คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883/2563
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ม. 3, 6 วรรคสอง (1)
ปัญหามีว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ มีเหตุเพิกถอนตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้วันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2552 และหนังสือ "4WHEELS" เป็นนิตยสารฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความในหนังสือดังกล่าวทั้งสี่แผ่นที่มีลักษณะเน้นไปในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกล่าวอ้างถึงการติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์ในทำนองว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โจทก์คิดค้นพัฒนาขึ้น มีความปลอดภัยตามมาตรฐานต่าง ๆ และคุ้มค่า โดยแจ้งชื่อบริษัท พร้อมที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์และโทรสารของโจทก์ไว้ตอนท้ายสุดของบทความกรณีหากผู้อ่านหนังสือนิตยสารดังกล่าวสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการติดต่อสอบถาม ทั้งยังได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ยินยอมให้มีการเผยแพร่ภาพบทความดังกล่าว ดังนี้ ย่อมเห็นว่าในขณะเผยแพร่หนังสือนิตยสารดังกล่าว อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังในหนังสือดังกล่าว หรือการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ ยังมิได้มีแพร่หลายในราชอาณาจักร เพราะมิเช่นนั้นแล้วโจทก์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์การติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของตนในหนังสือนิตยสารดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งตามข้อความที่เผยแพร่ก็ใช้คำว่า "เป็นนวัตกรรมใหม่" อันมีความหมายว่า เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกไปจากเดิม ย่อมเข้าใจได้ว่าในขณะที่หนังสือนิตยสารดังกล่าวออกเผยแพร่นั้น ไม่มีการประดิษฐ์เช่นนี้มาก่อน อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ ประกอบกับภาพและข้อความที่เผยแพร่ตามหนังสือก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของสิทธิบัตรดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น หนังสือดังกล่าวจึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานที่จะทำให้รับฟังได้ว่าสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ มีแพร่หลายในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง (1)
ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตีความคำว่า "แบบผลิตภัณฑ์" ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 หรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 บัญญัติให้นิยามศัพท์คำว่า "แบบผลิตภัณฑ์" หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" แม้บทกฎหมายดังกล่าวไม่ระบุถึงความสวยงามไว้โดยตรง แต่จากนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปร่างหรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ หาได้เน้นที่คุณสมบัติการใช้งานของสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีการประดิษฐ์ หากแบบผลิตภัณฑ์ใดมีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในการใช้งานเท่านั้นย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่หากรูปลักษณะที่ปรากฏภายนอกมีความสวยงามหรือดึงดูดใจแล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในส่วนนี้จึงไม่ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมแต่กลับมุ่งเน้นถึงประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ในข้อนี้ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ในการประกอบธุรกิจให้บริการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี โจทก์ออกแบบและคิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวีขึ้น โดยการออกแบบได้กำหนดจุดติดตั้งถังบรรจุก๊าซไว้ที่ด้านล่างกระบะหรือใต้ท้องรถกระบะ แทนการติดตั้งแบบเดิมทั่วไปที่ติดตั้งบนลูกกระบะ และสามารถทำให้ติดตั้งถังบรรจุก๊าซได้ถึง 3 ถัง ด้วยการใช้โครงสร้างอุปกรณ์รองรับถังก๊าซที่เป็นเหล็กแผ่นเรียบปั๊มขึ้นรูปซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และสวยงาม และยึดติดอุปกรณ์ดังกล่าวเข้ากับโครงรถยนต์โดยไม่ต้องเชื่อมหรือเจาะรู แล้วโจทก์จึงนำงานนวัตกรรมดังกล่าวไปขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยในส่วนแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์อุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า ในขณะที่โจทก์คิดได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์นั้น ไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดทั้งในและต่างประเทศใช้แบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยในชั้นตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบกับทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแล้วก็ไม่พบงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดความใหม่ แต่ในชั้นพิจารณาทางนำสืบของฝ่ายจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์มาแสดง คงมีเพียงเอกสารทางวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศและกฎกระทรวงเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์และส่วนควบที่ออกตามความใน พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยงานต่าง ๆ และภาพถ่ายรถประเภทต่าง ๆ ติดถังก๊าซ แต่เอกสารและภาพเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏหรือแสดงให้เห็นภาพหรือรูปลักษณะของอุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซได้อย่างชัดเจน ทั้งภาพถ่ายบางภาพยังเป็นการติดตั้งถังบรรจุก๊าซกับรถประเภทอื่น เช่น รถบรรทุกและรถตู้ ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ใช้ติดตั้งกับรถกระบะ จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนอันจะทำให้เห็นได้ว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมหรือไม่ อย่างไร คงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์เพียงว่าการติดตั้งถังบรรจุก๊าซที่ใช้กันทั่วไปแบบเดิมนั้นจะเป็นการติดตั้งไว้บนตัวกระบะรถซึ่งแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ติดตั้งอยู่ใต้กระบะรถ นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ด้วยว่าในการออกแบบอุปกรณ์ยึดจับหรือจับยึดถังบรรจุก๊าซตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับ โจทก์ออกแบบให้มีความสวยงามด้วย ซึ่งในข้อนี้ฝ่ายจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ปากดังกล่าวหรือนำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับหนังสือ "4WHEELS" ในแผ่นที่ 3 มีบทความภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมความปลอดภัย OEM" ระบุว่า การติดตั้งระบบก๊าซซีเอ็นจีของโจทก์ใช้มาตรฐาน OEM ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ มาตรฐานเดียวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จึงมั่นใจได้ในความสวยงาม การออกแบบดังกล่าวจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว ดังนี้จึงไม่ปรากฏเหตุอันจะทำให้การออกสิทธิบัตรทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 188,860,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการกระทำละเมิด ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 4,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการกระทำละเมิด ห้ามจำเลยทั้งสองผลิต ใช้ ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย นำเข้า ส่งออก และให้บริการติดตั้งอุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์ที่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์และหรือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองทำลายสินค้าที่อยู่ในความครอบครองอันเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์หรือดำเนินการอย่างอื่นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสินค้าดังกล่าวออกจำหน่ายอีก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งให้พิพากษาว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 34462 และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่ 38451, 38452, 32384, 32166 และ 32167 เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเป็นสิทธิบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าว และห้ามโจทก์เข้ายุ่งเกี่ยวอันเป็นการรบกวนสิทธิ รวมถึงการกระทำใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 อันสืบเนื่องหรืออ้างอิงตามสิทธิบัตรพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 เมษายน 2557 อันเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการละเมิดฝ่าฝืนสิทธิบัตรของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองผลิต ใช้ ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย นำเข้า ส่งออก และให้บริการติดตั้งอุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์ที่เป็นการฝ่าฝืนสิทธิบัตรการประดิษฐ์และหรือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองทำลายสินค้าที่อยู่ในความครอบครองอันเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสินค้าดังกล่าวออกจำหน่ายอีก กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,000,000 บาท ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่สิทธิบัตร 34462 และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่สิทธิบัตร 38451, 38452, 32384, 32166 และ 32167 ของโจทก์เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวทั้งหมด ยกฟ้องโจทก์และยกคำขออื่นในฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเป็นผู้จำหน่ายรถกระบะและเป็นผู้ให้บริการดัดแปลงและติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวี บริการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์ อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถัง เลขที่สิทธิบัตร 34462 ขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 และเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซสำหรับรถยนต์ เลขที่สิทธิบัตร 38451 และ 38452 สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ยึดจับถังบรรจุก๊าซสำหรับรถยนต์ เลขที่สิทธิบัตร 32384, 32166 และ 32167 โดยขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 38451 และ 38452 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 และขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 32384, 32166 และ 32167 