาทางราชการเปลี่ยนเลขที่บ้านดังกล่าวเป็นเลขที่ 159/3 จำเลยก่อสร้างอาคารจอดรถและบ้านเลขที่ 159/8 บนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1692 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าวกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้ว แต่จำเลยยังครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินและบ้านดังกล่าวตลอดมา

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงการต่อสัญญาเช่าอีกสองคราว คราวละ 30 ปี มีผลใช้บังคับได้ในฐานะที่เป็นคำมั่นซึ่งผูกพันคู่สัญญาในลักษณะบุคคลสิทธิ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 540 วรรคแรก บัญญัติว่า "อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี ถ้าได้ทำสัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้น ท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี" ส่วนวรรคสองบัญญัติว่า "อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดังกล่าวมานี้ เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้แต่ต้องอย่าให้เกินสามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา" ดังนี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายห้ามมิให้มีการเช่าเกินสามสิบปี หากมีกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปีก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี เมื่อครบกำหนดเวลาสามสิบปีแล้วถึงจะต่อสัญญาได้อีก ทั้งนี้เพราะเห็นว่ากำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน สภาพของทรัพย์ที่เช่าและสภาวะเศรษฐกิจย่อมเปลี่ยนแปลงไปจนคู่สัญญาไม่อาจคาดหมายได้ว่าทรัพย์ที่เช่าจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอันอาจให้เช่าได้เท่าใด ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง ทั้งไม่อาจใช้เงื่อนไขตามสัญญาเช่าเดิมมากำหนดมูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพย์ที่เช่าได้ จึงกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาให้มีการเช่าได้เพียงสามสิบปี อันเป็นการคุ้มครองคู่สัญญามิให้มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการทำสัญญาเช่าที่มีระยะเวลาที่ยาวนานจนไม่อาจคาดหมายถึงการเปลี่ยนแปลงความคุ้มค่าของการเช่า การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2533 ในช่วงสามสิบปีแรกตามหนังสือสัญญาเช่าพร้อมบ้าน ข้อ 2 และข้อ 4 ขณะเดียวกันก็เขียนในสัญญาข้อ 3 ว่า "ผู้ให้เช่าขอให้คำมั่นว่าเมื่อครบกำหนดอายุการเช่าสามสิบปีตามข้อ 2 แล้ว หากผู้เช่ามีความประสงค์จะเช่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวนี้ต่อไป ผู้ให้เช่าก็จะให้ผู้เช่าเช่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวต่อไป" ทั้งในวันเดียวกันกับที่ทำสัญญา โจทก์และจำเลยยังทำเอกสาร โดยในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยผู้เช่าให้สัญญาว่าจะจ่ายค่าเช่าที่ดินตามข้อ 1 ทั้งสองแปลงพร้อมบ้านให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นค่าเช่าของระยะเวลาที่ต่อออกไป 2 คราว คราวละ 30 ปี เป็นเงิน 600,000 บาท ภายในไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2533 ในส่วนนี้โจทก์นำสืบว่าไม่ได้รับเงินค่าเช่าส่วนที่ต่อจากสัญญาเช่าครบกำหนด 30 ปี จำเลยนำสืบว่า ได้ชำระเงินค่าเช่าทั้งส่วนแรก 1,500,000 บาท และส่วนต่ออีก 2 คราว คราวละ 600,000 บาท รวมเป็น 2,700,000 บาท ตามใบรับเงินซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน จำเลยเป็นผู้จ่ายเงิน และลายมือชื่อพยาน ส่วนโจทก์ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ไม่รับรองใบรับเงินดังกล่าวเพราะบุตรโจทก์ชื่อนางสาวยมนาไม่ได้ลงชื่อเป็นพยาน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าลายมือชื่อในใบรับเงินมิใช่ลายมือชื่อของโจทก์ หรือเป็นลายมือชื่อปลอม ประกอบกับจำเลยเบิกความเกี่ยวกับรายละเอียดการโอนเงินว่า ก่อนจะมีการลงลายมือชื่อในเอกสารจำเลยได้ติดต่อทางโทรศัพท์กับผู้จัดการธนาคารที่จำเลยมีบัญชีอยู่ และให้ผู้จัดการคุยกับโจทก์ถึงเรื่องการโอนเงิน โจทก์จึงยอมเซ็นสัญญา