สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2566

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 150, 1300, 1620, 1629, 1719, 1722

เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินทั้ง 7 แปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 และ 1629 ซึ่งทายาทโดยธรรมของ ช. คือโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกในส่วนของตนได้

แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่นำที่ดินไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นตามสิทธินั้น เป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งห้าผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมไม่ทำให้จำนองเสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 และเลขที่ 6483 ถึงเลขที่ 6488 จากจำเลยที่ 1 ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ในฐานะส่วนตัวมาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชั้น และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 และเลขที่ 6483 ถึงเลขที่ 6488 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ไปดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 และเลขที่ 6483 ถึงเลขที่ 6488 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 (ที่ถูก วันที่ 7 และ 8 กรกฎาคม 2548) ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชั้น ผู้โอน กับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ผู้รับโอน หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา (ที่ถูก ไม่ต้องระบุข้อความนี้) ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 และเลขที่ 6483 ถึงเลขที่ 6488 ระหว่างจำเลยทั้งสอง เฉพาะส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งห้าจำนวน 5 ใน 6 ส่วน ของที่ดินแต่ละแปลง หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมของนายชั้น ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2522 นายชั้นมีทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 และเลขที่ 6483 ถึงเลขที่ 6488 ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายชั้น จากนั้นวันที่ 7 และ 8 กรกฎาคม 2548 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชั้น และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งหมดมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1 นำที่ดินทั้ง 7 แปลงข้างต้นไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของนายวัชรพงศ์และนางน้ำใจ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชั้นโอนที่ดินทรัพย์มรดกทั้ง 7 แปลง มาเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวเพียงผู้เดียว นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดีภายหลังจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาททั้ง 7 แปลง เป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินทั้ง 7 แปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของนายวัชระพงศ์และนางน้ำใจ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายชั้น เมื่อนายชั้นซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1620 และ 1629 ซึ่งทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาททั้งหมดของนายชั้นคือโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกในส่วนของตนได้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า โจทก์ทั้งห้ามีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่นำที่ดินไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นตามสิทธินั้น เป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งห้าผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร เพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของนายวัชรพงศ์และนางน้ำใจ จำนวน 1,800,000 บาท แล้ว และทางพิจารณาไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมไม่ทำให้จำนองเสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5818 และเลขที่ 6483 ถึงเลขที่ 6488 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชั้น ผู้โอน กับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ผู้รับโอน และให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งห้าคนละ 1 ใน 6 ส่วน ของที่ดินแต่ละแปลง และยกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.117/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาง ช. กับพวก จำเลย - นาย ห. กับพวก

ชื่อองค์คณะ สุนทร เฟื่องวิวัฒน์ เผด็จ ชมพานิชย์ เสถียร ศรีทองชัย

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดตาก - นางสาววรงค์รัตน์ กังวานวงศ์ไพศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 6 - นายวงการ ช่วยพนัง

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th