คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 491/2562
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 23
การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ส่วนศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาหรือไม่เป็นดุลพินิจที่จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป
การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามคำร้องของจำเลยมีพฤติการณ์พิเศษ แต่การที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในครั้งต่อ ๆ ไปอีกหรือไม่นั้น นอกจากจะต้องได้ความว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้วยังจะต้องมีเหตุอันสมควรอีกด้วย ซึ่งการพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ และหากนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไปจากศาลชั้นต้นจนถึงวันที่ครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 5 เป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ นับว่าเป็นระยะเวลาเพียงพอที่จำเลยจะเรียงอุทธรณ์ได้แล้วเสร็จ การที่จำเลยมาขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 6 อีก แสดงให้เห็นว่ามิได้ใส่ใจที่จะดำเนินการให้เสร็จลุล่วงไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยอีก
ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในการยกคำร้องข้อหนึ่งว่า "…ข้ออ้างตามคำร้องหาใช่พฤติการณ์พิเศษไม่…" แต่เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวประกอบข้อความอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว ก็มีความหมายเพียงว่า กรณีตามคำร้องไม่ใช่เหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยอีกต่อไปเท่านั้น
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 30243 ถึง 30248, 30234, 30235, 30271, 30275, 30277, 30278, 30313 ถึง 30315 และ 30320 อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตามแผนที่พิพาทแผ่นที่ 1 และให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ ตามแผนที่พิพาทแผ่นที่ 2 กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 61,126.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 12,205.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์ จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2560 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 30 วัน อ้างว่า ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้ ทั้งคดีมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายยุ่งยากสลับซับซ้อนและมีเอกสารจำนวนมาก ประกอบกับทนายจำเลยติดว่าความและเตรียมสำนวนคดีอื่นหลายคดีซึ่งนัดไว้ก่อนแล้วทำให้ไม่สามารถเรียงอุทธรณ์เพื่อยื่นต่อศาลได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน อ้างว่า ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้ ทำให้ไม่สามารถเรียงอุทธรณ์เพื่อยื่นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2560 ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2560 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน อ้างว่า จำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้ ประกอบกับทนายจำเลยติดว่าความและต้องเตรียมสำนวนคดีอื่นอีกหลายคดีซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 28 เมษายน 2560 ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2560 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 31 วัน โดยอ้างในทำนองเดียวกับการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยยื่นคำร้องภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยาย จึงอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งสุดท้าย ถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2560 ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 1 เดือน นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด โดยอ้างว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวพันกันหลายประเด็นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และมีบรรดาสรรพเอกสารในสำนวนคดีเป็นจำนวนมาก ประกอบกับทนายจำเลยมีกำหนดนัดสืบพยานติดต่อกันหลายนัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงอุทธรณ์เพื่อยื่นต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ครั้นวันที่ 27 มิถุนายน 2560 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 1 เดือน นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด โดยให้เหตุผลในทำนองเดียวกับการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 5 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้วถึง 5 ครั้ง รวมระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 6 เดือน อันมีระยะเวลามากพอที่จะเรียงอุทธรณ์ ข้ออ้างตามคำร้องหาใช่พฤติการณ์พิเศษไม่ จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2560 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 30 วัน อ้างว่า ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้ ทั้งคดีนี้มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายยุ่งยากสลับซับซ้อน มีเอกสารเป็นจำนวนมาก ประกอบกับทนายจำเลยติดว่าความและต้องเตรียมสำนวนคดีอื่นหลายคดีซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ทำให้ไม่สามารถเรียงอุทธรณ์เพื่อยื่นต่อศาลได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ตามขอ หลังจากนั้นจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อีก 5 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายจำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 1 เดือน นับแต่วันครบกำหนด โดยอ้างว่า จำเลยยังเรียงอุทธรณ์ไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวพันกันหลายประเด็นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา และมีเอกสารในสำนวนคดีเป็นจำนวนมาก ประกอบกับทนายจำเลยต้องเตรียมเอกสารประกอบการสืบพยานต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ทั้งต้องเตรียมเอกสารประกอบการเรียงอุทธรณ์ ฎีกาเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มาแล้วถึง 5 ครั้ง รวมระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 6 เดือน อันมีระยะเวลามากพอที่จะเรียงอุทธรณ์ ข้ออ้างตามคำร้องหาใช่พฤติการณ์พิเศษไม่ จึงให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เป็นการชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยจะต้องใช้ประกอบในการเรียงอุทธรณ์นั้น จำเลยเพิ่งได้รับจากศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เมื่อนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยเป็นเวลาเพียงสามเดือนเศษเท่านั้น ย่อมไม่เพียงพอที่จะจัดเรียงอุทธรณ์คดีนี้ซึ่งเป็นคดีที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน มีพยานบุคคลและพยานเอกสารที่จะต้องนำมาประกอบในการเรียงอุทธรณ์เป็นจำนวนมาก กรณีจึงเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย เห็นว่า การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ส่วนศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาตามคำร้องหรือไม่เป็นดุลพินิจที่จะต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2560 ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ฉบับลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2560 จนถึงฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 นั้น เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวมีพฤติการณ์พิเศษ แต่การที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในครั้งต่อ ๆ ไปอีกหรือไม่นั้น นอกจากจะต้องได้ความว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้วยังจะต้องมีเหตุอันสมควรอีกด้วย ซึ่งการพิจารณาว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์รวม 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนเศษ และหากนับตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไปจากศาลชั้นต้นจนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเป็นครั้งที่ 5 เป็นเวลานานถึง 3 เดือนเศษ นับว่าเป็นระยะเวลาเพียงพอที่จำเลยจะเรียงอุทธรณ์ได้แล้วเสร็จ การที่จำเลยมายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 6 อีก เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ใส่ใจที่จะดำเนินการให้เสร็จลุล่วงไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ตามพฤติการณ์จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยอีก สำหรับที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุในการยกคำร้องข้อหนึ่งว่า "…ข้ออ้างตามคำร้องหาใช่พฤติการณ์พิเศษไม่…" นั้น เมื่ออ่านข้อความดังกล่าวประกอบข้อความอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว ก็มีความหมายเพียงว่า กรณีตามคำร้องไม่ใช่เหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยอีกต่อไปเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.922/2561
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ชื่อคู่ความ โจทก์ - กระทรวงการคลัง จำเลย - วัดอนามัยเกษม (บางเทา)
ชื่อองค์คณะ วินัย เรืองศรี ภานุวัฒน์ ศุภะพันธุ์ ภาวนา สุคันธวณิช
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดภูเก็ต - นายสุกิจ นาคะ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายวินัย อินประสิทธิ์