สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2525

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2525

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 582

การเลิกจ้างลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำมีกำหนดเวลาทดลองงาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ค่าจ้างเดือนละ 22,000บาท ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 11ตุลาคม 2524 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2524 เป็นเงิน 36,666.50 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้จัดหาให้โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อเลิกจ้าง และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งโจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำเพราะทำงานยังไม่เกิน 120 วัน การที่จำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์เข้าทำงานได้แจ้งให้โจทก์ทราบแต่แรกแล้วว่าให้ทดลองปฏิบัติงานมีกำหนด 3 เดือน โจทก์ไม่มีผลงานเป็นที่พอใจและอื่น ๆ อีก จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ โดยบอกกล่าวเลิกจ้างในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลมีคำสั่งอนุญาตและโจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า จำเลยที่ 2 จ้างโจทก์โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานในโครงการชลประทานแม่กลองฝั่งขวามีกำหนด 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2524 เป็นต้นไปจำเลยที่ 2 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2524 โดยไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2524 โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2524 ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 ไม่เคยบอกกล่าวให้โจทก์ทราบว่าจะมีการเลิกจ้างมาก่อนและต่างแถลงไม่สืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างทดลองปฏิบัติงาน จำเลยที่ 2มีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ในระยะใดระยะหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหาจำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรณีจำเลยที่ 2 จ้างโจทก์ทดลองปฏิบัติงานถือได้ว่าเป็นการจ้างที่จำเลยที่ 2 ให้โจทก์เข้าทำงานเพื่อทดสอบความรู้ความสามารถและผลงานก่อน หากผลการทดลองปฏิบัติงานเป็นที่พอใจจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็จะรับเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ถ้าผลงานไม่เป็นที่พอใจ จำเลยที่ 2 ก็จะเลิกจ้างโจทก์ เมื่อข้อตกลงแห่งสัญญาเป็นไปตามนัยนี้และปรากฏว่าในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ผลงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเลิกจ้างได้ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญาโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะถ้าจะให้จำเลยที่ 2 ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อเลิกจ้างโจทก์ จะมีผลให้จำเลยที่ 2 จำยอมให้โจทก์ปฏิบัติงานและรับค่าจ้างจนเลยกำหนด 3 เดือน ตามที่ตกลงกันไว้ จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 มาปรับกับกรณีนี้ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ก็ไม่มีสิทธิหรือเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยที่ 2

พิพากษายืน

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา nan

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นายสุธรรม เอี้ยวสกุล จำเลย - บริษัทเอ็มไพร์ เอ็ม.ที. จำกัด กับพวก

ชื่อองค์คณะ ไพศาล สว่างเนตร ขจร หะวานนท์ ดุสิต วราโห

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน nan

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE