สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 3, 95 (5) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 39 (6), 185, 195 วรรคสอง, 212, 225 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ม. 14, 31 วรรคหนึ่ง (ใหม่)

การที่จะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาให้บุคคลได้รับโทษทางอาญานั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ต้นปี 2558 และได้กระทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ และยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงระหว่างต้นปี 2558 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 การยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเมื่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 จำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับ และขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยภายหลังวันที่ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ด้วย คดีนี้จึงชอบที่ต้องนำ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย กรณีมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และหาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังการกระทำความผิดขึ้นไม่อาจมีผลย้อนหลังไปเอาผิดหรือลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

ความผิดฐานเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 16 (13) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 27 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท มีอายุความหนึ่งปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อต้นปี 2558 วันใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันตลอดมา แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 จึงเกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 55, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 26/4, 26/5, 31 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาตรา 12, 13 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 4, 5, 6, 8, 16 (1) (2) (4) (13), 24, 27 ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 389,079 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องเนื่องจากมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินของจำเลยซึ่งทำกิน และจำเลยอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ จำเลยจึงย่อมมีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญในการทำประโยชน์ในพื้นที่เดิมและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่สำรวจการครอบครองเพื่อกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน การคิดคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและยังไม่เป็นที่ยอมรับ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (1) (2) (4) (13), 24, 27 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน 10 วัน ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือนำสิ่งใด ๆ อันก่อให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (1) (2) (4) (13), 24, 27 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ป่าที่เกิดเหตุ เมื่อต้นปี 2558ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 66/2557 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 และจำเลยเป็นผู้บุกรุกใหม่ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งฉบับดังกล่าว ข้อฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225, 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และตามรายงานการประชุมแก้ไขปัญหากรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองทับพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตำบลห้วยแย้ ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอหนองบัวระเหว และสวนป่าโคกยาว บ้านโนนศิลา ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ที่ประชุมคณะทำงานมีมติให้ดำเนินการ 2 ประเด็น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คือ ผู้ที่อยู่ก่อนปี 2545 สามารถทำกินต่อไปได้ กรณี 47 ราย ที่อยู่ระหว่างปี 2545 ถึงปี 2557 เสนอให้คณะทำงานจัดเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเสนอคณะกรรมการ 4 ฝ่าย พิจารณา แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ ในที่ดินที่เกิดเหตุตั้งแต่ต้นปี 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังระยะเวลาที่ระบุไว้ในมติที่ประชุม กรณีของจำเลยจึงไม่เข้าเกณฑ์ตามมติที่ประชุมดังกล่าวที่จะผ่อนผันให้อยู่ต่อไปได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามติที่ประชุมนั้นจะมีผลเป็นการอนุญาตตามกฎหมายหรือไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องและต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยใหม่ โดยให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่จะนำกฎหมายฉบับใดมาใช้เพื่อพิจารณาพิพากษาให้บุคคลได้รับโทษทางอาญานั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คดีนี้จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ต้นปี 2558 และได้กระทำต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 การกระทำความผิดของจำเลยจึงมีขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ และยังคงเป็นความผิดอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยช่วงระหว่างต้นปี 2558 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 การยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง (เดิม) และเมื่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 จำเลยก็ยังคงยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุในเขตป่าสงวนแห่งชาติต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดขณะที่กฎหมายฉบับเดิมยังมีผลใช้บังคับและขณะที่กฎหมายฉบับใหม่ใช้บังคับแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยภายหลังวันที่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับแล้ว และตามคำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ด้วยคดีนี้จึงชอบที่ต้องนำพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 มาปรับใช้บังคับลงโทษแก่จำเลย กรณีมิใช่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด และหาใช่เป็นกรณีที่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ภายหลังการกระทำความผิดซึ่งไม่อาจมีผลย้อนหลังไปเอาผิดหรือลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นดังที่จำเลยฎีกาไม่ ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแก่จำเลยแต่อย่างใด จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สำหรับความผิดฐานเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (13) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 27 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท มีอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อต้นปี 2558 วันใดไม่ปรากฏชัดเวลากลางวัน ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันตลอดมา แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 จึงเกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิด ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 30,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 2 ครั้ง ตามกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เกี่ยวกับการอนุรักษ์ รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (13), 27 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา สว.(อ)163/2562

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ จำเลย - นาง ส.

ชื่อองค์คณะ นิพนธ์ ใจสำราญ ธงชัย เสนามนตรี ชูชีพ ปิณฑะสิริ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดชัยภูมิ - นายคมสันต์ ยวงเดชกล้า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 - นายพิจักษณ์ พูลผลอำนวย

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE