คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4795/2565
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 391
โจทก์ทำการงานตามสัญญาจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันให้จำเลยแล้วเสร็จและส่งมอบให้แก่จำเลย ระหว่างจำเลยยังไม่ได้ตรวจสอบและรับมอบงาน โจทก์รื้อถอนต้นไม้บางส่วนอันเป็นการงานที่ได้ทำให้แก่จำเลยนั้นไป จำเลยจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่คนงานของโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์และห้ามคนงานของโจทก์เข้าไปทำงานอีก หลังจากนั้น 2 วัน โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ขออนุญาตจำเลยเข้าไปดูแลต้นไม้ในระหว่างระยะเวลาประกันผลงานตามสัญญาจ้างเหมาตกแต่งภูมิทัศน์และยินดีเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน จำเลยมิได้อนุญาตหรือปฏิเสธ จนเวลาล่วงเลยไปถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ขอริบเงินประกันผลงานและสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหาย ทั้งเอาการงานที่ว่าจ้างโจทก์นั้นไปให้บุคคลภายนอกทำต่อจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นยากเกินกว่าที่โจทก์และจำเลยจะตกลงกันได้ ถือว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างนับแต่วันที่จำเลยห้ามโจทก์เข้าไปทำการงานวันที่ 28 ตุลาคม 2561 แล้ว สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันโดยปริยายตั้งแต่วันดังกล่าว มีผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยนำการงานดังกล่าวซึ่งโจทก์รื้อถอนไปบางส่วนนั้นไปว่าจ้างบุคคลอื่นทำการงานนั้นต่อจนแล้วเสร็จและจำเลยได้ใช้ประโยชน์จากการงานนั้นแล้ว ทำให้ฝ่ายโจทก์ไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ จำเลยจึงต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานอันโจทก์ได้กระทำให้นั้นแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม รวมทั้งค่าสัมภาระที่โจทก์ได้จัดหามาทำการงานให้แก่จำเลย และบุคคลภายนอกที่จำเลยว่าจ้างได้ใช้สัมภาระของโจทก์ทำการงานให้แก่จำเลยจนแล้วเสร็จด้วย เมื่อโจทก์รื้อถอนต้นไม้และขนสัมภาระบางส่วนคืนไป สมควรนำไปหักจากค่าการงานตามใบเสนอราคาที่โจทก์ทำให้แก่จำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยจะต้องเสียค่าว่าจ้างผู้รับเหมาคนใหม่เพื่อให้การงานดังกล่าวแล้วเสร็จ นั้น รายการต้นไม้ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือจากรายการของงานที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ ถึงแม้เป็นไม้ล้มลุกแต่ก็มีจำนวนมากและราคานับว่าค่อนข้างสูง เห็นได้ชัดว่าเป็นการออกแบบจัดสวนใหม่แตกต่างจากการงานที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกำหนดค่าการงานของโจทก์ได้โดยถนัด แต่การที่คนงานของโจทก์เข้าไปรื้อถอนต้นไม้ใหญ่ ความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นแก่หน้าดิน ไม้คลุมดิน และพื้นหญ้า ความเสียหายส่วนนี้ถือว่าเป็นค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยซึ่งต้องนำไปหักออกจากค่าการงานที่โจทก์ควรจะได้รับจากจำเลยด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 278,704.675 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 271,907 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระเงิน 698,618.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 676,430 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 150,000 บาท และ 461,670 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจ้างเหมาตกแต่งงานภูมิทัศน์ 133,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2562 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระเงินตามสัญญาจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมัน 676,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2561 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันส่วนเพิ่มเติมเป็นเงิน 576,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนเงินตามสัญญาจ้างเหมาตกแต่งงานภูมิทัศน์ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 3,364 บาท ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 