สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2563

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352 วรรคหนึ่ง, 354 (เดิม)

จำเลยประกอบอาชีพทนายความ และเป็นลูกจ้างของโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ จำเลยมีอำนาจรับเงินและออกใบเสร็จรับเงินแทนโจทก์ได้ การที่ ส. ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย จำเลยในฐานะตัวแทนผู้รับเงินของโจทก์มาครอบครองไว้จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินนั้นคืนให้แก่โจทก์ ส. โอนเงินค่าเสียหายเข้าบัญชีจำเลย 11 ครั้ง แต่จำเลยไม่ได้คืนเงินที่ ส. โอนมาแต่ละครั้งให้แก่โจทก์ทันที โดยนำมาคืนโจทก์ทีเดียว 500,000 บาท ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ ส. โอนเงินครั้งแรก 5 เดือนเศษ และภายหลังโอนเงินครั้งสุดท้าย 1 เดือนเศษ จำเลยปิดบังไม่แจ้งเรื่องที่ ส. โอนเงินค่าเสียหายที่ชำระให้แก่โจทก์เข้ามาในบัญชีของจำเลย การที่จำเลยเอาเงินที่ ส. ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยโอนเข้าบัญชีของจำเลย 11 ครั้ง ไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยโจทก์ไม่ทราบและยินยอมให้ทำได้นั้น เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์เป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยนำเงิน 500,000 บาท มาคืนโจทก์ก็ไม่ลบล้างการกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดสำเร็จแล้วได้ การที่จำเลยซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนยักยอกเงินของโจทก์ไปในระหว่างเวลาที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์โดยให้มีอำนาจรับเงินและออกใบเสร็จรับเงินแทนโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 (เดิม) ประกอบมาตรา 352 วรรคหนึ่ง

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354 และ 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 (เดิม) ประกอบมาตรา 352 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 11 กรรม เป็นจำคุก 33 เดือน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยประกอบอาชีพทนายความ ระหว่างเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสฝ่ายคดี กลุ่มงานกฎหมาย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องนางสาวสุธาทิพย์ เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 317/2559 ของศาลชั้นต้น โจทก์ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวโดยมอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารชั้นไต่สวนมูลฟ้องแผ่นที่ 19 ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงข้อ 3 จำเลยมีอำนาจรับเงินและออกใบเสร็จรับเงินแทนโจทก์ได้ ระหว่างการพิจารณาคดีนางสาวสุธาทิพย์ให้การรับสารภาพและตกลงชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมเป็นเงิน 2,569,475.21 บาท โดยจะผ่อนชำระทุกเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ต่อมา นางสาวสุธาทิพย์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยเพื่อชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ 11 ครั้ง ดังนี้ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 โอน 2 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 โอน 2 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท วันที่ 27 มิถุนายน 2559 โอน 2 ครั้ง ครั้งแรก 50,000 บาท ครั้งที่สอง 20,000 บาท วันที่ 28 มิถุนายน 2559 โอน 30,000 บาท วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 โอน 2 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท และวันที่ 31 สิงหาคม 2559 โอน 2 ครั้ง ครั้งละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารชั้นไต่สวนมูลฟ้องแผ่นที่ 19 ข้อ 3 จำเลยมีอำนาจรับเงินและออกใบเสร็จรับเงินแทนโจทก์ได้ การที่นางสาวสุธาทิพย์ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย จำเลยในฐานะตัวแทนผู้รับเงินของโจทก์มาครอบครองไว้จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินนั้นคืนให้แก่โจทก์ นางสาวสุธาทิพย์โอนเงินค่าเสียหายเข้าบัญชีจำเลย 11 ครั้ง ระหว่างวันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท แต่จำเลยไม่ได้คืนเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนมาแต่ละครั้งให้แก่โจทก์ทันที โดยนำมาคืนโจทก์ทีเดียว 500,000 บาท เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเงินครั้งแรก 5 เดือนเศษ และภายหลังโอนเงินครั้งสุดท้าย 1 เดือนเศษ ปรากฏว่า หลังจากที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเงินเข้าบัญชีครั้งแรกแล้วมีรายการเงินอื่นที่ไม่ใช่เงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนมาฝากเข้าบัญชีด้วยและมีรายการถอนเงินออกจากบัญชีและใช้เงินในบัญชีชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเงินเข้ามาครั้งที่ 11 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หลังจากนั้นมียอดเงินคงเหลือในบัญชีวันดังกล่าว 299,018.23 บาท และวันที่ 21 กันยายน 2559 ที่จำเลยลาออกจากบริษัทโจทก์มียอดเงินคงเหลือในบัญชี 65,391.44 บาท ซึ่งน้อยกว่าจำนวนเงิน 500,000 บาท ที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเข้ามารวม 11 ครั้ง เป็นจำนวนมาก บ่งชี้ว่าจำเลยได้นำเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนมากับเงินอื่น ๆ ในบัญชีมาใช้จ่ายปะปนกันโดยไม่มีการแยกกันเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนมาไว้ต่างหากแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่า จำเลยเจตนาเอาเงินในบัญชีทั้งหมดซึ่งรวมถึงเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเข้ามาแต่ละครั้งตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่ 11 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของจำเลย ที่จำเลยนำสืบและฎีกาทำนองว่า จำเลยไม่ได้เอาเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเข้าบัญชีของจำเลยไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยอ้างว่าจำเลยได้ทยอยถอนเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนมาเก็บในกล่องเก็บเงินแล้วใส่ไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยซึ่งมีกุญแจล็อคจนครบ 500,000 บาท โดยจำเลยมีนายทศทีปต์ ที่เคยเป็นพนักงานของโจทก์โดยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยและมีโต๊ะทำงานอยู่ติดกันเบิกความว่า ตนเคยเห็นกล่องเก็บเงินของจำเลยอยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลย และจำเลยได้แจ้งให้ตนทราบว่าในกล่องมีเงินเก็บอยู่แต่ตนไม่ทราบจำนวนแน่นอนนั้น เห็นว่า จำเลยไม่มีพยานที่รู้เห็นว่าจำเลยได้ถอนเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเข้าบัญชีของจำเลยมาเก็บไว้ในกล่องเก็บเงินที่โต๊ะทำงานของจำเลย แม้นายทศทีปต์เบิกความว่า เคยเห็นกล่องเก็บเงินดังกล่าวแต่ก็ไม่ได้เบิกความว่า ตนรู้เห็นในเรื่องที่จำเลยถอนเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเข้าบัญชีของจำเลยมาเก็บแต่อย่างใด