สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2541

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1174

ข้อบังคับของบริษัทมีว่า "การประชุมวิสามัญ ให้มีเมื่อบริษัทมีกิจการสำคัญที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและจำเป็น หรือมีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดร่วมกันร้องขอ ก็ให้คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น" ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าตามข้อบังคับดังกล่าวผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดร่วมกันร้องขอให้คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประชุมวิสามัญได้โดยปฏิบัติตามข้อบังคับ ข้อ 26 ซึ่งมีข้อความว่า "การใด ๆ อันเกี่ยวกับการที่จะต้องปฏิบัติในส่วนที่ว่าด้วยบริษัทจำกัด ซึ่งมิได้กล่าวไว้ในข้อบังคับนี้ ฯลฯ ก็ให้ถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่าด้วยบริษัทจำกัด" กล่าวคือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1174 วรรคสอง เมื่อคณะกรรมการบริษัทไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามที่ผู้คัดค้านและผู้ถือหุ้นอื่นร้องขอภายใน 30 วันผู้คัดค้านและผู้ถือหุ้นอื่นจึงเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

เนื้อหาฉบับเต็ม

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทมิตรกงไกรลาศจำกัด ผู้คัดค้านซึ่งเดิมเป็นกรรมการผู้จัดการ แต่ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2535 มีมติปลดผู้คัดค้านออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัทให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 ประจำปี 2536 อ้างเหตุผลว่ามีเรื่องจำเป็นหรือสำคัญและเร่งด่วนเนื่องจากกรรมการขัดแย้งกัน คณะกรรมการเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นหรือสำคัญและเร่งด่วนที่จะเรียกประชุม จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เรียกประชุมและแจ้งระงับการประชุมดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบแล้ว แต่ผู้คัดค้านทำการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2536 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536 โดยพลการ และขัดต่อมติคณะกรรมการบริษัท การประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2536 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536 เป็นโมฆะและเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าว

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทมิตรกงไกรลาศจำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 2,700 หุ้น ในจำนวนหุ้นบริษัท 6,000 หุ้น ผู้คัดค้านกับผู้ร้องมีความขัดแย้งกันในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2535 โดยผู้ร้องเรียกประชุมในวันเดียวกันกับที่ผู้คัดค้านเรียกประชุม แต่ต่างสถานที่และมีมติต่างกันซึ่งมติที่ประชุมสามัญทั้งสองดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ต่อมาผู้คัดค้านร่วมกับผู้ถือหุ้นจำนวน 26 คน ในจำนวนผู้ถือหุ้นบริษัท 99 คน นับจำนวนหุ้นได้จำนวน4,375 หุ้น เกินกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนหุ้นบริษัทลงชื่อทำหนังสือถึงคณะกรรมการให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น แต่คณะกรรมการไม่ยอมเรียกประชุม เมื่อพ้นกำหนด30 วัน ผู้คัดค้านจึงส่งหนังสือบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536ในวันที่ 22 มิถุนายน 2536 เมื่อถึงวันนัด มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมครบองค์ประชุมแล้วทำการประชุมลงมติ มติที่ประชุมดังกล่าวจึงถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทและชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นได้มีการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2536 ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2536 ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องฎีกาข้อแรกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2536 ในวันที่ 22 มิถุนายน 2536 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามข้อบังคับของบริษัทมิตรกงไกรลาศ จำกัด ข้อ 19(2) ตามเอกสารหมาย ร.7 กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจใช้ดุลยพินิจในการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้หรือไม่เท่านั้น ปรากฏว่าข้อบังคับข้อ 19(2) มีข้อความว่า "การประชุมวิสามัญ ให้มีเมื่อบริษัทมีกิจการสำคัญที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและจำเป็น หรือมีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดร่วมกันร้องขอ ก็ให้คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น" เห็นว่าตามข้อบังคับดังกล่าวผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดร่วมกันร้องขอให้คณะกรรมการบริษัทจัดให้มีการประชุมวิสามัญได้ โดยปฏิบัติตามข้อบังคับข้อ 26 ซึ่งมีข้อความว่า "การใด ๆ อันเกี่ยวกับการที่จะต้องปฏิบัติในส่วนที่ว่าด้วยบริษัทจำกัด ซึ่งมิได้กล่าวไว้ในข้อบังคับนี้ ฯลฯ ก็ให้ถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่าด้วยบริษัทจำกัด" กล่าวคือ ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1174 วรรคสอง เมื่อคณะกรรมการบริษัทไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามที่ผู้คัดค้านและผู้ถือหุ้นอื่นร้องขอภายใน 30 วัน ผู้คัดค้านและผู้ถือหุ้นอื่นจึงเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2536 ในวันที่ 22 มิถุนายน 2536 จึงชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - นาย เต้า รูปสุวรรณ ผู้คัดค้าน - นาย บุญเลี้ยง ด่านกิตติไกรลาศ

ชื่อองค์คณะ สถิตย์ ไพเราะ บุญธรรม อยู่พุก ชวลิต ศรีสง่า

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th