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติอัดและก๊าซปิโตรเลียมเหลวให้แก่รถบรรทุกและรถยนต์ มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถัง เลขที่สิทธิบัตร 34462 ของโจทก์เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ มีเหตุเพิกถอนตามกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า หนังสือ "4WHEELS" พิมพ์ขายก่อนวันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 34462 โดยหนังสือดังกล่าวมีภาพรถยนต์ติดอุปกรณ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ แสดงให้เห็นถึงการวางถังก๊าซและการติดตั้งถังก๊าซเข้ากับรถยนต์ ถือเป็นหลักฐานว่าสิ่งประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์มีแพร่หลายในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร โดยพิจารณาความแพร่หลายนี้จากลักษณะของการมีรถยนต์ติดตั้งถังก๊าซตามสิทธิบัตรของโจทก์ และสาธารณชนมีโอกาสได้รู้เห็นในวงกว้างพอสมควร เพราะการลงพิมพ์ในหนังสือ "4WHEELS" เช่นนี้เชื่อได้ว่าสาธารณชนสามารถทราบถึงการมีอยู่ของสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ แม้โจทก์เองจะเป็นผู้ยินยอมให้มีการเปิดเผยในลักษณะดังกล่าวก็ทำให้การประดิษฐ์ตกเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วเช่นกัน สิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โจทก์ฎีกาทำนองว่า หนังสือ "4WHEELS" ตามเอกสารหมาย ล.19 ที่จำเลยทั้งสองอ้างส่งนั้นเป็นเพียงภาพและข้อความแสดงการให้ข้อมูลเพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าของโจทก์เท่านั้น และไม่มีทางที่จะตีความไปได้ว่าผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์มีปรากฏอยู่แล้วอย่างแพร่หลาย สิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์จึงไม่ได้ขาดความใหม่ดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย เห็นว่า แม้วันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จะเป็นวันที่ 25 สิงหาคม 2552 และหนังสือเอกสารหมาย ล.19 เป็นนิตยสารฉบับเดือนสิงหาคม 2552 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความในเอกสารหมาย ล.19 ทั้งสี่แผ่นที่มีลักษณะเน้นไปในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และกล่าวอ้างถึงการติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของโจทก์ในทำนองว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โจทก์คิดค้นพัฒนาขึ้น มีความปลอดภัยตามมาตรฐานต่าง ๆ และคุ้มค่า โดยแจ้งชื่อบริษัท พร้อมที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์และโทรสารของโจทก์ไว้ตอนท้ายสุดของบทความกรณีหากผู้อ่านหนังสือนิตยสารดังกล่าวสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการติดต่อสอบถาม ทั้งยังได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ยินยอมให้มีการเผยแพร่ภาพและบทความดังกล่าว ดังนี้ ย่อมเห็นว่าในขณะเผยแพร่หนังสือนิตยสารดังกล่าว อุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังในเอกสารหมาย ล.19 หรือการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ ยังมิได้มีแพร่หลายในราชอาณาจักร เพราะมิเช่นนั้นแล้วโจทก์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์การติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์แบบสามถังของตนในหนังสือนิตยสารดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งตามข้อความที่เผยแพร่ก็ใช้คำว่า "เป็นนวัตกรรมใหม่" อันมีความหมายว่า เป็นสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกไปจากเดิม ย่อมเข้าใจได้ว่าในขณะที่หนังสือนิตยสารดังกล่าวออกเผยแพร่นั้น ไม่มีการประดิษฐ์เช่นนี้มาก่อน อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ ประกอบกับภาพและข้อความที่เผยแพร่ ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของสิทธิบัตรดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น หนังสือตามเอกสารหมาย ล.19 จึงไม่อาจถือเป็นหลักฐานที่จะทำให้รับฟังได้ว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตร มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง (1) ดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์และมีเหตุเพิกถอนตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตีความคำว่า "แบบผลิตภัณฑ์" ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 บัญญัติให้นิยามศัพท์คำว่า "แบบผลิตภัณฑ์" หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์ หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" แม้บทกฎหมายดังกล่าวไม่ระบุถึงความสวยงามไว้โดยตรง แต่จากนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปร่างหรือองค์ประกอบของลวดลายหรือสีของผลิตภัณฑ์อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ หาได้เน้นที่คุณสมบัติการใช้งานของสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีการประดิษฐ์ หากแบบผลิตภัณฑ์ใดมีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในการใช้งานเท่านั้นย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่หากรูปลักษณะที่ปรากฏภายนอกมีความสวยงามหรือดึงดูดใจแล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในส่วนนี้จึงไม่ขัดกับบทนิยามตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่พบว่ามีความสวยงามแตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมแต่กลับมุ่งเน้นถึงประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เห็นว่า ในข้อนี้ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ซึ่งมีนายสุรินทร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ในการประกอบธุรกิจให้บริการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวี โจทก์ออกแบบและคิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับการติดตั้งถังบรรจุก๊าซเอ็นจีวีขึ้น โดยการออกแบบได้กำหนดจุดติดตั้งถังบรรจุก๊าซไว้ที่ด้านล่างกระบะหรือใต้ท้องรถกระบะ แทนการติดตั้งแบบเดิมทั่วไปที่ติดตั้งบนลูกกระบะ และสามารถทำให้ติดตั้งถังบรรจุก๊าซได้ถึง 3 ถัง ด้วยการใช้โครงสร้างอุปกรณ์รองรับถังก๊าซที่เป็นเหล็กแผ่นเรียบปั๊มขึ้นรูปซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และสวยงาม และยึดติดอุปกรณ์ดังกล่าวเข้ากับโครงรถยนต์โดยไม่ต้องเชื่อมหรือเจาะรู แล้วโจทก์จึงนำงานนวัตกรรมดังกล่าวไปขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาในปี 2552 รวม 6 ฉบับ ได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยในส่วนแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์อุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซ พยานยืนยันว่าในขณะที่โจทก์คิดได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์นั้นไม่เคยมีผู้ประกอบการรายใดทั้งในและต่างประเทศใช้แบบผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกับแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยในชั้นตรวจคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบกับทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแล้วก็ไม่พบงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ปรากฏตามรายงานตรวจสอบของนักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตร ส่วนฝ่ายจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดความใหม่ แต่ในชั้นพิจารณาทางนำสืบของฝ่ายจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์มาแสดง คงมีเพียงเอกสารทางวิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ประกาศและกฎกระทรวงเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยงานต่าง ๆ และภาพถ่ายรถประเภทต่าง ๆ ติดถังก๊าซ แต่เอกสารและภาพเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏหรือแสดงให้เห็นภาพหรือรูปลักษณะของอุปกรณ์จับยึดถังบรรจุก๊าซได้อย่างชัดเจน ทั้งภาพถ่ายบางภาพยังเป็นการติดตั้งถังบรรจุก๊าซกับรถประเภทอื่น เช่น รถบรรทุกและรถตู้ ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ใช้ติดตั้งกับรถกระบะ จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีแบบผลิตภัณฑ์อันเป็นงานที่ปรากฏอยู่ก่อนอันจะทำให้เห็นได้ว่าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งห้าฉบับของโจทก์แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมหรือไม่ อย่างไร คงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์เพียงว่าการติดตั้งถังบรรจุก๊าซที่ใช้กันทั่วไปแบบเดิมนั้นจะเป็นการติดตั้งไว้บนตัวกระบะรถซึ่งแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ติดตั้งอยู่ใต้กระบะรถ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายสุรินทร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ด้วยว่าในการออกแบบอุปกรณ์ยึดจับหรือจับยึดถังบรรจุก๊าซตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ โจทก์ออกแบบให้มีความสวยงามด้วย ซึ่งในข้อนี้ฝ่ายจำเลยก็มิได้ถามค้านพยานโจทก์ปากดังกล่าวหรือนำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงในส่วนดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ประกอบกับหนังสือตามเอกสารหมาย ล.19 มีบทความภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมความปลอดภัย OEM" ระบุว่า การติดตั้งระบบก๊าซซีเอ็นจีของโจทก์ใช้มาตรฐาน OEM ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ มาตรฐานเดียวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จึงมั่นใจได้ในความสวยงาม การออกแบบดังกล่าวจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว ดังนี้จึงไม่ปรากฏเหตุอันจะทำให้การออกสิทธิบัตรทั้งห้าฉบับของโจทก์ไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของโจทก์ไม่แตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิม แต่กลับมุ่งเน้นถึงประโยชน์ในการใช้งานเพียงอย่างเดียว และเพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 เมษายน 2557 อันเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองผลิต ใช้ ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย นำเข้า ส่งออก และให้บริการติดตั้งอุปกรณ์ติดตั้งถังบรรจุก๊าซซีเอ็นจีสำหรับรถยนต์ที่เป็นการฝ่าฝืนสิทธิบัตรการประดิษฐ์และหรือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 1,000,000 บาท ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา ทก.(ป)3/2563
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท ส. จำเลย - บริษัท ว. กับพวก
ชื่อองค์คณะ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง นิพันธ์ ช่วยสกุล ชัยรัตน์ ศิลาลาย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายสิรภพ วีระวานิช
- นายไชยยศ วรนันท์ศิริ