สารบัญ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4954/2566

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4954/2566

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1312 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 142

เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทโดยสุจริต และศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวไว้ ทั้งการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง จะต้องได้ความว่าเจ้าของโรงเรือนปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของตนเองแต่มีบางส่วนของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ส่วนที่รุกล้ำต้องเป็นส่วนน้อยและส่วนที่อยู่ในที่ดินของตนนั้นต้องเป็นส่วนใหญ่ มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำมิได้ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนต่าง ๆ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 โดยอาศัยสิทธิของ บ. ทั้งหมด และไม่มีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของจำเลยเลย กรณีจึงไม่อาจปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1312 ได้ ดังนั้นการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่หยิบยกประเด็นเรื่องความสุจริตตามบทมาตราดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

เนื้อหาฉบับเต็ม

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 และส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสองในสภาพใช้การได้ดี โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินดังกล่าว 300,000 บาท และชำระค่าเสียหายเดือนละ 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 80 ถึง 100 ตารางวา ในส่วนที่จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ และให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากโจทก์ทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 4478 ภายในกรอบสีเขียว เนื้อที่ 1 งาน 83 810 ตารางวา พร้อมส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อยและใช้ประโยชน์ได้ดีตามปกติด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสอง 19,000 บาท และใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและส่งมอบที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ฟ้องแย้งของจำเลยให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นบุตรของนางบุญชื่น กับนายยู่เจียหรืออยู่เจีย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 13 คน เสียชีวิตแล้ว 3 คน จำเลยเป็นบุตรคนแรก โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรคนที่ 11 โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรคนที่ 10 นางบุญชื่นเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 4478 เนื้อไร่ 2 ไร่ 49 ตารางวา จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7653 และ 7654 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 ของนางบุญชื่นทางด้านทิศตะวันตก ก่อนปี 2536 นางบุญชื่นได้อนุญาตให้จำเลยเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 ภายในกรอบสีเขียว เนื้อที่ 1 งาน 83 810 ตารางวา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 นางบุญชื่นได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 ให้แก่บุตร 9 คน ไม่รวมจำเลย โดยมีข้อความในพินัยกรรมระบุไว้ตอนหนึ่งมีใจความว่า ถ้านางบุญชื่นถึงแก่ความตาย ให้จำเลยซึ่งปลูกสร้างบ้านพักคนงาน ทางเดิน เสาไฟฟ้า โรงเรือนเก็บของ โรงรถ และสถานที่ทำงานในที่ดินพิพาทรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้เรียบร้อย เพื่อให้ผู้ได้รับส่วนแบ่งตามพินัยกรรมได้ทำประโยชน์ต่อไป ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2561 นางบุญชื่นถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางบุญชื่นตามคำสั่งของศาลชั้นต้น หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 โจทก์ทั้งสองรับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 4478 มาเป็นชื่อของโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางบุญชื่น จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางบุญชื่น และระหว่างที่นางบุญชื่นมีชีวิตอยู่จำเลยไม่เคยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังนางบุญชื่นว่าไม่เจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนนางบุญชื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทโดยได้รับความยินยอมจากนางบุญชื่น เจ้าของที่ดิน เป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ถือเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมิได้ยื่นคำให้การให้การต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทโดยสุจริต ประกอบกับศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของนางบุญชื่นโดยสุจริตหรือไม่ นอกจากนี้ การปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง จะต้องได้ความว่าเจ้าของโรงเรือนสร้างโรงเรือนในที่ดินของตนเอง แต่มีบางส่วนของโรงเรือนนั้นรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น และที่ดินส่วนที่รุกล้ำนั้นจะต้องเป็นส่วนน้อยและที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของตน มิฉะนั้นจะเรียกว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปปลูกสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 4478 โดยอาศัยสิทธิของนางบุญชื่นทั้งโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไม่มีส่วนไหนอยู่ในที่ดินของจำเลยเลย กรณีจึงไม่อาจปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ได้ ดังนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นดังกล่าวให้ต้องวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกประเด็นเรื่องการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาเพราะมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

หมายเลขคดีดำศาลฎีกา พ.489/2566

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ชื่อคู่ความ โจทก์ - นาย ท. ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาง บ. กับพวก จำเลย - นาย ส.

ชื่อองค์คณะ กงจักร โพธิ์พร้อม สุพัฒน์ พงษ์ทัดศิริกุล เริงศักดิ์ วิริยะชัยวงศ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ตัดสิน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ - นางปานพิมพ์ มงคลชลสวัสดิ์ เข็มทอง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 - นายชาตรี หาญไพโรจน์

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลเหล่านี้อาจไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุด รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันหรือแม่นยำกว่า เราไม่รับประกันหรือรับประกันเกี่ยวกับความถูกต้อง ความสมบูรณ์ หรือความเพียงพอของข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้หรือข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของรัฐ โปรดตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ : www.krisdika.go.th, deka.supremecourt.or.th