จำเลยสั่งโอนเงินจากบัญชีของจำเลยในประเทศเยอรมันเข้าบัญชีของนายฮอสท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นสามีโจทก์ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 170,887 มาร์คเยอรมัน ขณะนั้นเทียบเท่า 2,700,000 บาท ไทย โดยธนาคารที่จำเลยมีบัญชี โอนเงินเข้าบัญชีของนายฮอสท์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2533 ระบุว่าเป็นการสั่งจ่ายเนื่องจากจำเลยซื้อที่ดินในประเทศไทย เมื่อธนาคารในประเทศเยอรมันส่งโทรสารการโอนเงินให้จำเลยแล้ว จำเลยนำไปให้โจทก์ดู โจทก์จึงตกลงไปจดทะเบียนการเช่าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2533 เมื่อจำเลยกลับประเทศเยอรมันเพราะวีซ่าหมดอายุ นายฮอสท์โทรสารแจ้งจำเลยว่าได้รับเงินโอนแล้ว ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมและผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จำเลยโทรสารแจ้งว่าจะชดเชยส่วนต่างดังกล่าว ต่อมาวันที่ 8 มิถุนายน 2533 จำเลยชดเชยส่วนต่างดังกล่าวให้นายฮอสท์อีก 5,795.70 ฟรังก์สวิส โดยโอนเข้าบัญชีของนายฮอสท์ที่ธนาคาร ย. โจทก์เองก็ลงทุนในบริษัท D. จดทะเบียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยโจทก์เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ซึ่งตั้งอยู่เมืองเดียวกับที่จำเลยโอนเงินดังกล่าวข้างต้น โจทก์ไม่สามารถถามค้านทำลายน้ำหนักรายละเอียดการโอนเงินดังกล่าวของจำเลยได้ ประกอบกับหนังสือรับรองบริษัทมีชื่อโจทก์เป็นกรรมการร่วมกับนายฮอสท์กับพวก ทั้งขณะนั้นโจทก์ยังใช้ชื่อสุวรรณา โจทก์ไม่ได้ถามค้าน ทั้งไม่ได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ถึงความสัมพันธ์กับนายฮอสท์ว่าไม่เป็นจริงอย่างไร เพราะเหตุใด พยานหลักฐานของจำเลยในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับเงินทั้งค่าเช่าส่วนแรก 30 ปี และส่วนต่ออีก 2 คราว คราวละ 30 ปี รวมเป็นเงิน 2,700,000 บาท จากจำเลยจริง ดังนี้ การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาเช่าที่ให้เช่าระยะแรก 30 ปี และมีคำมั่นที่โจทก์จะให้เช่าต่อไปโดยจำเลยให้สัญญาว่าจะจ่ายค่าเช่าให้อีก 2 คราว คราวละ 30 ปี ในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยได้ชำระเงินค่าเช่าส่วนต่ออีก 60 ปี ไปพร้อมกับค่าเช่าส่วนแรก 30 ปี รวม 2,700,000 บาท ครบถ้วนแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยชัดเจนว่า ต่างประสงค์หลีกเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 540 ที่ห้ามมิให้เช่าเกิน 30 ปี ฉะนั้น สัญญาส่วนที่ต่อสัญญาเช่าอีก 2 คราว คราวละ 30 ปี จึงตกเป็นโมฆะ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นกรณีไม่อาจจะให้ตีความเป็นสัญญาบุคคลสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยเพื่อให้มีผลบังคับต่อไปตามที่จำเลยฎีกา เพราะมิฉะนั้นแล้ววัตถุประสงค์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 540 ดังกล่าวย่อมจะไร้ผลบังคับ ด้วยเหตุนี้การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ขับไล่จำเลยจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนในข้อที่ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด นั้น เห็นว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านดังกล่าวแล้วจำเลยไม่ออกจึงเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์จำเลย ประกอบกับราคาที่ดินและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงจำนวนเงินค่าเช่าที่จำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์แล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 30,000 บาท

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2563) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์ ยกฟ้องแย้งจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลยในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.155/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ส. จำเลย - นาย ร.

ชื่อองค์คณะ ธีระ เบญจรัศมีโรจน์ ณรงค์ ประจุมาศ วยุรี วัฒนวรลักษณ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดภูเก็ต - นายไชยวัฒน์ บุญเรืองศักดิ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายสุทธิพงษ์ วัชรินทร์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th