จำเลยจึงคงมีแต่คำกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟัง ส่วนที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่ไม่ส่งมอบเงินที่นางสาวสุธาทิพย์โอนมาเข้าบัญชีของจำเลยให้แก่โจทก์ทันทีเนื่องจากนางสาวสุธาทิพย์ขอลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระรายเดือนลง จำเลยกับนางสาวสุธาทิพย์จึงตกลงกันให้มีการผ่อนชำระจนครบ 500,000 บาท ก่อนเพื่อแสดงว่านางสาวสุธาทิพย์มีความตั้งใจชำระเงินจริง แล้วจึงค่อยเสนอคณะกรรมการของโจทก์พิจารณาลดจำนวนเงินผ่อนชำระให้นางสาวสุธาทิพย์นั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวแม้มีจริงก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิเอาเงินค่าเสียหายที่นางสาวสุธาทิพย์ชำระให้แก่โจทก์โดยโอนเข้าบัญชีของจำเลยไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนได้ และการที่นางสาวสุธาทิพย์ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยและนำเงินดังกล่าวไปใช้นั้น โจทก์นำสืบว่าไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อน โจทก์เพิ่งมาทราบในวันที่ 23 กันยายน 2559 หลังจากที่จำเลยลาออกจากบริษัทโจทก์แล้วโดยนางสาวอารยาซึ่งมาทำหน้าที่เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากโจทก์แทนจำเลยไปศาลในคดีอาญาที่นางสาวสุธาทิพย์เป็นจำเลยซึ่งศาลนัดพร้อมฟังผลการชำระเงินค่าเสียหายแล้วนางสาวสุธาทิพย์แจ้งให้ทราบว่าได้ชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบว่า จำเลยได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบเมื่อใด ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้ปกปิดหรือมีเจตนาปิดบังข้อเท็จจริงที่นางสาวสุธาทิพย์ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าระหว่างศาลนั่งพิจารณาคดีที่นางสาวสุธาทิพย์ถูกฟ้องจำเลยได้แถลงต่อศาลถึงจำนวนเงินที่นางสาวสุธาทิพย์ได้ชำระมาแล้วตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 และวันที่ 6 กันยายน 2559 และก่อนวันที่ 23 กันยายน 2559 ที่ศาลนัดพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยยังได้แจ้งนางสาวอารยาทางแอปพลิเคชันไลน์ให้ทราบถึงจำนวนเงินที่นางสาวสุธาทิพย์ผ่อนชำระมาแล้วตามภาพถ่ายบทสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์นั้น เห็นว่า ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 และวันที่ 6 กันยายน 2559 ปรากฏเพียงว่าจำเลยและทนายของโจทก์แถลงต่อศาลว่านางสาวสุธาทิพย์ได้ผ่อนชำระเงินคืนแก่โจทก์แล้วเพียงใดเท่านั้น และตามภาพถ่ายบทสนทนาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ก็ปรากฏเพียงว่า จำเลยบอกต่อนางสาวอารยาว่านางสาวสุธาทิพย์ได้ผ่อนชำระเงินคืนแก่โจทก์แล้วเพียงใดเท่านั้นเช่นเดียวกัน โดยไม่ปรากฏมีการแถลงต่อศาลและบอกต่อนางสาวอารยาว่านางสาวสุธาทิพย์ผ่อนชำระโดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยปิดบังไม่แจ้งเรื่องที่นางสาวสุธาทิพย์โอนเงินค่าเสียหายที่ชำระให้แก่โจทก์เข้ามาในบัญชีของจำเลย การที่จำเลยเอาเงินที่นางสาวสุธาทิพย์ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยโอนเข้าบัญชีของจำเลย 11 ครั้ง ไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยโจทก์ไม่ทราบและยินยอมให้ทำได้นั้น เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์เป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยนำเงิน 500,000 บาท มาคืนโจทก์ในวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ก็ไม่ลบล้างการกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดสำเร็จแล้วได้ การที่จำเลยซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนยักยอกเงินของโจทก์ไปในระหว่างเวลาที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์โดยให้มีอำนาจรับเงินและออกใบเสร็จรับเงินแทนโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 (เดิม) ประกอบมาตรา 352 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้ออื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีน้ำหนักทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่การที่จำเลยนำเงิน 500,000 บาท มาคืนให้โจทก์ในวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ภายหลังวันที่โจทก์ทราบการกระทำความผิดของจำเลยในวันที่ 23 กันยายน 2559 อันเป็นเวลาไม่นาน แม้จะอ้างว่ามิได้มีเจตนาเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต แต่พอถือได้ว่าจำเลยได้บรรเทาความเสียหายของโจทก์โดยคืนเงินที่ยักยอกไปทั้งหมดแก่โจทก์แล้ว และพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิดไม่ได้ก่อความเสียหายต่อโจทก์และนางสาวสุธาทิพย์มากนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง โดยปรับกระทงละ 5,000 บาท รวม 11 กระทง ปรับ 55,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา อ.960/2563

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - บริษัท อ. จำเลย - นาย ร.

ชื่อองค์คณะ โสภณ บางยี่ขัน แก้ว เวศอุไร บุญไทย อิศราประทีปรัตน์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลอาญากรุงเทพใต้ - นายสมชาย จันทร์นาค ศาลอุทธรณ์ - นางสุนันทา ผดุงเกียรติวงศ์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th
ติดต่อเราทาง LINE