คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4859/2566
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 50
แม้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) จะกำหนดว่า ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงในขณะยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินหรือขอคุ้มครองสิทธิของตน และขณะยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 6 ได้ขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 38 ถึงที่ 43 และผู้คัดค้านที่ 7 ได้ขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 35 และที่ 36 ไปแล้ว ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ขายฝากทรัพย์ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งการขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ได้ขายฝากทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้ว แต่เมื่อผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ตามสัญญาขายฝาก ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาขายฝากและทรงสิทธิในฐานะเป็นผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2522 มาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงมิใช่เป็นการยื่นคำคัดค้านโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) แต่เป็นการร้องคัดค้านตามมาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ทำสัญญาขายฝากทรัพย์ที่ขอไถ่โดยสุจริต ทั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ก่อนครบกำหนดไถ่ได้แสดงเจตนาขอไถ่ทรัพย์ตามสัญญา ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงเป็นผู้รับประโยชน์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีเพื่อใช้สิทธิไถ่ทรัพย์คืนได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้นำทรัพย์สิน 44 รายการ พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก มาตรา 51 ในกรณีที่มิได้มีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย หรือในกรณีที่มีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือ ให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 8 ถึงที่ 12 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สิน
ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการยึดและอายัด และมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้
ผู้คัดค้านที่ 6 ยื่นคำคัดค้านขอให้เพิกถอนการอายัดและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 6 ไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้
ผู้คัดค้านที่ 7 ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 7 ไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้
ผู้คัดค้านที่ 13 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 13 ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืน
ผู้คัดค้านที่ 14 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สิน แล้วมีคำสั่งคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 14
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 30 ตามบัญชีทรัพย์สินพร้อมดอกผลไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก และมาตรา 51 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 31 ที่ 32 และที่ 37 ให้นำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก และมาตรา 51 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 33 และที่ 34 ให้ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ไถ่การขายฝากได้ในราคา 59,000,000 บาท โดยให้ดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากพ้นกำหนดให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ได้จากการไถ่การขายฝากหรือการขายทอดตลาดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก และมาตรา 51 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 35 และที่ 36 ให้ผู้คัดค้านที่ 7 ไถ่การขายฝากได้ในราคา 27,140,000 บาท โดยให้ดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากพ้นกำหนดให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการไถ่การขายฝากหรือการขายทอดตลาดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก และมาตรา 51 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 38 ถึงที่ 43 ให้ผู้คัดค้านที่ 6 ไถ่การขายฝากได้ในราคา 8,500,000 บาท โดยให้ดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากพ้นกำหนดให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการไถ่การขายฝากหรือการขายทอดตลาดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก และมาตรา 51 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 44 ให้ผู้คัดค้านที่ 13 ไถ่การขายฝากได้ในราคา 43,130,000 บาท โดยให้ดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากพ้นกำหนดให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการไถ่การขายฝากหรือการขายทอดตลาดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือก็ให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก และมาตรา 51 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 8 ถึงที่ 12 ที่ 13 และที่ 14 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำทรัพย์สิน 44 รายการ พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นชดใช้คืนแก่ผู้เสียหายตามความเสียหายที่ผู้เสียหายสูญเสียไปจากการกระทำความผิด โดยหักส่วนที่ผู้เสียหายได้รับชดใช้แล้วตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หากมีทรัพย์สินเหลือให้ทรัพย์สินนั้นพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ที่ 13 และที่ 14 กับคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 8 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 38 ถึงที่ 43 และคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 10 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 44 ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 5 ไถ่ถอนการขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 33 และที่ 34 ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 6 ไถ่ถอนการขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 38 ถึงที่ 43 ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 7 ไถ่ถอนการขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 35 และที่ 36 ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 13 ไถ่ถอนการขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 44 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล และได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกมีพฤติการณ์การกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระและความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน โดยระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2560 ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกร่วมกันวางแผนสมคบหลอกลวงชักชวนให้นายอาร์นี่ ผู้เสียหายร่วมลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท อ. บริษัท N. ร่วมลงทุนซื้อขายเงินดิจิทัลดราก้อนคอยน์ ซื้อหุ้นของบริษัท ด. โดยอ้างว่าเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อลงชื่อในสัญญาที่ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกจัดทำขึ้นแล้วโอนเงินบิทคอยน์ซึ่งเป็นเงินสกุลดิจิทัลไปเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กลุ่มของผู้คัดค้านที่ 1 เปิดรองรับไว้ 19 ครั้ง คิดเป็นเงิน 797,408,454.33 บาท ต่อมาผู้เสียหายได้รับหุ้นไม่ครบตามสัญญาและไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนจริงตามที่ตกลงกัน จึงทราบว่าถูกผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกหลอกลวง ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกรวม 9 คน ได้แก่ ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 9 ผู้คัดค้านที่ 10 ผู้คัดค้านที่ 8 นายชาคริส นายประสิทธิ์ นายชัชวาล นายณัฐนนท์ นายปัณณ์ฉัตร ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงผู้อื่น ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 44 รายการ พร้อมดอกผล โดยเห็นว่าทรัพย์สินทั้งหมดดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (18) คณะกรรมการธุรกรรมมีความเห็นเช่นเดียวกัน จึงส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณา ต่อมาพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้ ผู้คัดค้านที่ 6 เดิมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6 แปลง ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5431 และที่ดินโฉนดเลขที่ 120328 ถึง 120332 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ผู้คัดค้านที่ 6 ทำสัญญาขายฝากที่ดินทั้ง 6 แปลง ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 8 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 8 เป็นตัวแทนผู้คัดค้านที่ 1 รับซื้อฝากไว้เป็นเงิน 8,500,000 บาท ครบกำหนดเวลาไถ่ในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 เมื่อใกล้ครบกำหนดผู้คัดค้านที่ 6 มีหนังสือแจ้งกำหนดเวลาไถ่ไปยังผู้คัดค้านที่ 8 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ผู้คัดค้านที่ 6 ไปที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร แต่ผู้คัดค้านที่ 8 ไม่ไปตามนัด ผู้คัดค้านที่ 6 ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานที่ดินว่า ที่ดินทั้ง 6 แปลง ถูกอายัด ผู้คัดค้านที่ 6 ทำสัญญาขายฝากที่ดินโดยสุจริตและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ส่วนผู้คัดค้านที่ 7 เดิมเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 216513 และ 238119 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ผู้คัดค้านที่ 7 ทำสัญญาขายฝากที่ดินทั้ง 2 แปลง ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเงิน 27,140,000 บาท ครบกำหนดไถ่ในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2561 ผู้คัดค้านที่ 7 ได้รับหนังสือจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จึงทราบว่าไม่สามารถไถ่ที่ดินทั้ง 2 แปลง ได้ ผู้คัดค้านที่ 7 ขายฝากที่ดินโดยสุจริตและมีนายหน้าเป็นผู้ดำเนินการให้ สำหรับคดีในส่วนของผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 ผู้คัดค้านที่ 8 ถึงที่ 14 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ว่า ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า
(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ
และมาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอบัญญัติว่า "ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาซึ่งประโยชน์โดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ" แม้ตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) ดังกล่าวจะกำหนดว่า ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงในขณะยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินหรือขอคุ้มครองสิทธิของตน และขณะยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 6 ได้ขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 38 ถึงที่ 43 และผู้คัดค้านที่ 7 ได้ขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 35 และที่ 36 ไปแล้ว ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ขายฝากทรัพย์ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งการขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 และกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 492 ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ได้ขายฝากทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้ว แต่เมื่อผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ตามสัญญาขายฝาก ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาขายฝากและทรงสิทธิในฐานะเป็นผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2522 มาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงมิใช่เป็นการยื่นคำคัดค้านโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา แต่เป็นการร้องคัดค้านตามมาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ทำสัญญาขายฝากทรัพย์ที่ขอไถ่โดยสุจริต ทั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ก่อนครบกำหนดไถ่ได้แสดงเจตนาขอไถ่ทรัพย์ตามสัญญา ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงเป็นผู้รับประโยชน์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีเพื่อใช้สิทธิไถ่ทรัพย์คืนได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องคัดค้านในส่วนของผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 35 และที่ 36 ให้ผู้คัดค้านที่ 7 ไถ่การขายฝากได้ในราคา 27,140,000 บาท โดยให้ดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากพ้นกำหนดให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการไถ่การขายฝากหรือการขายทอดตลาดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก และมาตรา 51 สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 38 ถึงที่ 43 ให้ผู้คัดค้านที่ 6 ไถ่การขายฝากได้ในราคา 8,500,000 บาท โดยให้ดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากพ้นกำหนดให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการไถ่การขายฝากหรือการขายทอดตลาดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินเหลือให้ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคหก และมาตรา 51 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ปค.117/2566
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ ผู้ร้อง - พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้คัดค้าน - นาย ป. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ณรงค์ กลั่นวารินทร์ สิทธิโชติ อินทรวิเศษ เพิ่มศักดิ์ สายสีทอง
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลแพ่ง - นายชัยรักษ์ จยาวรรณ ศาลอุทธรณ์ - นายประชา งามลำยวง