จำเลยว่าจ้างโจทก์ดำเนินการตกแต่งภูมิทัศน์ ณ สถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขาสระบุรี เป็นเงินทั้งสิ้น 2,719,695 บาท ตามแบบภูมิสถาปัตยกรรม และขนาด จำนวน ตามรายละเอียดในเอกสารแนบท้ายสัญญา กำหนดทำการงานให้เรียบร้อยและส่งมอบงานให้จำเลยภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2561 ไปจนถึงวันครบกำหนดส่งมอบงานวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ตกลงแบ่งจ่ายเงินตามปริมาณงานเป็นงวดงาน 5 งวด งวดสุดท้ายจ่ายร้อยละ 10 เป็นเงิน 271,970 บาท หลังส่งมอบงาน 120 วัน โดยโจทก์จะประกันผลงานและดูแลรักษาต้นไม้ให้อยู่ในสภาพดีเป็นระยะเวลา 120 วัน หลังส่งมอบงาน โจทก์ทำการงานและส่งมอบงานให้แก่จำเลยและได้รับค่าจ้างตามงวดงานจากจำเลยแล้ว 4 งวด งานงวดสุดท้ายโจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 และจะครบกำหนดจ่ายค่างวดงานหลังส่งมอบงาน 120 วัน ในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 และเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 จำเลยว่าจ้างโจทก์จัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันอีกเป็นเงิน 676,430 บาท โดยโจทก์เป็นผู้จัดหาสัมภาระและอุปกรณ์ทั้งหมด วันที่ 15 ตุลาคม 2561 และวันที่ 17 ตุลาคม 2561 โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินค่าจ้างงานงวดแรกจากจำเลยร้อยละ 65 ของค่าจ้าง จำนวน 439,679.50 บาท และงวดที่สองร้อยละ 35 ของค่าจ้าง จำนวน 236,750.50 บาท วันที่ 28 ตุลาคม 2561 โจทก์ได้รื้อถอนต้นปีบทอง ต้นเข็มพิกุล และต้นคริสติน่า จากงานจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันที่โจทก์ทำการแล้วเสร็จ โดยจำเลยไม่ได้ชำระค่าจ้างตามใบแจ้งหนี้แก่โจทก์ นายณปภัช กรรมการผู้มีอำนาจจำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจยึดรถยนต์กระบะ ของโจทก์พร้อมสัมภาระที่บรรทุกบนรถดังกล่าว วันที่ 30 ตุลาคม 2561 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขออนุญาตเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการประกันผลงานตามสัญญาจ้างและขอคืนรถคันที่ถูกยึดเพื่อนำมาใช้งาน วันที่ 21 ธันวาคม 2561 จำเลยมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งริบเงินประกันผลงานร้อยละ 10 และสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ วันที่ 4 มกราคม 2562 โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 5 จำนวน 271,970 บาท พร้อมดอกเบี้ย กับหนังสือแจ้งยกเลิกการจ้างตามสัญญาจ้างจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันและให้ใช้เงิน 676,430 บาท พร้อมดอกเบี้ย
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาต่างกล่าวอ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ผิดสัญญาจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันหรือไม่ เห็นว่า การจ้างจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระสินจ้างไว้ กรณีเช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ แม้จำเลยนำสืบว่า จำเลยจะชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่เกิน 10 วัน นับแต่วันส่งมอบงานเสร็จเรียบร้อย ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์เคยส่งมอบงานให้แก่จำเลยตามสัญญาจ้างเหมาตกแต่งงานภูมิทัศน์มาแล้วหลายงวด อันเป็นสัญญาจ้างทำของเช่นเดียวกัน และโจทก์ก็ได้รับชำระค่าจ้างจากจำเลยโดยไม่มีปัญหาอย่างใดมาก่อน แต่ได้ความจากข้อความแอปพลิเคชันไลน์ที่นายสุริยาหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ส่งให้นางศุภิสราเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 เวลา 14.51 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากที่โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่จำเลยว่า "ผมรบกวนพิจารณางวดงานด้วยครับ ผมจำเป็นจริง ๆ ครับ" จำเลยโดยนางศุภิสราได้โทรศัพท์พูดคุยผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์กับโจทก์เมื่อเวลา 15.15 นาฬิกา และใช้เวลาพูดคุยกัน 11.44 นาที และในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 นายสุริยาได้ส่งข้อความแก่นางศุภิสราอีกว่า "ผมรบกวนเบิกเงินงวดงานด้วยครับ เดือดร้อนจริง ๆ ครับ" "เห็นใจด้วยครับ" ข้อความดังกล่าวแสดงชัดว่าโจทก์เดือดร้อนจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในเวลานั้นและมีลักษณะขอความเห็นใจจากจำเลยช่วยพิจารณาจ่ายเงินค่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ให้แก่โจทก์ แม้นางศุภิสราจะอ้างว่าไม่เคยพูดว่าจะไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่านางศุภิสราได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่านางศุภิสราได้ตรวจสอบงานตามใบแจ้งหนี้ที่โจทก์ส่งงานผ่านนายรุ่งสุริยาผู้ควบคุมงานของจำเลยมาแล้วหรือไม่ อย่างไร และอยู่ในระหว่างขั้นตอนที่จำเลยอ้างว่าได้เสนอให้นายณปภัชอนุมัติเบิกจ่ายเงินแล้ว แต่กลับได้ความจากข้อความแอปพลิเคชันไลน์ระหว่างนายรุ่งสุริยากับนายสุริยาว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2561 นายรุ่งสุริยาผู้ควบคุมงานของจำเลยส่งภาพถ่ายงานเพื่อให้โจทก์ไปเก็บงาน และนายสุริยาส่งข้อความตอบกลับว่า "ครับผม เดี๋ยวเก็บให้ครับ" "ผมรบกวนเรื่องงวดงานด้วยนะครับ ยังไม่ได้สักงวดเลยครับ" นายรุ่งสุริยาส่งข้อความกลับว่า "ผมบอกไปแล้วครับว่าขอ 65% ก่อน" ที่นายณปภัชเบิกความว่า งานรางระบายน้ำที่นายรุ่งสุริยาสั่งให้โจทก์แก้ไขดังกล่าวตรงตามภาพถ่ายหมาย ล.25 เป็นงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. ไม่ใช่งานของโจทก์ แต่เมื่อพิจารณางานที่นายรุ่งสุริยาขอให้โจทก์แก้ไขดังกล่าวเป็นรอยร้าวและรอยกะเทาะปูนที่ขอบคันหินกั้นดินและรางระบายน้ำซึ่งน่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการกระทำของคนงานโจทก์ในระหว่างจัดสวน มิฉะนั้นโจทก์ไม่น่าจะรับกับนายรุ่งสุริยาว่าจะเก็บงานหรือแก้ไขให้ ยิ่งกว่านั้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2561 นายรุ่งสุริยายังส่งข้อความสอบถามย้ำแก่นายสุริยา อีกว่า "คุยกับคุณปูแล้วได้ความว่าอย่างไรบ้างครับ" นายสุริยาส่งข้อความตอบกลับในวันรุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2561 ว่า "เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาโทรคุยกับปู ปูบอกว่าจะนั่งเครื่องกลับมาคุยเองครับ" สอดคล้องกับข้อความแอปพลิเคชันไลน์ที่นายรุ่งสุริยาส่งให้นายสุริยาไว้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2561 ที่ว่า "ภายในอาทิตย์นี้จะสรุปเรื่องสานงานต่อคุณปูได้มั้ยครับ เสี่ยก็อยากให้มาลงบันทึกแนบในสัญญากันด้วยครับ" เช่นนี้ข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยยังไม่ได้ตรวจสอบและรับมอบงานของโจทก์ตามใบแจ้งหนี้โดยให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมงานและเกี่ยงให้โจทก์ติดตามนายธนัตถ์หรือปูช่างปูนปั้นและน้ำตกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานจัดสวนของโจทก์ ในระหว่างนั้นโจทก์ก็ชอบที่จะนำต้นไม้ซึ่งเป็นสัมภาระของโจทก์ที่จัดหามานั้นกลับคืนไปได้ จะฟังว่าการที่โจทก์ให้คนงานมาทำการรื้อถอนและเอาต้นไม้ออกไปจากการงานที่ทำให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2561 เป็นการกระทำโดยไม่มีสิทธิและเป็นการผิดสัญญาหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่า จำเลยรับมอบงานของโจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิรื้อถอนต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของจำเลยไปและถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ประเด็นอื่นตามฎีกาของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยอีก จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่า จำเลยต้องเสียหายเนื่องจากโจทก์ได้รื้อถอนต้นไม้และทำให้เสียหายทั้งหมดซึ่งการงานที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยตามสัญญาจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันแล้ว รวมทั้งจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ต้องว่าจ้างบุคคลอื่นให้ทำการงานดังกล่าวแทนโจทก์ตามที่อ้างในฎีกาได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ละทิ้งงานไม่เข้ามาดูแลต้นไม้และสวนตามสัญญาจ้างเหมาตกแต่งงานภูมิทัศน์ ในระหว่างระยะเวลาประกันผลงาน 120 วัน หลังส่งมอบงานงวดสุดท้าย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า ระหว่างคนงานของโจทก์รื้อถอนต้นไม้นำขึ้นรถยนต์นั้น จำเลยโดยนายณปภัช กรรมการผู้มีอำนาจจำเลยไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าคนงานของโจทก์ลักทรัพย์ ทั้งจำเลยสั่งห้ามมิให้คนงานของโจทก์เข้าไปในสถานีบริการน้ำมันด้วย มิฉะนั้นจะถูกจำเลยดำเนินคดี ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้คนงานของโจทก์เกรงว่าจะถูกจำเลยดำเนินคดีได้ ทั้งก่อนวันที่ 28 ตุลาคม 2561 คนงานของโจทก์ก็เข้าไปดูแลต้นไม้และสวนในระหว่างประกันผลงานให้แก่จำเลยด้วยดีตลอดมาโดยไม่ปรากฏว่ามีข้อขัดข้องแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ได้มีหนังสือขอเข้าไปปฏิบัติงานประกันผลงานดังกล่าวอีก แต่จำเลยกลับไม่ให้คำตอบอย่างใดแก่โจทก์ แสดงว่าโจทก์ประสงค์เข้าไปทำการงานระหว่างการประกันผลงานตามสัญญา แต่มีเหตุขัดข้องที่คนงานของโจทก์กลัวว่าจะถูกจำเลยแจ้งความดำเนินคดี ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยเพียงห้ามคนงานของโจทก์ไม่ให้เข้าไปทำงานจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นคนละแห่งกับสถานที่ที่ต้องดูแลต้นไม้และสวนในระหว่างประกันผลงานนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะแม้ทั้งสองแห่งเป็นคนละที่กัน แต่อยู่ในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเดียวกัน การที่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปทำการงานดูแลต้นไม้และสวนให้อยู่ในสภาพดีในระหว่างประกันผลงานนับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2561 นับได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาชอบแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาว่า จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายว่าจ้างบุคคลอื่นให้ดูแลและค่าต้นไม้เพิ่มเติมจำนวน 150,000 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาตกแต่งงานภูมิทัศน์เป็นเงิน 133,718 บาท พร้อมดอกเบี้ย นั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาให้การชำระเงินค่าจ้างในส่วนนี้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ฎีกาเห็นด้วยว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวชอบแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยให้อีก
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าจ้างจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมัน จำนวน 676,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า โจทก์ทำการงานจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันให้จำเลยแล้วเสร็จและส่งมอบผ่านนายรุ่งสุริยาให้แก่จำเลย ระหว่างจำเลยยังไม่ได้ตรวจสอบและรับมอบงานดังกล่าว โจทก์รื้อถอนต้นไม้บางส่วนอันเป็นการงานที่ได้ทำให้แก่จำเลยนั้นไป จำเลยจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่คนงานของโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์และห้ามมิให้คนงานของโจทก์เข้าไปทำงานอีก มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดี หลังจากนั้น 2 วัน โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ขออนุญาตจำเลยเข้าไปดูแลต้นไม้ในระหว่างระยะเวลาประกันผลงานและยินดีเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน จำเลยก็นิ่งเฉยโดยมิได้อนุญาตหรือปฏิเสธแต่ประการใด จนเวลาล่วงเลยไปถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ขอริบเงินประกันผลงานและสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหาย ทั้งเอาการงานที่ว่าจ้างโจทก์นั้นไปให้บุคคลภายนอกทำต่อจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นยากเกินกว่าที่โจทก์และจำเลยจะทำความเข้าใจหรือตกลงกันได้ตั้งแต่วันเกิดเหตุ ถือว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างนับตั้งแต่วันที่จำเลยห้ามมิให้โจทก์เข้าไปทำการงานวันที่ 28 ตุลาคม 2561 แล้ว สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2561 มีผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากโจทก์ทำการงานและส่งมอบงานแล้ว จำเลยนำการงานดังกล่าวซึ่งโจทก์รื้อถอนไปบางส่วนก่อนที่จำเลยตรวจสอบและรับมอบงานนั้นไปว่าจ้างบุคคลอื่นทำการงานนั้นต่อจนแล้วเสร็จและจำเลยได้ใช้ประโยชน์จากการงานนั้นแล้ว ทำให้ฝ่ายโจทก์ไม่อาจกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ จำเลยจึงต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานอันโจทก์ได้กระทำให้นั้นแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม รวมทั้งค่าสัมภาระที่โจทก์ได้จัดหามาทำการงานให้แก่จำเลย และบุคคลภายนอกที่จำเลยว่าจ้างได้ใช้สัมภาระของโจทก์ทำการงานให้แก่จำเลยจนแล้วเสร็จด้วย เมื่อปรากฏว่าหลังจากโจทก์ทำการงานและส่งมอบแล้ว ก่อนจำเลยตรวจสอบและรับมอบงาน โจทก์ให้คนงานรื้อถอนขนต้นไม้บางส่วนคืนไป และเมื่อนายสุริยาหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์เบิกความรับว่า โจทก์ให้คนงานขนสัมภาระที่โจทก์เป็นผู้จัดหาออกไป โดยปรากฏตามใบเสนอราคาว่า มีต้นปีบทอง 18 ต้น ราคารวม 63,000 บาท ต้นเข็มพิกุล 200 ต้น ราคารวม 5,000 บาท และต้นคริสติน่า 180 ต้น ราคารวม 63,000 บาท และยังมีรายการค่าสัมภาระค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าขนส่ง 35,000 บาท ค่าแรงปลูกและดูแลรักษาประกันผลงาน 70,000 บาท และค่าไม้ค้ำยัน 6,300 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 242,300 บาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับต้นไม้ดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ สมควรนำไปหักจากค่าการงานตามใบเสนอราคาที่โจทก์ทำให้แก่จำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า จำเลยจะต้องเสียค่าว่าจ้างผู้รับเหมาคนใหม่เพื่อให้การงานดังกล่าวแล้วเสร็จ เป็นเงิน 461,670 บาท นั้น เห็นว่า รายการต้นไม้ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือจากรายการของงานที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ ถึงแม้เป็นไม้ล้มลุกแต่ก็มีจำนวนมากและราคานับว่าค่อนข้างสูง เห็นได้ชัดว่าเป็นการออกแบบจัดสวนใหม่แตกต่างจากการงานที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกำหนดค่าการงานของโจทก์ได้โดยถนัด แต่การที่คนงานของโจทก์เข้าไปรื้อถอนต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกลงพื้นดินแล้ว ความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นแก่หน้าดิน ไม้คลุมดินและพื้นหญ้า ความเสียหายส่วนนี้ถือว่าเป็นค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยซึ่งต้องนำไปหักออกจากค่าการงานที่โจทก์ควรจะได้รับจากจำเลยข้างต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 30,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินที่ต้องนำไปหักออก 272,300 บาท สรุปแล้ว จำเลยต้องใช้ค่าแห่งการงานแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 404,130 บาท ฎีกาในข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ โดยให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ลดลงจากคำพิพากษาศาลชั้นต้น 100,000 บาท โจทก์ฎีกาขอให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์จึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2561 ถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย 3,452.05 บาท รวมเป็นทุนทรัพย์ 103,452.05 บาทต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกา 2,069 บาท โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 16,202 บาท สมควรคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาที่ชำระเกินมาแก่โจทก์ 14,133 บาท และเนื่องจากได้มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าจ้างซึ่งเป็นหนี้เงินตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับใช้ตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาจัดสวนทางเข้าสถานีบริการน้ำมันเป็นเงิน 404,130 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตามสัญญาจ้างเหมาตกแต่งงานภูมิทัศน์อัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาแก่โจทก์ 14,133 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนทั้งฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.929/2564
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - ห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. จำเลย - บริษัท ว.
ชื่อองค์คณะ สมชัย ฑีฆาอุตมากร ชูศักดิ์ ทองวิทูโกมาลย์ อนุสรณ์ ศรีเมนต์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดสระบุรี - นางสาววรรณวิภา โสมานันท์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 - นายนิรัตน์ ฟูกาญจนานนท์